พ.ร.บ.การศึกษา ภาคประชาชน (4)

พ.ร.บ.การศึกษา ภาคประชาชน (4)

พ.ร.บ.การศึกษา ภาคประชาชน (4)

ก่อนคุยเรื่องร่าง พ.ร.บ.การศึกษา ภาคประชาชนกันต่อ คิดถึงคำกลอนของ ม.ล.ปิ่น มาลากุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รจนาสอนใจไว้

  กล้วยไม้มีดอกช้า    ฉันใด
การศึกษาเป็นไป      เช่นนั้น
แต่ดอกออกคราวไร    งามเด่น
งานสั่งสอนปลุกปั้น    เสร็จแล้วแสนงาม

ท่านเข้าใจเปรียบเทียบชวนให้คิดว่า ทำการศึกษาต้องใจเย็นๆ แต่เมื่อมาเทียบเคียงกับการขับเคลื่อนผลักดันการปฏิรูปการศึกษาที่ดำเนินมา โดยเฉพาะการตรากฎหมายฉบับใหม่เพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษา ความเป็นจริงช้ากว่าปลูกกล้วยไม้หลายเท่า

Advertisement

ดอกกล้วยไม้ออกแล้วออกอีกหลายรอบ แต่กฎหมายสำคัญฉบับนี้จนป่านนี้ยังไม่มีใครตอบได้เลยว่าจะออกมาใช้บังคับได้หรือไม่ เมื่อไหร่

แม้รัฐสภาจะกำหนดเปิดประชุม 22 พฤษภาคมนี้ แต่เปิดจริงวันที่ 27 พฤษภาคม มีกฎหมายจ่อรอเข้าสู่การพิจารณาตามลำดับ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 รายมาตรา ร่าง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด

ร่าง พ.ร.บ.การศึกษา 2 ฉบับที่รอต่อคิวจะทันเวลาก่อนสภาปิดสมัยประชุมไปเสียก่อนหรือเปล่า หาความแน่นอน มั่นใจไม่ได้เลยกับสถานการณ์การเมืองที่กำลังดำเนินไปในขณะนี้

Advertisement

ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ

จ.ด้านการศึกษา (3) ให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ให้ได้ผู้มีจิตวิญญานของความเป็นครู มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถและประสิทธิภาพในการสอน รวมทั้งมีกลไกสร้างระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของผู้ประกอบวิชาชีพครู

จนถึงวันนี้พฤษภาคม 2564 4 ปีเต็มๆ สิ่งทีเขียนไว้ก็แค่ตัวหนังสือในกระดาษ หาได้เกิดผลในทางปฏิบัติไม่ ฝ่ายบริหารไม่นำเสนอร่างกฎหมายเพื่ออนุวัติตามรัฐธรรมนูญ ฝ่ายรัฐสภาก็ไม่มีใครร่างกฎหมายรองรับหลักการนี้เข้าสู่การประชุม

เหตุเพราะไม่มีบทกำหนดโทษเป็นความผิดใดๆ เอาไว้กับการละเลย ไม่ทำตามรัฐธรรมนูญ ยกเว้นโทษทางการเมืองตามกระบวนการประชาธิปไตย ฝ่ายค้านทำหน้าที่ตั้งกระทู้ถาม ยื่นญัตติ อภิปรายทั่วไป และอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งไม่เกิดผลใดๆ เพราะรัฐบาลมีเสียงข้างมากเอาตัวรอดไปได้ทุกครั้ง

การติดตามซักถามความคืบหน้าของการปฏิรูป 13 ด้าน โดยวุฒิสภา กี่ครั้งกี่หน ไม่ส่งผลให้เกิดความก้าวหน้าเท่าไหร่นัก ย่ำอยู่กับที่เป็นส่วนใหญ่

ด้วยเหตุแห่งความล่าช้า ไม่ยอมทำตามกฎหมายรัฐธรรมนูญนี้เอง นักการศึกษา ผู้สนใจในภาคประชาชน สมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (สคคท.) จึงเขียนเรื่องนี้ไว้ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับภาคประชาชขน เสนอรายละเอียดโครงสร้าง องค์ประกอบ ภารกิจ หน้าที่ ของกลไกเพื่อรองรับการผลิตและพัฒนาครูไว้ดังนี้

มาตรา 82 องค์ประกอบของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการผลิตและพัฒนาครู ประกอบด้วย

1 นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกฯที่ได้รับมอบหมาย

2 รัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นรองประธานคนที่ 1

3 รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองประธานคนที่ 2

4 กรรมการโดยตำแหน่ง 12 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวง อว. ปลัดกระทรวง ศธ. ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีดิจิทัล ปลัดกรุงเทพมหานคร เลขาธิการ สพฐ. เลขาธิการ สอศ. เลขาธิการ สช. อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ผอ.สำนักงบประมาณ

5 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 11 คน ซึ่ง ครม.แต่งตั้งจากผู้มีประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การศึกษาปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา การฝึกหัดครู การศึกษาพิเศษ เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา การพัฒนาเด็กและเยาวชน การศึกษาเพื่อคนพิการ การศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ

อำนาจหน้าที่ 1 เสนอแนะนโยบายการผลิตและการพัฒนาครูต่อ ครม.

2 พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนการผลิตและพัฒนาครู โดยต้องเป็นแผนที่ปริมาณและคุณภาพการผลิตและการพัฒนาสอดคล้องกับความต้องการของหน่วยงานผู้ใช้ครู และต้องให้แผนการผลิต การพัฒนา และการใช้ครูเป็นที่ต่อเนื่องสัมพันธ์กัน

3 พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนการผลิตและพัฒนาคณาจารย์ของสถาบันผลิตครู โดยให้สอดคล้องสัมพันธ์กันกับความต้องการของสถาบันผลิตครูทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ให้ระบบการผลิต การคัดกรอง การใช้และการพัฒนาครูเป็นระบบที่ต่อเนื่องสัมพันธ์กัน

4 เสนอแนะเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณเพื่อการผลิตและพัฒนาครูและคณาจารย์ต่อ ครม.

5 ติดตาม ดูแลการผลิต การใช้และการพัฒนาครูและคณาจารย์ให้เป็นไปตามกฎหมายนี้และแผนการผลิต การพัฒนา การใช้ครูและคณาจารย์ที่เกิดขึ้นภายใต้กฎหมายนี้

6 แต่งตั้งคณะกรรมการ อนุกรรมการ คณะทำงาน

7 อื่นๆ ตามที่กำหนดในกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น

บทบัญญัติ อนุวัติตามรัฐธรรมนูญ 2560 นี้ จะได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล สมาชิกรัฐสภาหรือไม่ แค่ไหน อีกไม่นานคงได้เห็นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image