50 ปีที่ถูกพราก ทับหลังปราสาทหนองหงส์-เขาโล้น จากสหรัฐคืนสู่ ‘แผ่นดินไทย’

ทับหลังปราสาทหนองหงส์ ระหว่างขั้นตอนการบรรจุเพื่อเตรียมส่งจากสหรัฐกลับประเทศไทย

พ.ศ.2508 เป็นต้นไป หรือจะใช้เลขกลมๆ คือ 2510 นั่นคือราว 50 ปีก่อน

คือช่วงเวลาที่นักวิชาการสันนิษฐานว่า ทับหลังปราสาทหนองหงส์ อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ และ ทับหลังปราสาทเขาโล้น อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ถูกลักลอบนำออกนอกราชอาณาจักรไทยอย่างผิดกฎหมาย โดยเทียบเคียงกับไทม์ไลน์การโจรกรรม ‘ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์’ จากปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งได้คืนมาจากสหรัฐตั้งแต่ พ.ศ.2531

วันนี้ถึงคิว 2 ทับหลังข้างต้น อันเป็นผลพวงมาจากการค้นหาข้อมูลเพื่อ ‘ทวงคืน’ กลุ่มประติมากรรมสัมฤทธิ์แบบประโคนชัย จนพบภาพโบราณวัตถุสำคัญทั้ง 2 ชิ้น ซึ่งตรงกับภาพถ่ายเก่าก่อนอันตรธานจากโบราณสถาน

บรรทัดต่อจากนี้ไป คือ ไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ของการทวงคืนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ (อีกครั้ง)

Advertisement
ทับหลังทั้ง 2 ชิ้นขณะถูกลำเลียงขึ้นเครื่องบินของสายการบินโคเรียนแอร์ เที่ยวบินที่ KE12 เดินทางออกจากนครลอสแองเจลิสไปยังกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม แล้วเหินฟ้ามายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเมื่อ 28 พฤษภาคม
พิธีบวงสรวงตามคติพราหมณ์เพื่อความเป็นสิริมงคลเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ก่อนพิธีรับมอบอย่างเป็นทางการ

⚫  2503 หรือ 2504 มานิต วัลลิโภดม ภัณฑารักษ์ กรมศิลปากร ถ่ายภาพปราสาทหนองหงส์ระหว่างการสำรวจ โดยยังปรากฏทับหลังบนกรอบประตู

  2508 เป็นต้นไป ทับหลังปราสาทหนองหงส์-เขาโล้นถูกลักลอบนำออกจากประเทศไทย สู่สหรัฐอเมริกา

  2510 หนังสือ ศิลปะสมัยลพบุรี โดย ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ถูกตีพิมพ์ ปรากฏภาพทับหลังปราสาทเขาโล้น อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ประดับบนปราสาท (ขณะนั้นยังอยู่ในเขตจังหวัดปราจีนบุรี) มีคำอธิบายโดย ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ว่า

Advertisement
บริษัทมืออาชีพบรรจุทับหลังทั้ง 2 ชิ้นลงลังไม้อย่างระมัดระวัง ก่อนนำส่งมอบไปยังคลังสินค้าของสายการบินโคเรียนแอร์ เพื่อนำมาวางบนแท่นและพันด้วยพลาสติก ก่อนตรึงด้วยอุปกรณ์กันเคลื่อน
ลงนามรับมอบอย่างเป็นทางการ เมื่อ 25 พฤษภาคม ตามเวลาในสหรัฐ โดยมีเดวิด เอ. พรินซ์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่พิเศษเอชเอสไอ นครลอสแองเจลิส ตาตั้ม คิง หัวหน้าเจ้าหน้าที่พิเศษเอชเอสไอ นครซานฟรานซิสโก สเตฟานี ไฮด์ส รักษาการอัยการสหรัฐ ประจำรัฐแคลิฟอร์เนียเขตภาคเหนือ มนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน มังกร ประทุมแก้ว กงสุลใหญ่ ณ นครลอสแองเจลิส นายพิษณุ โสภณ กงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก และนายฟาบิโอ จินดา กงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก เป็นผู้แทนฝ่ายไทย

