สิงคโปร์อนุมัติให้ใช้ “เครื่องตรวจหาโควิดด้วยลมหายใจ” ได้ผลใน 1 นาที ผลงานวิจัยภายในประเทศ

ดร. เจีย จูแนน (ซ้าย) กับ นายตู้ เฟิง (กลาง) จากบริษัทเบรโธนิกซ์ ผู้พัฒนา บรีเฟนซ์ โก (ภาพ-NUS)

 

สิงคโปร์อนุมัติต่โคให้ใช้ “เครื่องทดสอบโควิดด้วยลมหายใจ” ได้ผลใน 1 นาที ผลงานวิจัยภายในประเทศ

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม เว็บไซต์ซีเอ็นเอ รายงานว่า สำนักงานวิทยาศาสตร์สุขภาพ (เอชเอสเอ) ได้ให้ความเห็นชอบให้ใช้งาน อุปกรณ์ตรวจสอบหาผู้ป่วยโควิด-19 จากลมหายใจ ซึ่งพัฒนาขึ้นเองภายในประเทศ เป็นการชั่วคราว ถือเป็นระบบตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ด้วยลมหายใจรายแรกที่ได้รับความเห็นชอบให้ใช้ชั่วคราวดังกล่าว

อุปกรณ์กรณ์ดังกล่าวใช้ชื่อว่าระบบทดสอบหาโควิด-19จากลมหายใจ “บรีเฟนซ์ โก” พัฒนาโดยบริษัท เบรโธนิกซ์ ซึ่งเป็นกิจการสตาร์ทอัพที่มาจากทีมนักศึกษาและนักวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (เอ็นยูเอส) และได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากโครงการส่งเสริมนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย ให้สามารถแยกตัวมาตั้งกิจการเป็นบริษัทได้สำเร็จ

“บรีเฟนซ์ โก” ทำงานโดยอาศัยการตรวจหา สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (volatile organic compounds-VOCs) ซึ่งปรากฏอยู่ในลมหายใจออกของคนและเป็นผลมาจากปฏิกิริยาทางชีวะเคมีที่เกิดขึ้นในเซลล์ในร่างกายมนุษย์ “วีโอซี”ในลมหายใจออกของคนที่มีสุขภาพปกติ จะแตกต่างไปจาก “วีโอซี” ในลมหายใจของผู้ป่วย หากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของวีโอซีของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ก็เท่ากับสามารถบอกได้นั่นเองว่าเป็นผู้ติดเชื้อหรือไม่

Advertisement

เบรโธนิกซ์ ระบุว่า ระบบตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิดด้วยลมหายใจนี้ ให้ผลการตรวจได้รวดเร็วภายใน 1 นาที ใช้งานง่าย ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางการแพทย์ ไม่ต้องผ่านการทำงานภายในห้องทดลองมาแต่อย่างใด ระบบจะประกอบด้วย เมาธ์พีซ หรืออุปกรณ์ครอบปาก สำหรับเป่าลมหายใจเข้าไปเหมือนหายใจตามปกติ ผ่านท่อที่มีวาล์วชนิดทางเดียว ต่ออยู่กับอุปกรณ์เก็บตัวอย่างจากลมหายใจที่มีความแม่นยำสูง ซึ่งจะเก็บตัวอย่างจากลมหายใจแล้วป้อนเข้าสู่เครื่องสเปคโตรมิเตอร์ สำหรับวัดค่า ซึ่งจะมีคอมพิวเตอร์ อัลกอริธึม สำหรับวิเคราะห์ หาเครื่องหมายเชิงชีวะในวีโอซี แล้วแปรออกมาเป็นผลลัพธ์ ภายในเวลาไม่ถึง 1 นาที อุปกรณ์ครอบปากใช้แล้วทิ้งป้องกันการแพร่เชื้อ ส่วนวาล์วทางเดียวก็จะเก็บน้ำลายหรือเชื้อไว้ไม่ให้เกิดการปนเปื้อนข้าม (Cross-contamination) ขึ้นกับตัวอุปกรณ์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลการตรวจได้

เบรโธนิกซ์ ระบุว่าจากการทดลองในคน ใน 3 สถานที่ ระหว่างเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา เรื่อยมาจนถึง เมษายนปีนี้ ปรากฏว่าอุปกรณ์ตรวจหาผู้ติดเชื้อนี้ทำงานได้ผลสูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้หลังได้รับอนุมัติให้ใช้ชั่้วคราวครั้งนี้แล้ว บริษัทจะร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข นำระบบไปติดตั้งไว้บริเวณด่านชายแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซีย เพื่อใช้งานในสภาพจริง โดยใช้ตรวจควบคู่กับระบบตรวจสอบโควิด-19แบบเร็วด้วยแอนติเจน หรือ แอนติเจน แรปิด เทสต์ (เออาร์ที) และผู้ที่ถูกระบุว่า ติดเชื้อ จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจยืนยันด้วยระบบ โพลิเมอราส เชน รีแอคชัน (พีซีอาร์เทสต์) หรือ สว็อบเทสต์อีกครั้งต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image