‘ซีพี’ ชูนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น ย้ำจุดยืนเป็นกลางการเมือง ฐานะหนึ่งในบริษัทชั้นนำมีจริยธรรมมากสุดในโลกปี 2021


‘ซีพี’ ชูนโยบายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น ย้ำจุดยืนเป็นกลางทางการเมือง ในฐานะหนึ่งในบริษัทชั้นนำมีจริยธรรมมากสุดในโลกปี 2021

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน เครือเจริญโภคภัณฑ์ เผยแพร่เอกสารข่าว ระบุว่า ในยุคปัจจุบัน ธรรมาภิบาลและจริยธรรมในการทำธุรกิจ ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทำให้ความคาดหวังต่อภาคเอกชนในการสร้างความเปลี่ยนแปลง มีมากขึ้นกว่าการทำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ แต่ครอบคลุมถึงการสร้างคุณค่าและความยั่งยืนให้กับประเทศชาติ และ สังคม ทั้งนี้ บทบาทของเอกชนไทย ในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก ทั้งนี้ เอทิสเฟียร์ Ethisphere สถาบันระดับโลกในด้านการประเมินมาตรฐานการดำเนินธุรกิจที่มีจริยธรรม ได้จัดประเมินบริษัทที่เป็นผู้นำด้านจริยธรรม ในงาน Virtual WME Honoree Gala 2021 ในปีนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)เป็น 1 ใน 135 บริษัท ที่ได้รับการประเมินว่าเป็นบริษัทที่มีจริยธรรมมากที่สุดในโลก โดยมีบทบาททางจริยธรรมและการสร้างคุณค่าให้สังคม โดยเฉพาะจุดเด่นด้านนโยบายด้านธรรมาภิบาล การต่อต้านการทุจริต และบทบาทของภาคเอกชนที่มีนโยบายจุดยืนแสดงความเป็นกลางทางการเมือง และมีการสร้างคุณค่าให้กับประเทศชาติและสังคมมาอย่างต่อเนื่องในหลายมิติ

ในด้านเศรษฐกิจ เครือซีพีที่ดำเนินธุรกิจมาครบ 100 ปี นอกจากการดำเนินธุรกิจที่สร้างให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นกลไกหมุนเม็ดเงินกลับมาพัฒนาประเทศผ่านกลไกทางด้านภาษีของภาครัฐ หากดูข้อมูลย้อนหลัง 3 ปีพบว่า เครือซีพีจ่ายภาษีเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 16,000 ล้านบาท และค่าใบอนุญาตต่างๆ รวมแล้วไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท ที่เป็นเงินที่เข้าสู่รัฐ ในการนำมาพัฒนาประเทศ นอกจากเงินภาษีแล้ว แต่ละปีเครือซีพียังมีเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือชุมชนและสังคมอีกด้วย โดยในปี 2561 ซีพีบริจาคเงินในประเทศไทยทั้งสิ้น 3,900 ล้านบาท และปี 2562 อีกประมาณ 4,000 ล้านบาท ในการช่วยเหลือภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ประสบภัยพิบัติ ตลอดจนสนับสนุนโรงพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศ และในปี 2563 ในช่วงวิกฤตโควิด ซีพีมีการบริจาค ยอดรวมช่วยเหลือสังคมโดยรวมกว่า 5,500 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในมิติของการสร้างงานสร้างอาชีพนั้น ซีพีกระจายรายได้ไปสู่มนุษย์เงินเดือนกว่า 2 แสนครอบครัวที่ทำงานตามบริษัทต่าง ๆ ในเครือ เฉลี่ยปีละ 93,000 ล้านบาท ที่นำมาสู่ภาษีบุคคลที่เข้าสู่รัฐบาลที่นำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างบทบาทของภาคเอกชนที่ต้องสร้างคุณค่ากลับสู่การขับเคลื่อนประเทศ ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบทบาทแรก ที่ภาคเอกชนสามารถสร้างคุณค่าให้กับประเทศได้ นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ คือการยกระดับอาชีพ การสร้างงานให้ห่วงโซ่คุณค่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ มีค่าใช้จ่ายที่เป็นการกระจายรายได้ในการจ้าง Outsource หรือส่งให้ Suppliers ในประเทศ

Advertisement

รวมถึง SMEs ทำอีกกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี ตลอดจน ยังมีเงินที่ต้องลงทุนไปกับงานวิจัยและพัฒนาอีกกว่า 7,000 ล้านบาทต่อปี โดยทั้งหมดนี้ สะท้อนว่าเครือซีพี มีส่วนกระจายรายได้ในประเทศทั้งด้านการเมือง สังคม และการพัฒนาประเทศ ซึ่งความเจริญรุ่งเรืองของสังคมเกิดจากการบริหาร,การกระจายอำนาจ,การแบ่งสันปันส่วนงานรับผิดชอบ ให้สมดุลระหว่างพลังสามส่วน คือภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศ

