“เฟด” เล็งขึ้นดอกเบี้ยปี 2023 หลังศก.โต 7 เปอร์เซ็นต์ เตรียมเลิกนโยบายกู้วิกฤตโควิด

(AP Photo/Susan Walsh, Pool, File)

“เฟด” เล็งขึ้นดอกเบี้ยปี 2023 หลังศก.โต 7 เปอร์เซ็นต์ เตรียมเลิกนโยบายกู้วิกฤตโควิด

รอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน กองทุนสำรองแห่งรัฐ (เฟด) หรือธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา แถลงหลังเสร็จสิ้นการประชุมกำหนดนโยบายเป็นเวลา 2 วันว่า ที่ประชุมตัดสินใจขยับกำหนดเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง จากที่กำหนดไว้เดิมในปี 2024 มาเป็นปี 2023 และเริ่มต้นการหารือถึงกำหนดระยะเวลาและวิธีการยุตินโยบายกู้วิกฤตโควิด-19 ด้วยการซื้อพันธบัตร หลังจากสถานการณ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศรุดหน้าเร็วกว่าที่คาดไว้ โดยเฟดคาดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในปีนี้จะสูงถึง 7 เปอร์เซ็นต์

ควบคู่ไปกับการขยายตัวของเศรษฐกิจสูงกว่าที่คาด อัตราเงินเฟ้อก็คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นด้วย โดยยังคงอยู่ในแนวทางที่สูงเกินกว่าระดับเงินเฟ้อเป้าหมาย 2 เปอร์เซ็นต์ของเฟดอยู่มาก เพราะคาดว่าจะสูงถึง 3.5 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ และเฟดคาดด้วยว่า จะยังคงปรับเพิ่มขึ้นไปอีกเล็กน้อยทั้งในปี 2022 และ 2023 ในขณะที่การจ้างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับก่อนหน้าเกิดการแพร่ระบาดอยู่มากถึง 7.5 ล้านตำแหน่ง และต่ำกว่าระดับการจ้างงานสูงสุดซึ่งเป็นเป้าหมายของเฟดอยู่มาก

ทั้งนี้ที่ประชุมกรรมการกำหนดนโยบาย 18 คน เห็นว่าควรขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2023 ถึง 13 คน และมีถึง 11 คนที่เห็นว่าควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50 จุด ในขณะที่มีอีก 7 คน ที่เห็นว่าควรขยับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในปี 2022 ซึ่งส่งผลให้โอกาสที่เฟดจะหันมาใช้นโยบายเชิงรุกเร็วขึ้นด้วยการขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้ายังคงเป็นไปได้อยู่เช่นกัน

นายเจอโรม เพาเวลล์ ประธานเฟด กล่าวหลังการประชุมว่า เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเริ่มต้นได้อีกครั้ง และประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้งหนึ่งอย่างที่ทุกคนอยากเห็น อิทธิพลจากการฉีดวัคซีนช่วยลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดได้อย่างต่อเนื่อง โดยระบุด้วยว่า การเริ่มต้นการหารือถึงกำหนดเวลาในการยุติโครงการอุ้มเศรษฐกิจด้วยการซื้อพันธบัตรของคณะกรรมการนโยบายของเฟดนั้น ควรได้รับการยึดถือว่าเป็นสัญญาณแสดงความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่รวดเร็วกว่าที่คิดกันไว้แต่เดิม

Advertisement

“การบรรลุถึงสภาวะที่ต้องยุติโครงการดังกล่าวนั้น โดยหลักแล้วเป็นการส่งสัญญาณว่า การฟื้นตัวเป็นไปอย่างแข็งแกร่ง ไม่จำเป็นต้องรักษาอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ใกล้ศูนย์อีกต่อไป” นายเพาเวลล์ระบุ

อย่างไรก็ตาม เฟด จะยังคงรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยไว้ใกล้ 0 เปอร์เซ็นต์ และนโยบายการซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่อัตรา 80,000 ล้านดอลลาร์ และหลักทรัพย์เพื่อการเช่าซื้อ อีก 40,000 ล้านดอลลาร์ต่อเนื่องต่อไปอีก จนกว่าจะถึงกำหนดเวลายุติ ซึ่งนายเพาเวลล์รับปากว่า จะมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายใดๆ ในอนาคต

หลังการแถลงส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐอเมริการ่วงลงทันที โดยดัชนี เอสแอนด์พี 500 ปิดลดลง 0.5 เปอร์เซ็นต์ สวนทางกับผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ปรับขึ้นจาก 1.49 เปอร์เซ็นต์เป็น 1.56 เปอร์เซ็นต์ ส่วนพันธบัตรอายุ 2 ปี ทำสถิติปรับขึ้นวันเดียวสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ โดยขึ้นไปอยู่ในระดับสูงสุดของปีที่ 0.12 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ดัชนีตาดหุ้นในเอเชียผันผวนตามการร่วงของดัชนีหุ้นสหรัฐอเมริกาตามไปด้วยเมื่อเปิดตลาดวันที่ 17 มิถุนายนนี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image