มติชนมติครู : การจัดการศึกษา ในสถานการณ์แพร่ระบาด ‘โควิด-19’

มติชนมติครู : การจัดการศึกษา ในสถานการณ์แพร่ระบาด ‘โควิด-19’

หลังจากที่ไวรัสโคโรนา (Coronavirus) หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่าโรคโควิด-19 (COVID-19) ตามการนิยามขององค์การอนามัยโลก (Word Health Organization; WHO) ได้แพร่ระบาดเมื่อปลายปี พ.ศ.2562 โดยมีศูนย์กลางของการแพร่ระบาดของโรคอยู่ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อนจะแพร่ระบาดไปยังดินแดนต่างๆ ทั่วโลก และกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ต่างๆ เช่น สายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์อินเดีย เป็นต้น จนทำให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลก ณ ปัจจุบันกว่า 163.1 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกประมาณ 3.3 ล้านคน

โดยประเทศที่มีการแพร่ระบาดมากที่สุด 3 ลำดับแรกของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย และบราซิล ซึ่งประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 91 (ข้อมูล ณ วันที่ 16 พฤษภาคม 2564) และมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อ รวมถึง ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เป็นอย่างมาก

หนึ่งในนั้นคือปัญหา “การจัดการศึกษา” ของแต่ละประเทศ ที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว ตลอดจนเพื่อความปลอดภัยของครู และนักเรียนทุกคน ทำให้เกิดการจัดการศึกษารูปแบบใหม่แทนการเปิดทำการเรียนการสอนตามปกติ

สำหรับประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของประเทศ ได้กำหนดแนวทางการจัดการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) ไว้ 5 รูปแบบด้วยกัน คือ On-site, On-air, On-demand, Online และ On-hand ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริหารระดับนโยบาย ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ตลอดจนความพร้อม และบริบทของแต่ละสถานศึกษา โดยประสานงานร่วมกับศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระดับจังหวัด (ศบค.จังหวัด) โดยคำนึงถึงการเรียนรู้ และความปลอดภัยของนักเรียนเป็นหลัก ซึ่งจะกล่าวถึงรายละเอียดของการจัดการเรียนการสอนรูปแบบต่างๆ พอสังเขป ดังนี้

Advertisement

1.On-site คือ การเปิดทำการเรียนการสอนตามปกติ หรือการเรียนที่สถานศึกษา โดยปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุ ขและประกาศของ ศบค.จังหวัด อย่างเคร่งครัด

2.On-air คือ การเรียนรู้ผ่าน DLTV (Distance Learning Television) หรือการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม โดยมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทั้งการออกอากาศตามตาราง และการเรียนย้อนหลัง

3.On-demand คือ การเรียนรู้ผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่ครู และนักเรียนตกลงใช้ร่วมกัน เช่น Zoom Google classroom เป็นต้น

4.Online คือ การเรียนรู้โดยให้ครูเป็นผู้จัดการเรียนการสอน โดยใช้เครื่องมือจากสถานศึกษากระจายไปสู่นักเรียนผ่านสัญญาณอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นรูปแบบที่ถูกใช้ในการจัดการเรียนการสอนจำนวนมากที่สุด

5.On-hand คือ การเรียนรู้ที่บ้านโดยครูจัดทำเอกสาร หรือใบงานให้กับนักเรียน ซึ่งอาจเป็นลักษณะแบบเรียนสำเร็จรูป โดยมีครูออกไปเยี่ยมบ้านนักเรียนเป็นครั้งคราว หรือให้ผู้ปกครองทำหน้าที่เป็นครูคอยช่วยเหลือ เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนได้อย่างต่อเนื่อง

จากรูปแบบการจัดการเรียนการสอนทั้ง 5 รูปแบบดังกล่าว สถานศึกษาสามารถตัดสินใจโดยเลือกจัดการเรียนการสอนตามบริบทของจังหวัด และความพร้อมของสถานศึกษาได้ โดยต้องคำนึงถึงการเรียนรู้ และความปลอดภัยของนักเรียนเป็นหลัก ตามหนังสือสั่งการของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และคำสั่งหรือมาตรการต่างๆ ที่ ศบค.จังหวัด กำหนด

