ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ร่วมวงคลับเฮ้าส์ โอดรัฐไร้ความช่วยเหลือ ไม่รู้ต้องถูกปิดอีกกี่ที

ผู้ประกอบการ ร่วมวงคลับเฮ้าส์ โอดรัฐสั่งปิดสถานประกอบการแต่ไม่มีมาตรการเยียวยา หวัง รบ.แก้ปัญหาได้ “ศิริกัญญา” แจงเงินกู้ผู้ประกอบการถูกโยกเป็นเงินเยียวยา เผยจ่อระดมทุน ส.ส.ตรวจเชิงรุก

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ฝ่ายนโยบายประธาน ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. พรรค ก.ก. ได้ร่วมพูดคุยในคลับเฮ้าส์ ห้อง ผู้ประกอบการตัวเล็ก ภายใต้หัวข้อ มีทางออกที่ดีกว่าปิดสถานประกอบการไหม โดยมีการพูดแลกเปลี่ยนกันถึงแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการ จากมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)

  • รับมาตรการรัฐเยียวยาระลอก 3 เป็นเรื่องเดิมๆ ไม่ถึงคนตัวเล็กตัวน้อย  

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการต้องดูไปเป็นกรณีๆ ไป ตามที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกมาล่าสุด เรื่องหนี้ยังน้อย ยังมีเพียงแค่การพูดถึงเรื่องมาตรการเดิมๆ เช่นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ซอฟต์โลนที่ออกมาก่อนจะมีการระบาดหนักในระลอกที่ 3 และไม่ได้ครอบคลุมถึงคนตัวเล็กตัวน้อยเท่าไร การพักหนี้ก็มีเฉพาะสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เช่น ออมสิน อาคารสงเคราะห์ ธกส. โดยในวันพุธที่ 12 พฤษภาคม ทาง กมธ.จะมีการพิจารณาในเรื่องของการพักหนี้ไฟแนนซ์ เช่าซื้อ และจะมีการเชิญตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ชมรมธุรกิจเช่าซื้อ ลิสซิ่งต่างๆ เข้ามาพูดคุยกัน เพราะว่าส่วนหนึ่งต้องพึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะออกมาตรการอื่นๆ และรัฐบาลจะยื่นไปถึงธนาคารของรัฐเท่านั้น แต่ไฟแนนซ์จะก่ำกึ่งซึ่งอยู่ในการกำกับของ สคบ. ในสถานการณ์เช่นนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะต้องช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับบริษัทไฟแนนซ์ เพื่อชะลอการยึดรถในช่วงเวลานี้ และอาจจะมีการยืดเวลาพักหนี้ออกไปก่อน เนื่องจากแม้ว่าจะมีการพักหนี้แต่ลูกหนี้บางคนก็ไปต่อไม่ไหว

  • ผู้ประกอบการ ร่วมวงรับมืดแปดด้าน เจอคำสั่งปิด ซึมเศร้าไร้ทางออก  

ในช่วงหนึ่งของการสนทนา มีผู้ประกอบการที่อยู่ในสถานที่ท่องเที่ยว และถูกปิดพร้อมร้านนวด กล่าวว่า ตนเข้าใจ ทุกคนที่โดนปิด ตอนนี้คำถามหนึ่งที่อยู่ในใจคือ ตนได้เข้าไปพูดคุยกับทุกห้องที่เกี่ยวกับธุรกิจ SMEs ซึ่งตนไม่เคยได้รับการเยียวยาอะไรเลย และตนต้องอุ้มพนักงานอยู่อีก 16 คน โดยธุรกิจของตนเป็นร้านเพ้นท์ ที่ถูกบอกว่าอยู่ในประเภทเดียวกับร้านนวดที่ต้องมีการสัมผัสตัว โดยการปิดที่ไม่ชัดเจนและไม่ได้รับการเยียวยาเช่นนี้ ทำให้มีผลกระทบด้านต่างๆ เช่น เรื่องค่าเช่า ซึ่งตนมีร้านที่อยู่ในห้างด้วย แม้ว่าร้านตนจะถูกปิดแต่ห้างไม่ได้ถูกสั่งปิด ผู้ประกอบการที่เป็นทุนใหญ่ไม่ได้ถูกปิดด้วย ซึ่งร้านของตนก็ถูกปิดมาหลายครั้งแต่ผู้ประกอบการที่เป็นทุนใหญ่ก็ไม่ได้ลดค่าเช่าให้

