กลิ่นอาย ยุบสภา การเมือง ตุนแต้ม รัฐบาล ปริร้าว

กลิ่นอาย ยุบสภา การเมือง ตุนแต้ม รัฐบาล ปริร้าว

ท่ามกลางสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด รัฐบาลกำลังตกเป็นเป้าสายตาในการจัดการกับวิกฤต ได้ปรากฏความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่น่าจับตามองหลายประการขึ้น

ประการแรก ปรากฏคำสั่งแบ่งงานรัฐมนตรีให้ดูแลจังหวัดทั่วประเทศ โดยรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้กำกับดูแลจังหวัดที่ตัวเองเป็นตัวแทน ขณะที่มีชื่อ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐเป็นผู้เข้าไปดูแลพื้นที่แทน

ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องเคลื่อนไหว นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ต้องออกมาแสดงภาวะผู้นำพรรคด้วยการบอกว่า “ประชาธิปัตย์ไม่พอใจ”

กระทั่งล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ ได้ยกเลิกการมอบอำนาจให้รัฐมนตรีดูแลจังหวัดทั่วประเทศแล้ว

Advertisement

ประการที่สอง ปรากฏรอยร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างรัฐบาลกับพรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคภูมิใจไทย

รอยร้าวเกิดขึ้นตั้งแต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย โดย ส.ส.กลุ่มดาวกฤษ์ ของพรรคพลังประชารัฐไม่ลงคะแนนเสียงไว้วางใจ

กลายเป็นเงื่อนปมที่พรรคภูมิใจไทยยอมไม่ได้

แม้แต่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยก็ไม่ยอม

รอยร้าวดังกล่าวเกิดขึ้นทิ้งท้ายสมัยการประชุมของรัฐสภาครั้งที่แล้ว และลามมาถึงช่วงปิดสมัยประชุมรัฐสภา

เมื่อปรากฏว่าประเทศไทยเกิดการระบาดระลอก 3 จู่ๆ พล.อ.ประยุทธ์สั่งตั้งคณะกรรมการหาวัคซีนทางเลือก โดยไม่มีชื่อของนายอนุทิน ทั้งๆ ที่นายอนุทินเป็นรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

หลังจากนั้นไม่นาน พล.อ.ประยุทธ์ให้คณะรัฐมนตรีมอบอำนาจให้นายกฯ เป็นผู้สั่งการตามกฎหมาย 33 ฉบับ

ล่าสุด เมื่อต้องกระจายวัคซีน แนวคิด “วอล์ก อิน” ซึ่งนายอนุทินเป็นผู้นำเสนอก็กลายเป็นประเด็น

นายอนุทินอธิบายถึงการวอล์กอิน (Walk in) เข้ารับการฉีดวัคซีน ว่าความหมายของ “วอล์กอิน” หมายถึงการที่เราไม่ได้จองคิวไว้ แต่ไปลุ้นเอาหน้างาน ซึ่งแน่นอนว่าคนที่จองคิวไว้ก็ต้องมีสิทธิก่อน

สรุปได้ว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่เบิกออกมาต้องใช้ให้หมดภายใน 1 วัน หากปรากฏว่าในวันนั้นมีผู้ที่นัดไว้แล้วไม่มาตามนัด วัคซีนดังกล่าวจะนำไปฉีดให้คนที่ “วอล์ก อิน”

แต่เมื่อสังคมรับข่าวสารได้เกิดข้อสงสัยจำนวนมาก พล.อ.ประยุทธ์ได้ออกมาเบรก โดยขอให้ฟังจาก ศบค.เพียงหน่วยงานเดียว

ศบค.มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์แสดงท่าทีดังกล่าว บรรดา ส.ส.ของพรรคภูมิใจไทยก็เคลื่อนไหว

นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย โพสต์ข้อความ “ลุงเตะถ่วง”

“แทนที่จะช่วยทำให้มันไว คนเข้าถึงง่าย กลับสร้างกำแพงให้คนเข้าถึงวัคซีนยาก”

ขณะที่ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย โพสต์ข้อความ

“ตลอดสองสัปดาห์ ที่ผ่านมาเราจะได้เห็นว่ามีปัญหากับการลงทะเบียนหมอพร้อมมาก เราได้เห็นรูปแบบการฉีดวัคซีนในประเทศต่างๆ ประชาชนเริ่มตื่นตัว อยากฉีดวัคซีนมากขึ้น แต่หมอพร้อมก็ยังไม่พร้อม

“ตั้งแต่มีข่าว walk in ให้ไปฉีดได้ เราเชื่อว่าคนมีทางเลือกมากขึ้น และตื่นตัวขึ้น แต่พอเมื่อวาน ลุง มาเบรก ไม่ให้ walk in แล้วบอก app ห้ามล่ม นี่ รู้สึกเลยว่าเป็นการบริหารแบบยุคเก่ามาก คือถ้าไม่ได้เป็นความคิดของตนคือผิดหมด