จะเห็นได้ว่าในปีการศึกษา 2564 ที่กำหนดวันเปิดภาคเรียนที่ 1 ในวันที่ 14 มิถุนยาน 2564 นี้ ได้มีรูปแบบการจัดการศึกษาเพิ่มขึ้นจากปีการศึกษาที่ผ่านมาอยู่ 2 รูปแบบ คือ On-demand และ On-hand ซึ่งในทัศนะของผม การจัดการศึกษาแบบ On-demand คือส่วนหนึ่งของการจัดการศึกษาแบบ Online ที่ครอบคลุมการจัดการเรียนการสอนทุกรูปแบบ ส่วนแบบ On-hand คือรูปแบบที่เคยทดลองใช้ก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ที่ให้ครูจัดทำใบงาน และออกเยี่ยมนักเรียนตามบ้าน โดยอิงรูปแบบ Online ซึ่งครูอาจจะเป็นผู้สอนเอง หรือรูปแบบ On-air ที่ถ่ายทอดสดผ่านช่องต่างๆ ของ DLTV

ประเด็นแรกที่น่าสนใจก็คือ ในปี พ.ศ.2563 ตัวเลขผู้ติดเชื้อจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีจำนวนน้อยกว่าปีนี้เป็นอย่างมาก กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดวันเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 จากเดิมที่ต้องเปิดทำการเรียนการสอนกลางเดือนพฤษภาคม 2563 แต่ในปี พ.ศ.2564 ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อภายในประเทศสูงกว่าปี พ.ศ.2563 เป็นอย่างมาก กระทรวงศึกษาธิการกลับเลือกที่จะเปิดทำการเรียนการสอนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เป็นวันที่ 14 มิถุนายน 2564 เร็วกว่าปีการศึกษาที่แล้ว

ประเด็นนี้ กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งครู นักเรียน รวมถึง ผู้ปกครอง ที่ยังกังวลเรื่องความปลอดภัยของบุตรหลานของตนเอง ที่จะต้องเปิดเรียนในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 นี้ แม้กระทรวงศึกษาธิการจะเปิดโอกาสให้สถานศึกษาตัดสินใจเลือกรูปแบบการจัดการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามเห็นสมควรก็ตาม

ประเด็นถัดมา คือปัญหาที่เกิดขึ้นจากการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบต่างๆ ทั้งการเข้าถึงเครื่องมือ และอุปกรณ์ที่จะต้องใช้ในการจัดการเรียนสอน ซึ่งกลายเป็นภาระแก่ครู นักเรียน และผู้ปกครอง ที่จะต้องจัดหาเครื่องมือ และอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึง สัญญาณอินเตอร์เน็ต หรือกล่องโทรทัศน์ดิจิทัล เพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอน

แน่นอนว่าสถานศึกษาที่อยู่ในตัวเมือง หรือตัวอำเภอที่มีความพร้อม ย่อมสามารถดำเนินการจัดการเรียนการสอนได้ดีกว่าสถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และทุรกันดาร เช่น สถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในหุบเขา ตามชายแดน บนเกาะต่างๆ รวมถึง สถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย การเดินทางยากลำบาก ไฟฟ้า หรือสัญญาณอินเตอร์เน็ตเข้าไม่ถึง เป็นต้น ส่งผลให้การจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาเหล่านี้ ขาดความพร้อม และนักเรียนไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ จึงทำให้ผลลัพธ์ที่ได้แตกต่างกันออกไป ซึ่งผมคิดว่ากระทรวงศึกษาธิการ ควรตระหนักถึงประเด็นนี้ให้มากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักความเสมอภาคทางการศึกษา ที่พลเมืองทุกคนควรมีสิทธิเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งสถานศึกษาในเขตเมือง และชนบท

กล่าวโดยสรุป กระทรวงศึกษาธิการในฐานะผู้รับผิดชอบด้านการจัดการศึกษาของประเทศ ควรนำปัญหาที่เกิดขึ้นจากการจัดการศึกษาภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปีการศึกษา 2563 มาถอดบทเรียน เพื่อปรับปรุง แก้ไข และพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย สามารถจัดการศึกษาได้อย่างเสมอภาค เท่าเทียม และทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษาในระดับใดก็ตาม ตลอดจนตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะนักเรียน ซึ่งถือว่าเป็นตัวแปรหลักในการจัดการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์เช่นนี้

ผมเข้าใจว่าการเรียนรู้นั้น สามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา และคนเราสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต แต่ก็ต้องไม่ลืมด้วยว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น อันตรายเพียงใด การจัดการเรียนการสอนทั้งที่ยังไม่พร้อม และสุ่มเสี่ยง อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย หากเป็นเช่นนั้นจริง การกลับมาแก้ไขปัญหาภายหลังก็อาจจะสายไปเสียแล้ว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image