“ปราสาทเขาโล้นเป็นปราสาทหลังเดียว ก่อด้วยอิฐ ทับหลังสลักเป็นรูปเกียรติมุขอยู่ตรงกลาง มีริมฝีปากล่างและแลบลิ้นออกมาเป็นแผ่นสามเหลี่ยม มีเทวดาประทับนั่งชันเข่าอยู่ข้างบน อย่างไรก็ดี ท่อนพวงมาลัยนั้นมิได้ออกมาจากปาก แต่อยู่ใต้ลิ้น และท่อนปลายของพวงมาลัยก็ขมวดเป็นวงโค้งสลับกันเพียงข้างละ 2 วงเท่านั้น เหตุนั้นจึงอาจอยู่ในระหว่าง พ.ศ.1700-1750 แทนที่จะอยู่ระหว่าง พ.ศ.1600-1650 อย่างไรก็ดีเสาอิงกรอบประตูและกรอบประตูหินทรายก็ดูอาจจะเก่าแก่กว่าระยะนี้ อายุของปราสาทอิฐแห่งนี้ยังไม่สู้แน่นอนนัก มีจารึกสลักอยู่บนกรอบประตูด้านใต้และด้านเหนือบ่งถึง พ.ศ.1559 แต่เสาอิงประตูและกรอบประตูหินทรายเหล่านี้อาจจะนำมาจากปราสาทหลังอื่นที่เก่าแก่กว่านี้ก็ได้”

  2559 เกิดการก่อตั้งกลุ่ม ‘สำนึก 300 องค์’ นำโดย ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี ผศ.ดำรง ลีนานุรักษ์ อดีตรองอธิการบดี ม.แม่โจ้, โชติวัฒน์ รุญเจริญ บัณฑิตคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และ ยอดชาย อ้ายเจริญ ประชาชนที่สนใจด้านประวัติศาสตร์ ค้นข้อมูลเกี่ยวกับประติมากรรมโพธิสัตว์ประโคนชัย จากปราสาทปลายบัด อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ แต่ปัจจุบันไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศ โดยเรียกร้องให้ภาครัฐทวงคืนกลับแผ่นดินไทย

  2 สิงหาคม 2559 กลุ่ม ‘สำนึก 300 องค์’ พบภาพถ่ายในเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ Asian Art Museum Chong-Moon Lee Center for Asian Art and Culture ในซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ พิจารณารูปแบบและลวดลาย รวมถึงรายละเอียดต่างๆ พบว่าตรงกับทับหลังที่สูญหายไปจากปราสาทหนองหงส์ อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ ปรากฏเป็นข่าวครั้งแรกใน ‘มติชนออนไลน์’ จึงเกิดการเรียกร้องให้ทวงคืนพร้อมๆ กับกระแสทวงคืนโพธิสัตว์ประโคนชัย

  23 สิงหาคม 2559 ชาวโนนดินแดง จัดพิธีบวงสรวงปราสาทหนองหงส์ พร้อม ‘ทวงคืนสมบัติชาติ’ มีการติดตั้งป้ายขนาดใหญ่ริมถนนในอำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์

เจ้าหน้าที่สำนักงานสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐ เข้าตรวจสอบทับหลัง ก่อนส่งมอบแก่สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแองเจลิส เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ตามเวลาท้องถิ่น

  18 พฤษภาคม 2560 กลุ่ม ‘สำนึก 300 องค์’ พบเพิ่มเติมว่าทับหลังปราสาทเขาโล้นที่สูญหาย ปรากฏในพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐเช่นกัน หนังสือพิมพ์ ‘มติชน’ รายวัน และมติชนออนไลน์ เผยแพร่ข่าวพร้อมหลักฐานภาพถ่ายเก่ายืนยันว่าเคยอยู่ในปราสาทหลังดังกล่าวบนแผ่นดินไทย

