ภาพเก่าเล่าตำนาน

ภาพเก่าเล่าตำนาน

นี่คือการ “กดขี่” และ “ถ่ายเทภาระ” ที่แสนสาหัสต่อ “เด็กผู้หญิง” ในอินเดียมาช้านานเป็นพันปี …

ประเทศอินเดียในแต่ละปี… มีเด็กผู้หญิงที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะประมาณ 1.5 ล้านคนต้องแต่งงาน แม้ช่วงโควิด-19 ระบาดใหญ่ก็มิได้เป็นอุปสรรคใดๆ …

เด็กสาวอายุราว 10 ขวบ จะถูกประโลมด้วยกลิ่นและสีต่างๆ …ขมิ้นสีเหลืองเข้ม จะถูกทาที่มือและใบหน้า เส้นผมของเด็กน้อยจะถูกชโลมเป็นแถบสีแดงสด…แทบทุกคนน้ำตารินด้วยความคับแค้น

Advertisement

ภาพเช่นนี้… ยืนยันได้ว่า…มีงานแต่งงานเกิดขึ้น

เรื่องราวที่จะนำมาบอกเล่าตอนนี้… เป็นเรื่องจริงที่พ่อ-แม่จำนวนมากในอินเดียเร่งรัด หื่นกระหาย ที่จะจัดการแต่งงานให้ลูกสาวในขณะที่ “หนูน้อย” นับล้านคน…ที่มีอายุไม่ถึง 10 ขวบ

Advertisement

มีเด็กชายและหญิงนับล้านคนที่ต้องเข้าพิธีแต่งงาน ทั้งๆ ที่ยังไร้เดียงสาที่จะเข้าใจการแต่งงาน คือ อะไร และจะนำไปสู่อะไร

อินเดียมีจำนวน “เจ้าสาวเด็ก” มากที่สุดในโลก

มีเหตุผลหลายประการที่จะตกลงให้มีการสมรสระหว่างเด็ก… ด้วยความจำเป็นทางเศรษฐกิจ หรือ ฝ่ายหญิงต้องการการคุ้มครองจากฝ่ายชายที่มีอำนาจ มีเงิน มีบารมี

“ความปลอดภัยของเด็กผู้หญิง” ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่จะรีบยกเด็กน้อยให้ฝ่ายชาย กลไกของรัฐก็ไร้ประสิทธิภาพ…

ในดินแดนภารตะ…“ฝ่ายหญิง” จะต้องเป็นฝ่ายหาเงิน เสียเงินเพื่อมอบให้แก่ครอบครัวของเจ้าบ่าว…

พ่อแม่จะ “จัดการ” ให้ลูกแบบเบ็ดเสร็จ… การพบรักกันเองระหว่างชาย-หญิง…จะถือว่าเป็นการกระทำผิดใหญ่หลวง… น่าอับอาย

ยิ่งลูกสาวมีอายุมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ฝ่ายเจ้าบ่าวจะเรียกค่าสินสอดได้สูงมากเท่านั้น

เด็กหญิงอายุไม่ถึง 10 ขวบ นับล้านคน ต้องเป็นทาสทั้งชีวิต

ในดินแดนชมพูทวีป…มีคดีข่มขืนจำนวนมาก ชุมชน ทั้งเมืองและชนบท อันตรายที่สุดสำหรับเด็กหญิง…

ค่านิยมดั้งเดิมของชาวอินเดียที่มีลักษณะ “การกดขี่” ที่หนูน้อยต้องเชื่อฟังโดยปราศจากข้อกังขา

เด็กผู้หญิงจะถูกกีดกันเด็ดขาดเรื่องการเรียนหนังสือ ความต่างชั้น วรรณะ ผู้ด้อยโอกาส และชุมชนที่ยากจน คือ หายนะของชีวิต

ในสังคมอินเดีย…ผู้หญิงต้องศิโรราบ

ช่วงที่อังกฤษเข้ามาปกครองอินเดีย ได้พยายามแก้ไข ขจัดความเชื่อ พิธีกรรม ความงมงายหลายชนิด หากแต่สิ่งเหล่านี้ฝังรากลึก