“จากการฟังในห้องของผู้ประกอบการต่างๆ กำลังจะทำให้ดิฉันเป็นซึมเศร้า เพราะดิฉันไม่เห็นทางออกเลย และสุดท้ายคำที่หลายคนพูดกันว่าต้องปิดอีกกี่ครั้ง เป็นคำถามหลักเลยที่ดิฉันถามในใจตนเองเหมือนกันว่า หากได้เปิดปลายเดือนจะถูกปิดอีกหรือไม่ และต้องทำอย่างไร ต้องอดทนขนาดไหน เงินทุนที่มีอยู่ควรจะทำอย่างไร หรือควรจะปิดตั้งแต่ตอนนี้เลยเพื่อรักษาเงินสดไว้เพื่อรักษาชีวิตตนเอง หรือต้องอดทนที่จะไปต่อเพราะเดี๋ยวก็จะรอดแล้ว ซึ่งตอนที่ถูกปิดรอบที่แล้ว มีความหวัง แม้จะไม่ได้เชื่อมั่นในรัฐบาล แต่รู้สึกว่ารัฐบาลมีความคิดและรู้ว่าปัญหาคืออะไร”

Advertisement

ผู้ประกอบการกล่าวต่อว่า อย่างน้อยด้วยคุณวุฒิ วัยวุฒิที่มี รัฐบาลน่าจะรู้ว่าควรจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ตนคิดว่าเดี๋ยวรัฐบาลก็น่าจะแก้ปัญหาได้ เพราะที่เขาชอบพูดไม่ว่าจะเป็นวัคซีน ตอนนั้นยังพอมีความหวังบ้างแต่พอเดินทางมาถึงวันนี้ กลับรู้เลยว่ามันไม่มีความหวังเหลืออยู่เลย แม้กระทั่งวัคซีนที่จะให้คนในประเทศก็ยังไม่มี และตนกล้าพูดว่า วัคซีนก็ยังเป็นทางออกของผู้ประกอบการท่องเที่ยวอยู่ดี และยังเป็นความหวังลึกๆ ว่า ถ้ามีวัคซีนให้คนในประเทศพอแล้ว มีเหลือที่จะให้คนที่เดินทางมาเที่ยวให้รู้ว่าปลอดภัย ประเทศไทยมีทรัพยากรเยอะมากที่จะขายได้ และตนมองว่านี่คือทางออกของผู้ประกอบการที่คิดว่ารัฐบาลจะมองเห็นในสักวัน

  • จี้รัฐฟังเสียงสะท้อน-อัดงบรวมศูนย์ งง! กู้เงินมาไม่ใช้ แต่เปิดรับบริจาคให้สธ.  

เมื่อถามว่า ในฐานะที่เป็นภาคประชาชนมีอะไรที่สามารถจะทำได้นอกจากกดดันรัฐบาลบ้างหรือไม่ เพราะรู้สึกว่าเสียงที่ประชาชนพูดส่งไปไม่ถึงไหน และรัฐบาลไม่ได้ฟังความเดือดร้อนของประชาชนจริงๆ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ในส่วนของงบประมาณที่กู้มา 1 ล้านล้านบาท ประมาณ 9 แสนล้านบาทจะเป็นในส่วนของสินเชื่อสำหรับธนาคารพาณิชย์หรือผู้ประกอบการที่จะออกหุ้นกู้ ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ได้กู้มา ส่วนที่กู้มา 1 ล้านล้านบาท ใช้ไปจนครบแล้ว และกำลังจะไปกินของส่วนอื่นคือแผนงานเยียวยา หากรวมกับรอบล่าสุดน่าจะอยู่ที่ประมาณ 6-7 แสนล้านบาท และในส่วนที่ใช้น้อยแล้วเป็นปัญหา คือแผนงานของสาธารณสุขที่จะต้องจัดเงินลงไปช่วยเพิ่มศักยภาพของบุคลากรในโรงพยาบาลต่างๆ ได้มีการขอไปประมาณ 1 หมื่นล้านบาท แต่ไม่ยอมเบิกจ่ายแม้แต่บาทเดียว ทุกวันนี้ที่มีหมอและพยาบาลออกมาขอบริจาค ไม่ว่าจะเป็นชุด PPE หน้ากากอนามัยหรือว่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่นเครื่องให้ออกซิเจน

“ในส่วนนี้ต้องตั้งคำถามกันแล้วว่า ทำไมเราถึงต้องบริจาคในเมื่อเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทก็ถูกจัดแต่งให้เป็นงบประมาณที่จะช่วยเหลือด้านสาธารณสุขประมาณ 4 หมื่น 5 พันล้านบาท และมีการอนุมัติไปได้แค่ 2 หมื่นล้านบาท และที่มีการอนุมัติไปแล้วก็ไม่ยอมเบิกจ่าย ทุกอย่างยังคงค้างอยู่ที่ส่วนกลาง ส่วนที่แย่มากๆ คือแผนงานฟื้นฟูที่เคยพูดกันว่า จะมีการใช้งบประมาณ 4 แสนล้านบาท แต่มีการเบิกจ่าย 209 โครงการจาก 280 โครงการที่เบิกจ่ายต่ำกว่า 10% ทั้งๆ ที่ดำเนินโครงการมาแล้ว 6-8 เดือน