  พฤษภาคม 2560 วีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมในขณะนั้น เห็นชอบให้ติดตามทวงคืนโบราณวัตถุอย่างเป็นระบบ โดยให้ทำงานร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กรมศุลกากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิ เร่งประสานไปยังสถานทูตไทยในประเทศต่างๆ ช่วยตรวจสอบโบราณวัตถุไทยในต่างแดน โดยในมี อนันต์ ชูโชติ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร

หลักฐานสำคัญในการทวงคืน คือภาพทับหลังปราสาทเขาโล้น จากหนังสือของ ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2510

  มิถุนายน 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามแต่งตั้ง “คณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศ” เพื่อทวงคืนโบราณวัตถุของไทย 133 ชิ้น โดยกำหนดมาตรการตรวจสอบ ประสานความร่วมมือ ทั้งวิธีการการทูตและกฎหมาย

  สิงหาคม 2563 ประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า หลังจากกรมศิลปากรได้ประสานงานอย่างเป็นทางการผ่านกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ส่งหนังสือติดตามทวงคืนโบราณวัตถุถึงสำนักงานสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ สหรัฐอเมริกา และส่งข้อมูลการศึกษาทางวิชาการพร้อมหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น รายงานการสำรวจของกรมศิลปากร ตัวอย่างเอกสารอนุญาตในการส่งออกโบราณวัตถุ เป็นต้น เพื่อใช้ในการสืบสวนสอบสวน ยืนยันว่าโบราณวัตถุนั้นมีถิ่นกำเนิดในไทย และได้ถูกลักลอบนำออกไปโดยวิธีการที่ผิดกฎหมาย ได้รับแจ้งข้อมูลว่า ทับหลังจากปราสาทเขาโล้น และทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของสหรัฐ และทางพิพิธภัณฑ์ฯ ยอมรับว่าทับหลังทั้ง 2 รายการ เป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายไทย โดยมีการนำทับหลังทั้ง 2 ชิ้น ออกจากห้องจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ไปจัดเก็บในห้องคลัง เพื่อรอขั้นตอนทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ในกระบวนการส่งคืนสู่ประเทศไทย

⚫  เมษายน 2564 กรมศิลปากรมอบอำนาจให้สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแองเจลิส ลงนามในเอกสารข้อตกลงเพื่อรับคืนโบราณวัตถุดังกล่าวจากสหรัฐอเมริกา

  25 พฤษภาคม 2564 ตามเวลาท้องถิ่น มีการจัดพิธีส่งมอบทับหลังทั้ง 2 ชิ้นโดยมี เดวิด เอ. พรินซ์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่พิเศษเอชเอสไอ นครลอสแองเจลิส ตาตั้ม คิง หัวหน้าเจ้าหน้าที่พิเศษเอชเอสไอ นครซานฟรานซิสโก สเตฟานี ไฮด์ส รักษาการอัยการสหรัฐ ประจำรัฐแคลิฟอร์เนียเขตภาคเหนือ มนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน มังกร ประทุมแก้ว กงสุลใหญ่ ณ นครลอสแองเจลิส พิษณุ โสภณ กงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก และ ฟาบิโอ จินดา กงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก เป็นผู้แทนฝ่ายไทยเข้าร่วม

⚫  26 พฤษภาคม 2564 ตามเวลาท้องถิ่น ทับหลังทั้ง 2 ชิ้นถูกลำเลียงขึ้นเครื่องบินของสายการบินโคเรียนแอร์ เที่ยวบินที่ KE12 เดินทางออกจากนครลอสแองเจลิสไปยังกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

ทับหลังปราสาทเขาโล้นในงานบวงสรวงที่สหรัฐ

  28 พฤษภาคม เดินทางต่อด้วยเที่ยวบิน KE651 จากเกาหลีใต้มาถึงยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในช่วงดึกของวันเดียวกัน

  31 พฤษภาคม จัดส่งถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) พระนคร กรุงเทพฯ กรมศิลปากรเข้าตรวจสภาพ ทำความสะอาด ดำเนินกระบวนการตามหลักวิชาการ โดยเก็บรักษา ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ภายใน พช.พระนคร รอการจัดพิธีรับมอบและเปิดนิทรรศการโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยจะให้ประชาชนเข้าชมเป็นเวลา 3 เดือน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image