‘ณพลเดช’ จี้ รัฐจัดลำดับความสำคัญ แผนฉีดวัคซีน ตามการระบาดโควิด-19

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ที่เขตสัมพันธวงศ์ ดร.ณพลเดช มณีลังกา เลขานุการกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎรและ ว่าที่ผู้สมัคร สก. เขตสัมพันธวงศ์ พรรคเพื่อไทย(พท.) กล่าวว่า ด้วยวันนี้เป็นวันวิสาขบูชาตนได้เข้ามาทำบุญตามกิจกรรมชาวพุทธตามปกติ หลังถวายเพลเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์และคณะสงฆ์ ที่วัดไตรมิตรฯ จึงได้ลงพื้นที่พร้อมทีมงานเพื่อรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด ให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนตามโครงการสำเพ็งเยาวราชโมเดล ที่ กทม. จัดให้กับประชาชนในพื้นที่สัมพันธวงศ์ 100,000 โดส หลังจากลงพื้นที่ทราบว่าประชาชนในพื้นที่แม้มีทะเบียนบ้านในพื้นที่ หลายคนยังไม่ได้เอกสารในการลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์ ซึ่งตนจะเร่งประสานไปยังส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ดร.ณพลเดช กล่าวอีกว่า จากข้อมูลการฉีดวัคซีนในภูมิภาคอาเซีน ณ วันที่ 25 พ.ค. 2564 มีประชากรที่ได้รับวัคซีนแล้วรวม 47,411,299 โดส สำหรับประเทศไทยมีผู้ได้รับวัคซีนใกล้เคียงกับพม่า คือ 3,024,313 โดส ประเทศพม่าที่ขณะนี้มีความไม่สงบภายในแต่ปรากฏว่าได้ ประชาชนได้รับวัคซีนไปแล้วถึง 2,994,900 โดส โดยอินโดนีเซียประชาชนได้รับวัคซีนมากที่สุดคือ 25,455,786 โดส ทั้งนี้หากเปรียบเทียบประเภทวัคซีน ประเทศไทยมีวัคซีนเพียง 2 ชนิดคือ Sinovac และ AstraZeneca กลับกันสำหรับฟิลิปปินส์ เปิดช่องทางรับวัคซีนถึง 4 ชนิดคือ Sinovac , AstraZeneca , Pfizer , Sputnik V การได้รับวัคซีนครบโดส ประเทศไทยมีจำนวน 980,190 โดส ขณะที่ฟิลิปปินส์มีผู้รับวัคซีนครบโดส 986,929 รายซึ่งแทบจะเท่ากัน จะเห็นได้ว่าประเทศไทยเรามีการบริหารวัคซีนเมื่อเทียบกันในเอเซียมีจุดอ่อนทั้งทางด้าน 1.) จำนวนและทางเลือกของชนิดวัคซีน 2.) การกระจายวัคซีนกับกลุ่มเสี่ยง 3.) การกระจายในจุดธุรกิจสำคัญ ตนเห็นว่าขณะนี้รัฐต้องเปิดช่องทางของวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ เข้ามาได้อย่างรวดเร็วและมากที่สุด เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเลือกวัคซีนได้อันเป็นสิทธิของมนุษยชนโดยชอบธรรมที่ประชาชนมีสิทธิที่จะเลือก

“ทั้งนี้จะเป็นการแก้ปัญหาทางอ้อมไม่ว่าปัญหาคอร์รัปชันวัคซีน ปัญหาการวิ่งเต้นและเส้นสายการเข้ารับวัคซีนในพรรคพวกของตน และปัญหาความเสี่ยงอื่นๆ ที่จะตามมาอีกมากมาย และอีกประเด็นตนเห็นว่าขณะนี้วัคซีนที่มีจำกัดอยู่ในมือของรัฐบาลที่มีการจัดสรรไปยังจังหวัดต่างๆ ที่เป็นโควตาจัดสรร ที่มีการระบาดน้อย เช่น จ.ลำปาง อุดรธานี สกลนคร มหาสารคาม สระบุรี นครราชสีมา และนครพนม ควรวิเคราะห์และนำมาจัดสรรใหม่ให้ คลัสเตอร์ที่ระบาดหนักเช่น แคมป์คนงาน , เรือนจำ , กลุ่มติดไวรัสสายพันธุ์อินเดียและสายพันธุ์แอฟริการ เป็นต้น รวมถึงเขตเศรษฐกิจใหญ่ของ กทม. เช่น เยาวราช-สัมพันธวงศ์ , สุขุมวิท , สีลม , สาทร , รัชดา เป็นต้น เพื่อตัดช่องทางการกระจายเชื้อและเปิดทางให้การหมุนของระบบเศรษฐกิจที่สำคัญสามารถดำเนินการได้ก่อน ซึ่งจากข้อมูลทราบว่าในเดือนมิถุนายนนี้ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนแน่นอนจากแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 6 ล้านโดส และซิโนแวค จำนวน 2.5 ล้านโดส โดยรัฐบาลจีนจะส่งมอบวัคซีนข้างต้นภายในวันที่ 25 พ.ค.นี้ ดังนั้นรัฐบาลไทยจะมีวัคซีนให้บริการรวมเพียง 8.5 ล้าน ทั้งนี้ตนขอเรียนว่า เวลานี้รัฐต้องทำงานแข่งกับเวลาและใช้สมองในการจัดการ หากช้าไปความเสียหายที่เกิดขึ้นรัฐอาจจะไม่สามารถรับผิดชอบอะไรได้เลยจากเหตุการณ์นี้” ดร.ณพลเดช กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image