พ.ศ.2504 เคยมีกฎหมายห้ามการเรียกสินสอดทองหมั้นจากฝ่ายหญิง แต่ในความเป็นจริง …สินสอดจะขาดเสียมิได้

พ่อ-แม่ ฝ่ายหญิงจึงต้อง “รวบรัด” ให้มีคู่ตั้งแต่ในวัยเด็ก

เด็กหญิงถูกตีตราว่าเป็น “ภาระทางเศรษฐกิจ” ซึ่งควรจะต้องย้ายไปอยู่กับครอบครัวของฝ่ายชายหลังแต่งงานให้เร็ว

หลายครอบครัวมองลูกสาวไม่ต่างจาก “หนี้สิน”

ทุกเวลานาทีของครอบครัวเด็กหญิง ต้องหาทาง “ลดค่าใช้จ่าย” โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับครอบครัวที่ยากจน

“การตกลงกันของพ่อ-แม่” ทั้งสองฝ่าย ก็เป็นเรื่องที่ win-win สำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น

การจับคู่ให้ลูก โดยที่ลูกไม่รู้เรื่อง…ที่เรียกว่า “การคลุมถุงชน” คือ ความพยายามของครอบครัวทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อให้แน่ใจว่าลูกของพวกเขาจะไม่แต่งงานกับบุคคลที่มีวรรณะต่ำกว่า

เด็กน้อยส่วนมากในอินเดียจึงต้องแต่งงานกับคนที่พ่อแม่จัดให้อย่างไม่มีทางเลือก

“ความทะเยอทะยาน” ของพ่อ-แม่ จะเป็นหลักในการตัดสินใจ และปลายทาง คือ การแต่งงาน ใช้ชีวิตร่วมกัน มีลูก มีหลาน

เด็กสาวคนหนึ่ง…บอกกับนักข่าวต่างประเทศว่า “แม่ของฉันบอกว่าการแต่งงานสำคัญกว่าการศึกษา ไม่ว่าฉันจะเรียนสูงแค่ไหน มีรายได้แค่ไหน… ในที่สุดฉันก็จะต้องทำงานบ้านและเลี้ยงลูกเท่านั้น”

องค์การยูนิเซฟระบุว่า “การแต่งงานในเด็ก” หมายถึงการแต่งงานของเด็กหญิงหรือเด็กชายก่อนอายุ 18 ปี หมายรวมถึงการแต่งงานที่เป็นทางการและการแต่งงานแบบไม่เป็นทางการ

การสมรสในวัยเด็ก ถือเป็นเรืองผิดกฎหมายในอินเดีย ปี พ.ศ.2472 รัฐบาลอินเดียผ่านกฎหมายห้ามจัดงานแต่งงานแก่เด็กสาวที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และเด็กหนุ่มอายุต่ำกว่า 21 ปี

พ.ศ.2549 รัฐบาลปรับปรุงกฎหมายอีกครั้ง ระบุเพิ่มเติมว่าบรรดาครอบครัวที่อนุญาตหรือสนับสนุนให้มีการจัดงานแต่งงานจะเผชิญกับบทลงโทษจำคุก 2 ปี โดยไม่มีเงื่อนไข

กฎหมายนี้ยังประกาศด้วยว่าการสมรสระหว่างเด็กที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์ตามกฎหมายถือเป็นโมฆะ และการกระทำดังกล่าวยังมีบทลงโทษสำหรับความผิดต่างๆ ในการอนุญาตหรือดำเนินการสมรสกับเด็กระหว่างผู้เยาว์หรือแต่งงานกับผู้เยาว์กับผู้ใหญ่

เจ้าสาววัยเด็ก…ส่วนมากจะมีชีวิตที่โดดเดี่ยวหลังแต่งงาน ซึ่งในหมู่บ้านเล็กๆ ก็ไม่มีงานอะไรให้ทำ ไม่มีรายได้…

