เพราะอยากอยู่ต่อ

เพราะอยากอยู่ต่อ

เพราะอยากอยู่ต่อ

เดิมกำหนดการที่คุณชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กะการไว้ว่าที่ประชุมรัฐสภาจะเปิดประชุมพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 แบบรายมาตราระหว่างวันที่ 28-29 มิถุนายนนี้

แกนนำพรรคเพื่อไทยออกมาตีปลาหน้าไซบอกว่าที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล จะเสนอให้รัฐสภาประชุมพิจารณาเรื่องนี้วันอังคารที่ 22 มิถุนายน สัปดาห์หน้าที่จะถึงนี้ ตัดหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติซึ่งค้างวาระอยู่

โดยกล่าวหาว่าหากร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติออกมาใช้บังคับก่อน การแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องมีการลงประชามติ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นเมื่อคราวแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับและตกไป เป็นที่เข้าใจกันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราไม่ต้องผ่านการลงประชามติ ยกเว้นการแก้ไขทั้งฉบับซึ่งถือว่าเป็นการยกร่างใหม่ถึงจะต้องมีการทำประชามติ

Advertisement

ติดตามการเมืองแล้วก็เกิดความสับสนซิครับ ว่าร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราจะเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาวันไหนกันแน่ ตามกำหนดการเดิมหรือกำหนดการใหม่ และต้องมีการทำประชามติก่อนหรือไม่

คุณชวนเลยแถลงยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติจะเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาวันที่ 22 มิถุนายน จากนั้นจึงเป็นคิวของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งรับรองไม่มีการถ่วงเวลาอย่างแน่นอน

ครับ ฟังแล้วชัดเจน แจ่มแจ๋ว ติดตามดูละครการเมืองต่อไป ไม่ถูกนักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านซ้อมค้าง ปั่นกระแสเพื่อชัยชนะของตัวเองเป็นสำคัญ

Advertisement

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราจะเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาวันไหนก็ตาม ประเด็นที่สังคมติดตามนอกจากรายละเอียดการแก้ไขแล้ว ที่สำคัญจะส่งผลต่อสถานการณ์การเมืองโดยภาพรวม ผ่านไปด้วยดีหรือนำไปสู่วิกฤตรัฐธรรมนูญรอบใหม่จนกระทั่งเกิดการยุบสภาตามกระแสที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้

จุดแตกต่างของการแก้ไขรายมาตรา หลักๆ ก็มีเพียง 2 เรื่องใหญ่ คือเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งจากบัตรใบเดียว เลือกทั้งคนเลือกทั้งพรรค เป็นระบบบัตรสองใบ เลือกคนหนึ่งใบ เลือกพรรคหนึ่งใบ ซึ่งประโยชน์ได้เสียมีแตกต่างกันไปทั้งพรรคเล็ก พรรคขนาดกลาง พรรคขนาดใหญ่ พรรครัฐบาล หรือพรรคฝ่ายค้าน

กับแก้ไขเพื่อยกเลิกอำนาจวุฒิสมาชิกในการโหวตเลือกตัวบุคคลมาดำรงตำหน่งนายกรัฐมนตรี ปิดสวิตช์ ส.ว.นั่นเอง

ประเด็นหลังนี้ ที่ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลแบ่งออกเป็นสองขั้ว พรรคพลังประชารัฐแกนนำหลัก ไม่แตะต้อง อ้างว่าจะทำให้ ส.ว.ไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ไข จนไม่สำเร็จ เพราะต้องใช้เสียง ส.ว.ให้ความเห็นชอบไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของ ส.ว.ทํ้งหมด คือ 84 คน

ทั้งๆ ที่การแก้ไขเป็นการแก้รายมาตรา การลงมติให้ความเห็นชอบจะกระทำทีละประเด็นไล่เลียงกันไป ส.ว.ส่วนใหญ่อาจไม่เห็นด้วยในประเด็นที่ถูกตัดอำนาจตามมาตรา 272 แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเหมาโหลรวมไปถึงประเด็นอื่นๆ ทั้งหมดถูกคว่ำไปด้วย

การเก็บอำนาจ ส.ว.ในการเลือกตัวนายกรัฐมนตรีไว้ไม่ยอมตัดไป ด้วยข้ออ้างที่ว่าจะทำให้ ส.ว.ไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงฟังไม่ขึ้น เป็นการตีขลุม หมิ่นแคลน ส.ว.เกินไป

เพราะก่อนหน้านี้มี ส.ว.ระดับแกนนำหลายคนออกมาประกาศว่าพร้อมสละอำนาจการเลือกตัวนายกฯ เพราะวันเวลา สถานการณ์ เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

การที่พลังประชารัฐไม่แตะประเด็นนี้จึงไม่ใช่เรื่องความร่วมมือหรือไม่ร่วมมือของ ส.ว. แต่ต้องการอยู่ต่อให้นานที่สุด เก็บอำนาจ ส.ว.ไว้เพื่ออำนาจต่อรองทางการเมือง หากการแก้ไขเรื่องอื่นสำเร็จ แต่ปิดสวิตช์ ส.ว.ไม่สำเร็จ เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ จากเหตุยุบสภาก่อน หรือสภาอยู่ครบวาระก็ตาม กติกาการเลือกตัวนายกรัฐมนตรียังคงเป็นไปตามเดิม พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประโยชน์ คงได้เปรียบคนอื่นต่อไป

การแก้ไขมาตราเกี่ยวกับอำนาจ ส.ว.นี่แหละครับ จะแสดงตัวตนที่แท้จริงของ ส.ว.ทั้ง 250 คน อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ มีความจริงใจ กล้าเลิกข้อกำหนดที่ตัวเองได้เปรียบผู้อื่นหรือไม่

การไม่ยอมประกาศท่าทีชัดเจนโดยอ้างว่าไม่ต้องการชี้นำ แล้วที่ประชุมรัฐสภา ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีผลต่อการตัดสินใจของ ส.ว. ทำให้กระอักกระอ่วน เกรงอกเกรงใจในความเป็นพี่ เพื่อน น้อง บริวาร ใครจะกล้าหักหาญผู้มีบุญคุณต่อกัน

แทนที่การเมืองไทยจะก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น อิทธิพลของระบบอุปถัมภ์ยังคงปกคลุมต่อไปอีกวาระหนึ่ง

สภาวะอึมครึม อึดอัดขัดข้องภายใต้อำนาจพิเศษยังยาวนาน หลังรัฐบาลนี้ครบวาระปี 2566 แล้วก็ตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image