สงขลา โควิดพุ่ง ติดเชื้อใหม่ 15 ราย ตายอีก 1 อธิการบดี ม.อ.หาดใหญ่ ห่วง บ้าน แหล่งแพร่เชื้อใหม่

วันที่ 9 พฤษภาคม นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการ จ.สงขลา เปิดเผยว่า จ.สงขลา พบผู้ป่วยโควิดรายใหม่ 15 ราย ตรวจสอบไทม์ไลน์มาจากสถานบันเทิง 3 ราย ผู้สัมผัสผู้ป่วย 9 ราย และเดินทางจากพื้นที่เสี่ยง 3 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ผู้หญิงไทยอายุ 99 ปี ชาว อ.หาดใหญ่ ประวัติเป็นโรคเบาหวาน และโรคหัวใจโต รวมผู้ป่วยสะสม 835 คน นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 334 คน รักษาหายกลับบ้านแล้ว 498 คน เสียชีวิตรวม 3 คน

ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์แพร่ระบาดรอบใหม่ระลอกใหม่ ไม่เพียงผู้ป่วยเพิ่มขึ้น สิ่งที่ตามมาในแต่ละวันคือขยะติดเชื้อโควิดจำนวนมาก จากที่ทุกจังหวัดให้สวมใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าทุกครั้งเมื่อออกนอกเคหสถาน อยู่ในที่สาธารณะ เพราะผิดกฎหมายถ้าไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าออกจากบ้าน

Advertisement

“ความต้องการใช้หน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้น แม้แต่ในบ้าน รัฐบาลก็มีคำแนะนำให้สวม เพราะไม่มีใครทราบว่าตัวเองติดเชื้อหรือไม่ เพราะไม่แสดงอาการ จึงต้องสวมเพื่อความปลอดภัยของครอบครัว เด็ก และผู้สูงอายุ ทำให้การใช้หน้ากากอนามัยสูงขึ้นกว่าเดิม และมีขยะติดเชื้อจากถุงมือ กระดาษชำระ กล่อง บรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร ขวด แม้กระทั่งชุด PPE อุปกรณ์การแพทย์ ขยะติดเชื้อทั้งหมดนั้นไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้” ผศ.ดร.นิวัติ กล่าว

ผศ.ดร.นิวัติกล่าวว่า การจัดเก็บนำไปกำจัดด้วยวิธีการเผาในเตาเผามูลฝอยติดเชื้อที่ศูนย์กำจัดติดเชื้อ ม.อ. มีการเตรียมพร้อมเพื่อจัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อโควิดที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย จากสถานที่กักตัว โรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาล ม.อ. โรงพยาบาลศูนย์ และขยะติดเชื้อในชุมชน ที่ประเมินว่าตัวเลขคนติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นทุกวัน รัฐจึงเตรียมแผนจัดจ้างเก็บขนขยะติดเชื้อโควิดเพิ่มเติม เพื่อรวบรวมและแยกไปกำจัดด้วยวิธีเผาไหม้ เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องกังวลเรื่องมลพิษ เพราะเทคโนโลยีได้มาตรฐานปลอดภัย ช่วยลดขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“บ้านจะกลายเป็นแหล่งผลิตขยะติดเชื้อ ทิ้งขยะติดเชื้อใส่ถุงกองไว้หน้าบ้าน ซึ่งมีความเสี่ยงแพร่กระจายเชื้อ ถ้ากลุ่มซาเล้งเปิดถุงคัดแยกขยะ สัมผัสกับเชื้อโรค กลายเป็นผู้แพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัวแล้ว ยังมีสุนัขหรือแมวคุ้ยเขี่ยจนถุงขยะ อาจทำให้เชื้อแพร่กระจายในวงกว้างได้ ขยะติดเชื้อโควิดยังสร้างความกังวลใจให้คนในชุมชนที่อาศัยโดยรอบ เจ้าหน้าที่จึงควรให้คำแนะนำให้วางขยะติดเชื้อไว้ในบริเวณบ้าน จัดเก็บอย่างถูกหลัก นำไปทำลายตามกระบวนการกำจัดขยะติดเชื้อ ซึ่งผู้ปฏิบัติงานเก็บขนมูลฝอยจะสวมชุดป้องกันติดเชื้อเพื่อความปลอดภัย ความถี่การเข้าจัดเก็บตามบ้านผู้ป่วย 50 สนง.เขตจะพิจารณาจากปริมาณขยะและสมาชิกในบ้านของผู้ป่วยโควิด” ผศ.ดร.นิวัติกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image