สามีวัยหนุ่มจึงต้องเดินทางเข้าเมือง นั่นทำให้สามีภรรยาต้องติดต่อกันผ่านทางโทรศัพท์ …ชาวต่างชาติที่เข้าไปศึกษาชีวิตของคนเหล่านี้มีความเห็นว่า “…คุณจะคาดหวังว่าเด็กวัย 15 ปีจะเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์หรือการแต่งงานมากแค่ไหน …พวกเขาไม่มีความรู้ ไม่มีเงิน และยังเด็กเกินไปที่จะมีลูก …นี่มันเป็นวงจรอุบาทว์ที่ไม่มีวันสิ้นสุด…”

ที่กล่าวมาในตอนต้น คือ “เด็กชายกับเด็กหญิง”

ยังมีกรณี “ความน่าสมเพช” ที่เกิดขึ้นจริง…

การ “แต่งงานลับ” ระหว่างเด็กหญิงอายุไม่ถึง 10 ขวบ กับเจ้าบ่าววัยกลางคน…

เด็กหญิงทาฮานี อายุเพียง 6 ขวบ ต้องทนทุกข์ แต่งงานกับนายมาเจช วัย 25 ปี โดยเธอกล่าวว่า… แม้แต่ใบหน้าของราเจช เธอก็ไม่อยากจะมองด้วยซ้ำ เช่นเดียวกับ เด็กหญิงกาดา อดีตเพื่อนร่วมชั้นเรียนของทาฮานีหนูน้อยคนนี้ก็ต้องประสบกับชะตากรรมเช่นเดียวกัน พวกเธอกลายเป็นเจ้าสาวตั้งแต่อายุไม่ถึง 10 ขวบ

กรณีเช่นนี้…มีไม่น้อย ถือว่าผิดกฎหมาย แต่ใครจะไปใส่ใจ เพราะเงินจากฝ่ายชาย “มัดใจ” พ่อ-แม่ของเด็กน้อยอย่างดิ้นไม่หลุด

เด็กหญิงที่แต่งงานแล้ว พวกเธอต้องอาศัยอยู่ในบ้านพักจนกระทั่งโตเป็นสาว ไม่กล้าที่จะหลบหนี หรือแจ้งตำรวจ เพราะถูกขู่ไว้ว่า… หากก้าวเท้าหนีออกไปจากบ้านหลังนี้ เธอจะต้องจบชีวิตลง

พ.ศ.2560 สื่อของอินเดีย…ชื่อ IndiaSpend ได้เปิดเผยสถิติว่า ร้อยละ 84 ของเด็กในอินเดียเกือบ 12 ล้านคน ที่แต่งงานก่อนอายุครบ 10 ขวบ มาจากครอบครัวชาวฮินดู ในขณะที่มีเด็กจากครอบครัวมุสลิมเพียงร้อยละ 11 ที่แต่งงานก่อนอายุครบ 10 ขวบ

พิมพ์ไม่ผิดครับ…หนูน้อยถูกจับแต่งงานก่อนอายุ 10 ขวบ

จำนวนเด็กหญิงที่แต่งงานก่อนวัยอันควร มีมากถึง 7.84 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 65 … เด็กหญิงที่แต่งงานก่อนวัยอันควร จำนวน 8 ใน 10 คน เป็นผู้ไม่รู้หนังสือ หรืออ่านไม่ออก เขียนไม่ได้

สังคมในอินเดีย ก็มิได้แยแส ใส่ใจเรื่องของกฎหมาย

ย้อนไปในปี พ.ศ.2554 เด็กหญิงในอินเดีย 102 ล้านคน แต่งงานก่อนถึงวัยที่กฎหมายกำหนด

“พิธีแต่งงานลับ” ที่ชายแก่กับเด็กน้อย เป็นเรื่องของการตกลงของผู้ใหญ่ในครอบครัว หลายคู่…เป็นการตอบแทนบุญคุณ

