‘สพฐ.-สอศ.’ เตรียมสอน 5 รูปแบบ รับมือเปิดเทอม 1 มิ.ย.

 

‘สพฐ.-สอศ.’ เตรียมสอน 5 รูปแบบ รับมือเปิดเทอม 1 มิ.ย.

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวตอนหนึ่งในการแถลงข่าว ศธ. เตรียมความพร้อมรับมือการเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 วันที่ 1 มิถุนายน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ว่า สพฐ. วางแผนการจัดการเรียนการสอน 5 รูปแบบ คือ On-site เรียนที่โรงเรียน โดยมีมาตรการเฝ้าระวังตามประกาศของ ศบค., On-air เรียนผ่าน DLTV, On-demand เรียนผ่านแอพพลิเคชันต่างๆ,  On-line เรียนผ่านอินเตอร์เน็ต, On-hand เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร ให้สถานศึกษาไปปรับใช้ตามบริบทของตน ทั้งนี้สถานศึกษาสามารถผสมผสานรูปแบบต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันได้ โดยต้องนำความปลอดภัยของนักเรียนและครูเป็นหลัก และต้องคำนึกถึงความพร้อมของผู้เรียน อุปกรณ์การเรียน และต้องคำนึกถึงความสมัครใจของนักเรียน และผู้ปกครองด้วยว่าต้องการเรียนรูปแบบไหน ในส่วนของมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดภายในโรงเรียน สพฐ.เน้นย้ำให้ สพท.และสถานศึกษา ปฏิยัติตามมาตรการของ ศบค.อย่างเคร่งครัด ซึ่งจากพบสำรวจพบว่า ซึ่งโรงเรียนทุกแห่งต้องทำการประเมินความพร้อม โดยจัดสภาพแวดล้อม อาคารสถานที่ ห้องเรียน และพื้นที่ใช้สอยร่วมกัน ให้มีมาตรการเว้นระยะห่าง อีกทั้งให้มีการกำกับ ติดตาม ประเมินผล และรายงานสถานการณ์แบบเรียลไทม์ด้วย

“ส่วนการรับนักเรียน ม.1 และม.4 สพฐ.ได้ปรับปฏิทินการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2564 ฉบับใหม่กรณีเปิดเทอม 1 มิถุนายน โดยเลื่อนจากปฏิทินจากเดิม 2 สัปดาห์ ดังนี้ ม.1 เลื่อนวันสอบเป็นวันที่ 22 พฤษภาคม คัดเลือกความสามารถพิเศษวันที่ 19 พฤษภาคม จับฉลากจากวันที่ 24 พฤษภาคม ประกาศผลภายในวันที่ 24 พฤษภาคม และมอบตัววันที่ 29 พฤษภาคม ส่วนชั้นม.4 เลื่อนวันสอบเป็นวันที่ 23 พฤษภาคม คัดเลือกความสามารถพิเศษ วันที่ 19 พฤษภาคม ประกาศผลภายในวันที่ 25 พฤษภาคม รายงานและมอบตัวพร้อมกัน วันที่ 30 พฤษภาคม ทั้งนี้เด็กที่ยังไม่มีที่เรียน สามารถยื่นความจำนงได้ในวันที่ 25-27 พฤษภาคม ประกาศผลวันที่ 29 พฤษภาคม และมอบตัววันที่ 30 พฤษภาคม โดยให้ สพท.เป็นศูนย์รับนักเรียนสำหรับเด็กที่พลาดสอบและยังไม่มีที่เรียน โดยสพท.จะจัดสำดับโรงเรียนที่ว่างไว้ให้ เพื่อให้เด็กมีที่เรียนทุกคน” นายอัมพร กล่าว

นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า สอศ. เตรียมความพร้อมโดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 – 16 พฤษภาคม ได้จัดการรายงานตัวนักเรียน นักศึกษา การประชุมผู้ปกครอง และการปฐมนิเทศนักเรียน นักศึกษาใหม่ โดยได้มอบหมายให้ครูที่ปรึกษาประจำห้องเรียนดำเนินการในรูปแบบออนไลน์ ตามบริบทของสถานศึกษา ระยะที่ 2 ระหว่างวันที่ 17 – 31 พฤษภาคม 2564 หรือช่วง “11 วัน Think outside the box” 11 วัน 11 อาชีพ โดยสอศ. ได้เตรียมการพัฒนาผู้เรียนและครู ก่อนการเปิดภาคเรียนใหม่ โดยการพัฒนาผู้เรียนอาชีวศึกษา และครูให้มีความพร้อม และมีทักษะที่สอดคล้องสำหรับการเรียนในรูปแบบต่างๆ ของสถานการณ์โควิด-19 และสมรรถนะอาชีพที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ อย่างไรก็ตามในการเปิดภาคเรียนของสถานศึกษา การฝึกอบรมอาชีพ และการให้บริการประชาชน สถานศึกษาทุกแห่ง ต้องยึดมาตรการตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประกาศไว้ และจะต้องได้รับอนุญาตจาก ศบค.จังหวัดก่อน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image