“แทนที่จะให้เขาหาแนวทางแบบฉีดได้โดยไม่แออัด การตัดสินใจแบบนี้ เท่ากับว่าไม่ได้เรียนรู้ปัญหาและการแก้ไข ในกรณีที่ไม่เป็นไปตามแผนเลย เป็นการตัดสินใจที่ บ้ง มาก”

เมื่อ ส.ส.จากพรรคภูมิใจไทยเคลื่อนไหว ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐก็ต้องตอบโต้

นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ กล่าวพาดพิงถึงนายภราดรว่า ขอฝากไปถึง นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ให้ดูแลกิริยา มารยาทของนายภราดรด้วยว่าได้รับการอบรมแบบถูกต้องมาหรือไม่ นายภราดรมีตำแหน่งเป็นถึงโฆษกพรรคร่วมรัฐบาล แต่กับพูดกับผู้ใหญ่เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าไร้วุฒิภาวะ

“ต้องถามไปที่พรรคภูมิใจไทยว่าคิดดีแล้วหรือที่เลือกคนแบบนี้มาทำหน้าที่โฆษกพรรค”

ความร้อนแรงจากประเด็นดังกล่าวยังพุ่งออกมาจากปากของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า คุณคิดดูเองแล้วกันว่าสมควรหรือไม่ เพราะเราเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งทุกอย่างเป็นเรื่องของ ศบค.ที่จะดำเนินการที่จะบูรณาการเกี่ยวกับระบบวอล์กอิน ทุกอย่างไม่มีปัญหาอะไร ไม่ต้องกำชับนายอนุทิน ให้ปรามลูกพรรค เพราะถือเป็นผู้ใหญ่กันหมดแล้วรู้ว่าอะไรควรไม่ควร

ขณะที่นายอนุทินมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เป็นการติเพื่อก่อ เป็นการทำหน้าที่ของ ส.ส.

พร้อมยกตัวอย่างเหตุการณ์เมื่อครั้งที่ ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐไม่โหวตให้นายศักดิ์สยามในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ

“ตอนนั้นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐยำผม ผมยังไม่พูดอะไรสักคำ”

ความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ ก่อเกิดหลังจากมีกระแสเกี่ยวกับการยุบสภา

มีการคาดการณ์ว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะครบวาระการบริหารในปี 2566 แต่ยุทธศาสตร์ของ คสช.ที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย

ภายใน 5 ปีแรกของรัฐสภาชุดแรก สมาชิกวุฒิสภา 250 เสียงมีสิทธิโหวตเลือกนายกฯด้วยได้

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันประกาศใช้ปี 2560 เลือกตั้งปี 2562 จะครบวาระในปี 2566 ด้วยบทบัญญัติดังกล่าวทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถหวนกลับมาเป็นนายกฯได้อีกหน

เพียงแต่หากรอจนรัฐบาลครบวาระ ความศรัทธาที่มีต่อรัฐบาลอาจเสื่อมทรุด การหาจังหวะเวลาที่เหมาะสมเพื่อยุบสภาและเลือกตั้งใหม่น่าจะได้เปรียบทางการเมือง

ดังนั้น ข่าวคราวเรื่องยุบสภาปี 2565 จึงมีโอกาส

เมื่อการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่มีโอกาสเกิดขึ้นในปี 2565 บรรดานักการเมืองและพรรคการเมืองจึงเคลื่อนไหว

การควบคุมสถานการณ์โรคโควิด-19 ให้ได้ภายในปี 2564 และฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ได้ในปี 2565 จึงมีความสำคัญต่อรัฐบาล

การลงพื้นที่เก็บตุนคะแนนเสียงเอาไว้เป็นสิ่งที่นักการเมืองพึงกระทำ

หากมองจากมุมนี้ การยุบสภาเลือกตั้งใหม่ในปี 2565 น่าจะเป็นเหตุผลทำให้ทุกเรื่องมีความสำคัญทางการเมือง

การแก้วิกฤตโควิด-19 การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 การใช้เงินเยียวยาช่วยเหลือภาคส่วนต่างๆ การทุ่มงบประมาณเพื่อฟื้นฟูธุรกิจและเศรษฐกิจ

ทุกอย่างล้วนแล้วแต่มีผลต่อการเลือกตั้ง

มีผลต่อรัฐบาลและฝ่ายค้าน

และมีผลต่อรอยร้าวภายในรัฐบาลที่มีโอกาสแตกแยกมากขึ้นเรื่อยๆ จนเวลานั้นมาถึง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image