พิธีแต่งงานลับจะจัดขึ้นในช่วงกลางดึกยามค่ำคืน เพื่อแน่ใจว่าทางการจะไม่มาเห็นพิธีกรรมดังกล่าว เพราะถือว่าการแต่งงานลับเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย

คิดเล่นๆ สำหรับวงจรการใช้ชีวิตแบบนี้ …ผู้หญิงอินเดียที่มีอายุ 30 ปี ก็แทบจะเป็น “คุณยาย” กันทั้งแผ่นดิน

ผู้เขียนมิได้จงใจจะ “โฟกัส” ไปที่อินเดียแห่งเดียว… ในแอฟริกาก็ไม่แปลกสำหรับกรณีเช่นนี้…

แม้ชาวอินเดียที่อพยพไปทำมาหากินในอังกฤษก็ยังไม่วาย…

ครอบครัวชาวอินเดียที่ไปใช้ชีวิตในอังกฤษ… คุณจาสวินเดอ แซงกีร่า ได้ออกมาเปิดเผยกับ VOA (Voice of America) ว่า…

ในครอบครัวชาวอินเดีย… พ่อแม่บังคับให้บรรดาพี่สาวทุกคนของเธอออกจากโรงเรียนที่อังกฤษตอนอายุครบ 15 ปี แล้วจับแต่งงานกับผู้ชายที่พ่อแม่เลือกให้
โดยไม่เคยเจอหน้ากันมาก่อน

เธอกล่าวต่อว่า…พอเธออายุ 14 ปี แม่ให้เธอดูรูปผู้ชายคนหนึ่งที่พ่อแม่หมั้นหมายให้ …บอกว่าเตรียมไว้ตั้งแต่เธออายุ 8 ขวบ

ในที่สุด… เธอปฏิเสธการแต่งงานแล้วหนีออกจากบ้านทำให้พ่อแม่และพี่น้องประกาศตัดญาติเพราะเห็นว่าเธอสร้างความละอายแก่ครอบครัว

เธอยังเล่าแบบไม่เกรงกลัวว่า…แม้ว่าเธอจะเกิดและเติบโตในอังกฤษประเทศพัฒนาแล้ว ครอบครัวของเธอยังใช้ชีวิตของชาวอินเดียดั้งเดิมที่ยังนิยมให้ลูกสาวออกเรือนให้เร็วที่สุด

ปัจจุบันเธอหันมาทำงานรณรงค์สร้างความตื่นตัวต่อปัญหาการบังคับเด็กหญิงแต่งงาน…

การบังคับลูกสาว “ออกเรือนก่อนวัย” ยังพบมากในกลุ่มคนจากทวีปเอเชียใต้ ทวีปอเมริกาใต้และชาติแอฟริกาที่อยู่ทางใต้ของทะเลทรายซาฮารา

การรักษาศักดิ์ศรีของครอบครัวก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กหญิงถูกจับแต่งงานก่อนที่จะพร้อม…และมีความรัก

คุณแอน ก็อดดาร์ด จากองค์กรเอกชน Child Fund International ให้ข้อมูลว่า…พ่อแม่บางครอบครัวกลัวว่าลูกสาวจะสร้างความละอายแก่ครอบครัว เพราะอาจจะแอบมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานและตั้งท้อง จึงบังคับให้แต่งงานไปเสียก่อนตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาล่วงหน้า…

เธอเห็นว่า…การให้เด็กผู้หญิงไปโรงเรียนภาคบังคับให้นานปีขึ้นจะสามารถยุติการจับเด็กหญิงแต่งงานก่อนวัยอันสมควรได้

องค์กรระหว่างประเทศมีบทบาทมากในการเข้าไปช่วยเหลือในอินเดีย และอีกหลายประเทศที่ยัง “กดขี่” และ “หากิน”

บางประเทศในแอฟริกา ทางการใช้วิธี “แจกอาหาร” แก่เด็กหญิงทุกปลายสัปดาห์เพื่อเป็นข้อแลกเปลี่ยนให้ครอบครัวของเด็กยอมส่งลูกสาวไปโรงเรียน ทำให้พ่อแม่อ้างไม่ได้ว่าไม่มีเงินเลี้ยงลูกหรือขาดแคลนแรงงานทำมาหาเลี้ยงครอบครัว