ในฐานะของภาคเอกชนนั้น เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้มีการกำหนดจรรยาบรรณการเป็นกลางทางการเมือง โดยยึดมั่นต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข และ สนับสนุนนโยบายภาครัฐอันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและสังคม โดยให้ความสำคัญด้านความโปร่งใสและตรวจสอบได้ และไม่มีการเลือกปฏิบัติ หรือเอื้อประโยชน์โดยทางมิชอบ ทั้งต่อพรรคการเมืองและนักการเมือง โดยยึดถือการปฏิบัติตามหลักการสำคัญ ดังนี้

1.เครือเจริญโภคภัณฑ์ดำรงอยู่บนความเป็นกลางทางการเมือง และไม่ฝักใฝ่กลุ่มการเมืองฝ่ายใด

2.เครือเจริญโภคภัณฑ์สามารถให้การสนับสนุนแก่พรรคการเมืองได้ แต่ต้องกระทำด้วยความโปร่งใส และไม่มีเจตนาเพื่อโน้มน้าวให้เกิดการดำเนินการที่ไม่เหมาะสม

Advertisement

3.กรรมการและบุคลากรมีสิทธิเสรีภาพในทางการเมืองในฐานะส่วนตัว ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ แต่ต้องไม่อ้างชื่อเครือฯ และต้องไม่นำทรัพย์สิน อุปกรณ์ เครื่องมือของเครือฯ ไปใช้เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการทางการเมือง

ในด้านการต่อต้านการทุจริต เครือเจริญโภคภัณฑ์ดำเนินธุรกิจมายาวนานถึง 100 ปี ด้วยรากฐานสำคัญคือ คุณธรรมและความซื่อสัตย์ หนึ่งในค่านิยมองค์กรที่ยึดมั่น เครือฯ จึงให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน โดยเครือฯ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันแก่ผู้บริหารและพนักงานในเครือฯมาอย่างต่อเนื่อง เป็นไปตามนโยบายการป้องกันไม่เกิดการทุจริตและคอร์รัปชันทุกรูปแบบ (Zero-tolerance) ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างในการขับเคลื่อนด้านจริยธรรมที่องค์กรภาคเอกชนพึงปฏิบัติ

มร.ทิมโมธี เออร์บลิค (Timothy Erblich) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สถาบัน Ethisphere เปิดเผยว่า ท่ามกลางการเผชิญหน้าและรับมือกับความท้าทายที่ยากลำบากในปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ปรากฏว่ายังมีบริษัทที่มีภาวะผู้นำ ได้รับความไว้วางใจจากผู้ส่วนได้เสียในด้านการมีจริยธรรมและความซื่อสัตย์ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่แน่วแน่ต่อคุณค่าสูงสุดที่ส่งผลในเชิงบวกต่อชุมชนของธุรกิจนั้น ๆ ในการนี้ Ethisphere ขอแสดงความยินดีกับทุกบริษัทที่ได้รับการพิจารณาให้เป็นบริษัทที่มีจริยธรรมมากที่สุดในโลก

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า การที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีจริยธรรมมากที่สุดในโลกจากสถาบัน Ethisphere ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ทั้งนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์มีจุดมุ่งหมายสำคัญคือการประกอบธุรกิจด้วยจริยธรรมตามมาตรฐานระดับโลก โดยเครือฯ ยึดมั่นในความซื่อสัตย์และมีคุณธรรมซึ่งเป็นค่านิยมองค์กรที่สำคัญ ที่ถือเป็นรากฐานของจริยธรรมขององค์กรตั้งแต่ยุคบุกเบิกธุรกิจ รวมถึงการยึดธรรมาภิบาลเป็นเสาหลักในการดำเนินธุรกิจ การที่เครือฯ ก้าวมาถึงจุดนี้ได้เกิดจากความร่วมมือและการสนับสนุนของพนักงานในเครือทั้งในและต่างประเทศ รวมถึง คู่ค้า นักลงทุน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่ได้ร่วมขับเคลื่อนกลไกด้านธรรมาภิบาลขององค์กรให้ยกระดับเทียบเท่ามาตรฐานระดับโลก เป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตตามยุทธศาสตร์และเป้าหมายความยั่งยืนของเครือฯ

“การปฏิบัติตนเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมในทุกประเทศที่ประกอบธุรกิจ และการปฏิบัติตามมาตรฐานหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการสร้างความสำเร็จทางธุรกิจ ดังนั้นการดำเนินธุรกิจด้วยหลักความยั่งยืนและมีจริยธรรม จึงเป็นรากฐานที่เครือฯ ยึดมั่นในการดำเนินงานทุกมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน”ซีอีโอเครือซีพี กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image