“เป็นความน่าเศร้าที่มีช่วงหนึ่งที่เศรษฐกิจเหมือนจะผงกหัวขึ้นมาแล้วในช่วงปลายปีที่แล้ว และมีโอกาสที่จะให้ภาคธุรกิจกลับมาแข็งแรงขึ้นอีกครั้ง ถ้ามีแผนฟื้นฟูดีแต่เรากลับไม่ยอมใช้โอกาสนั้นอย่างเต็มที่ แต่กลับทำให้สูญเสียโอกาสนั้นไป พอมาถึงวันนี้เงินส่วนนั้นก็ต้องโยกมาช่วยในการเยียวยาไปแล้ว แต่แผนงานเยียวยาบอกว่า จะเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการ แต่เกือบ 7 แสนล้านบาทที่ผ่านไป มีแค่การเยียวยาประชาชนอย่างเดียว ผู้ประกอบการยังไม่เคยได้รับการเยียวยาเลย”

  • อัดรัฐบาล พูดแล้วพูดอีก แต่ไม่ฟังส.ส.ฝ่ายค้าน เปิดช่องเอกชนร้องเรียน

“ถามว่า ส.ส.ฝ่ายค้านทำอะไรได้บ้าง หากผู้ประกอบการกำลังจะเป็นซึมเศร้า ดิฉันเองก็กำลังจะเป็นซึมเศร้าแล้วเช่นเดียวกัน เพราะการพูดรอบนี้รวมถึงการส่งหนังสือทุกอย่าง เป็นรอบที่ 3 แล้ว และการที่ต้องทำเรื่องเดิมซ้ำๆ ก็ทำให้เครียด และท้อถอยเหมือนกัน แต่ก็รู้สึกว่าเราจะท้อถอยไม่ได้ หากประชาชนส่วนหนึ่งยังต้องออกมาทำมาหากินอยู่ เพราะเขาไม่มีกำลังที่จะกักตัวอยู่ได้ นี่จึงทำให้ไม่สามารถอยู่เฉยๆ ได้ จึงได้ลงไปพบปะพูดคุยกับประชาชน ซึ่งเห็นแล้วว่า การที่กดดันรัฐบาลอย่างเดียวไม่พอ หากมีเรื่องที่ต้องเจรจาระหว่างเอกชนกับเอกชน ก็ให้ส่งเรื่องร้องเรียนมาที่ กมธ. และทาง กมธ.จะเป็นตัวกลางในการเจรจาให้” น.ส.ศิริกัญญากล่าว

  • อัดรัฐสั่งปิด 14 วันสูญเปล่า เผย ส.ส.เตรียมระดมทุน ตรวจเชิงรุกให้ประชาชน 

เมื่อถามว่า ตัวเลขของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่มีทางเป็นศูนย์ไปได้ บางคนก็ไม่มีอาการ จึงมีข้อสงสัยว่าเราจะนำเงินที่ไหนมาตรวจ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า “ตอนนี้มีการคุยกันในกลุ่มของ ส.ส.อยู่เลยว่า จะระดมทุนตรวจเชิงรุกกันแล้ว เนื่องจากรู้สึกว่า การที่มีมาตรการรัฐสั่งปิดมา 14 วัน ถือเป็นการสูญเปล่ามาก เพราะว่าการตรววจเชิงรุกนี่น้อยมาก แทนที่จะใช้โอกาสนี้ระดมคนลงไปตรวจ และคัดแยกคนที่ป่วยออก นอกจากนี้ยังไม่ดีการเสนอเรื่อง Home Quarantine เช่น การติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการควรจะมีมาตรการให้อยู่ที่บ้านได้ หากบ้านมีพื้นที่เพียงพอเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยที่จะไปอยู่โรงพยาบาล แต่นายกฯ ก็ไม่ยอมใช้ เพราะไม่ไว้ใจประชาชนที่จะสามารถกักตัวเองอยู่ที่บ้านได้ แต่สุดท้ายเมื่อเตียงไม่พอก็ต้องมีผู้ที่กักตัวอยู่ที่บ้าน ซึ่งได้มีรายงานจากทางผู้สมัคร สก.มาว่า มีผู้ที่อยู่แฟลต ซึ่งพื้นที่ในการแยกตัวไม่เอื้ออำนวย และพบว่า แม่ติด เหลือพ่อกับลูกที่ยังไม่ติด แม่ก็ต้องไปนอนที่ระเบียงเพื่อที่จะไม่ให้ไปติดลูกกับพ่อได้ หากมีการขยายเวลาต่อออกไปโดยไม่มีการเพิ่มการตรวจก็จะยิ่งทำให้พังไปหมดทั้งทางด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image