โดยเฉพาะประเทศอัฟกานิสถานเพียงประเทศเดียวที่มีเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 16 ต้องกลายเป็นเจ้าสาวมากถึงร้อยละ 57

เด็กสาวจะถูกบังคับแต่งงานกับชายที่แก่กว่าเธอเป็นสิบๆ ปี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เด็กสาวจะถูกลักพาตัวหรือถูกข่มขืนหากเธอไม่ยินยอม

เด็กผู้หญิงที่ถูกบังคับให้แต่งงานในวัยเด็ก จะตั้งครรภ์ได้ทันที ซึ่งมักจะนำไปสู่การเกิดโศกนาฏกรรมสำหรับทั้งแม่และเด็ก เพราะร่างกายของพวกเธอยังไม่เติบโตอย่างเต็มที่

แพทย์คนหนึ่งที่อยู่ในประเทศเยเมน (ในทวีปแอฟริกา) กล่าวว่า …เด็กสาวที่ถูกบังคับให้มีกิจกรรมทางเพศ และการคลอดลูกก่อนที่พวกเธอจะมีร่างกายเป็นผู้ใหญ่เต็มวัยจะมีปัญหา…

“…ผนังช่องคลอดของเด็กจะฉีกและแตกภายใน ทำให้เกิดปัญหาในการเสียชีวิตและอายุสั้น เด็กหญิงไร้เดียงสาเกินไปที่จะเข้าใจเกิดอะไรขึ้นกับเธอ…”

ท่านผู้อ่าน… ลองหาอ่านเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลอื่นๆ นะครับ พิธีแต่งงานลักษณะนี้…เด็กหญิงน้ำตานองหน้าแทบทุกงาน

เด็กน้อยเหล่านี้ล้วนต้องการเรียนหนังสือ และต้องการหนีไปให้ไกลสุดชีวิตจากถิ่นกำเนิดและพ่อ-แม่ ที่แสนอำมหิต

มีคำกล่าวที่เสียดแทงใจ…แต่ตรงประเด็น

“ถ้าจะเกิดในประเทศอินเดีย อย่าเกิดเป็นผู้หญิงกับวัวตัวผู้”

“วัวตัวผู้” นั้นจะเป็นเหมือนกับภาระที่จะต้องคอยเลี้ยงดู ต่างกับ “วัวตัวเมีย” ที่ยังให้ “น้ำนม” เป็นผลตอบแทน

วัว เป็นสัตว์พาหนะของเทพเจ้า จะนำมาฆ่ากินเนื้อก็ไม่ได้ วัวตัวผู้จึงต้องถูกปล่อยตามยถากรรม บางตัวถูกผูกไว้กับหลัก ปล่อยให้ตายไปเองเพื่อเป็นการตัดภาระ

และถ้าเกิดเป็น “ผู้หญิง” ก็จะต้องเผชิญเรื่องบังคับให้แต่งงานตั้งแต่เด็ก ลูกสาว คือภาระของพ่อแม่ที่ต้องเสียค่าสินสอด

พ่อแม่ที่ต้องการ “ปลดเปลื้องภาระ” มักจะปล่อยให้ทารกหญิงเสียชีวิต ปีละหลายพันราย… อินเดียมีประชากรราว 1.4 พันล้านคน

เรื่องแบบนี้ เกิดขึ้นเป็นปกติ คุ้นเคย ต่อเนื่อง ยาวนาน มาเป็นพันปีแล้ว ลองคิดดูว่าต้องมีเด็กผู้หญิงเสียชีวิตไปเท่าใด

มนุษย์ด้วยกันนี่แหละ…อำมหิตที่สุด

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

http://www.indiaspend.com/cover-story/84-of-12-million-married-children-under-10-are-hindus-82446/amp

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image