ผับบาร์-ร้านอาหารลุ้นไฟเขียวนั่งดริงก์ รอ ศบค. ทบทวน 18 มิ.ย.นี้

ผับบาร์-ร้านอาหารลุ้นไฟเขียวนั่งดริงก์ รอ ศบค. ทบทวน 18 มิ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (ผอ.ศปก.ศบค.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ถึงการพิจารณามาตรการคลายล็อกให้กิจการอื่นๆ เช่น ผู้ประกอบการร้านอาหาร ว่า ขณะนี้ให้รอกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอมาตรการเข้ามา เพราะยืนยันว่าที่ผ่านมาการทำงานของ ศบค. ไม่ใช่เป็นการสั่งการ แต่บูรณาการขับเคลื่อนทำงานร่วมกัน หากเป็นเรื่องการควบคุมโรคและรักษาพยาบาลการแพทย์ต้องฟังจาก สธ. ผู้สื่อข่าวถามว่า หากประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบัน มีแนวโน้มที่จะสามารถเปิดร้านอาหารได้ปกติหรือไม่ พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า ปัจจุบัน ร้านอาหารก็เปิดให้บริการอยู่แล้ว หรือหากจะเปิดเต็มรูปแบบหรือขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ต้องฟังจาก สธ. เป็นหลัก ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีมีตัวแทนนักดนตรีมาพบเพื่อให้ผ่อนคลายมาตรการ เลขาฯ สมช.กล่าวว่า เห็นใจ แต่อย่างที่บอกต้องดูมาตรการการควบคุมโรคจาก สธ. ว่าจะสามารถผ่อนคลายมาตรการได้อย่างไร ซึ่งจะมีการเสนอมาตรการให้ที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่พิจารณาวันศุกร์ที่ 18 มิถุนายนนี้ เพราะทุกครั้งหากมีมาตรการอะไรออกมาจะต้องเริ่มต้นจาก สธ. ยืนยันว่าเราทำงานร่วมกันทั้งหมด ไม่ใช่ ศบค.คิดสั่งการเองทุกอย่าง

ร้านอาหารขอนั่ง5ทุ่ม-ดริงก์ได้
นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เรียกร้องผ่อนคลายมาตรการควบคุมร้านอาหารและมาตรการช่วยเหลือเยียวยา ประกอบด้วย ขยายระยะเวลานั่งรับประทานอาหารในร้านของพื้นที่ 4 จังหวัดเข้มงวดและควบคุมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ถึงเวลา 23.00 น. และ ให้ปิดร้านในเวลา 00.00 น. จากปัจจุบันให้นั่งถึงเวลา 21.00 น.และสั่งกลับบ้านถึง 23.00 น.

นางฐนิวรรณกล่าวว่า นอกจากนี้ขอเพิ่มจำนวนที่นั่งในร้านของพื้นที่ 4 จังหวัดดังกล่าว โดยใช้การแบ่งระดับตามมาตรการป้องกันของทางร้าน คือ 50% ของพื้นที่ร้านสำหรับร้านที่ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขที่ ศบค.กำหนด และ 80% สำหรับร้านอาหารที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน Amazing Thailand Safety & Health Administration (SHA) และขอให้ร้านอาหารที่มีมาตรฐานขั้นสูงสุด จำหน่ายและบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านได้

นางฐนิวรรณกล่าวว่า นอกจากนี้ ได้ยื่นข้อเสนอเยียวยาเร่งด่วน ดังนี้ 1.จัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อพิจารณามาตรการช่วยเหลือทางการเงินเป็นการเฉพาะเกี่ยวกับภัตตาคารและร้านอาหาร 2.ออกมาตรการให้เจ้าของห้างสรรพสินค้า และผู้ให้เช่าที่ตั้งร้านลดค่าเช่าอย่างน้อย 50% อย่างน้อย 3 เดือน โดยให้เจ้าของที่ดิน อาคาร นำส่วนลดไปลดหย่อนภาษีได้ และ 3.งดจัดเก็บภาษีรอบระยะเวลาบัญชี 1 ปีที่ผ่านมา ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา สำหรับธุรกิจร้านอาหาร 4.ยืดระยะเวลาการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มออกไป 6 เดือน 5.ขอให้งดจัดเก็บภาษีโรงเรือนจากเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร เป็นเวลา 1 ปี 6.ลดค่าน้ำค่าไฟ 30% ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน 7.มีมาตรการจ่ายค่าแรงคนละครึ่ง โดยให้พนักงานเบิกค่าแรงอีกครึ่งจากประกันสังคม หรืออื่นๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image