หมอระบาดชี้ยอดติดโควิดในกรุงไม่สัมพันธ์คลัสเตอร์ แนะจับตาชุมชน-กลุ่มรับเหมาช่วง

แฟ้มภาพ
หมอระบาดชี้ยอดติดโควิดในกรุงไม่สัมพันธ์คลัสเตอร์ แนะจับตาชุมชน-กลุ่มรับเหมาช่วง

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะแพทย์เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา ให้สัมภาษณ์วิเคราะห์ถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล  ขณะนี้เป็นลักษณะการระบาดมีทั้งคลัสเตอร์ใหญ่ เช่น แคมป์คนงานหลักสี่ ชุมชนคลองเตย ฯลฯ ส่วนใหญ่จะเป็นคลัสเตอร์ขนาดกลางที่จำนวนผู้ติดเชื้อไม่ถึงหลักพันราย แต่มีหลายคลัสเตอร์ ซึ่งขณะนี้มีรวมๆ 110 คลัสเตอร์ ทำให้พื้นที่การทำงานกระจายออก ส่งผลให้มีจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อค่อนข้างมาก การควบคุมโรคก็มีความซับซ้อน ต้องใช้บุคลากรลงไปทำงานจำนวนมาก

“สร้างความเครียดให้คนทำงานค่อนข้างมากพอสมควร จำนวนคลัสเตอร์ที่เห็นในกรงเทพฯ เป็นคลัสเตอร์แคมป์คนงานจำนวนหนึ่ง ส่วนที่เหลือคือ ชุมชนแออัด โรงงาน และเชื่อว่าตอนนี้ยังมีคลัสเตอร์ที่เราระบุได้ไม่หมดอีกจำนวนหนึ่ง ครั้งที่คุยกับทีมงานถึงตัวเลข หากเราดูจำนวนผู้ป่วยรายวัน จะมียอดหนึ่งที่ไม่สัมพันธ์กับคลัสเตอร์ ซึ่งทีมงานต้องใช้ความพยายามติดตามตัวเลขส่วนนี้อยู่ว่า อยู่ที่ไหน มาจากไหน เพราะเชื่อว่าส่วนนี้เป็นคลัสเตอร์ที่ยังไม่ได้ระบุอีกจำนวนหนึ่ง” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า มาตรการบับเบิล แอนด์ ซีล (Bubble and seal) เพื่อควบคุมการระบาดในกลุ่มแรงงานใน จ.สมุทรสาคร ในช่วงการระบาดระลอกที่ 2 ของประเทศไทย เมื่อเดือนธันวาคม 2563 หากเทียบสถานการณ์ระบาดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงใน จ.สมุทรสาคร ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ไม่เหมือนกับในระลอกที่ผ่านมา วิธีปฏิบัติควบคุมก็ต่างกัน

“ขณะที่เกิดระบาดในแรงงานสมุทรสาคร พบโรงงานใหญ่ติดเชื้อ 9 แห่ง ส่วนโรงงานอื่นๆ ติดเชื้อน้อย เราก็ใช้การสอบสวนควบคุมโรคเพื่อหยุดการระบาด ซึ่งมาตรการเกิดขึ้นเราไม่ได้ให้เขาหยุดงาน ยังสามารถทำงานได้ปกติ แทบไม่มีโรงงานโดนสั่งปิด แต่ใช้วิธีการกันไม่ให้แรงงานสัมผัสประชาชนกลุ่มอื่น และพยายามลดการติดเชื้อในกลุ่มแรงงาน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 เดือนเศษ อัตราการติดเชื้อก็ลดลงในระดับที่เรารับได้ สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ และเราก็คอยติดตามสถานการณ์ พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ ลดลงไปเรื่อยๆ เหลือเลขหลักเดียวในช่วงต้นเดือนเษายน 2564” ผู้ตรวจราชการ สธ.เขตสุขภาพที่ 5 กล่าว

Advertisement

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า มาตรการบับเบิล แอนด์ ซีล จะมีสภาวะที่เกิดขึ้นจริงคือ กลุ่มประชากรหนึ่งมีอัตราติดเชื้อมากกว่ากลุ่มที่อยู่ใกล้เคียงโดยรอบ

“วิธีคิดการป้องกันไม่ให้เชื้อในพื้นที่มีความเข้มข้นสูงไหลออกมานอกพื้นที่ หรือไหลสู่ชุมชนรอบข้างที่มีความเข้มข้นต่ำกว่าด้วยการสร้างบับเบิลฯ เป็นกำแพงขึ้นมา เราต้องลดการสัมผัสของคน 2 กลุ่มลง กำหนดเส้นทาง มีรถรับ-ส่งแรงงาน ไม่แวะที่อื่นระหว่างเดินทาง ไม่ออกนอกพื้นที่ และต่อไปคือ ลดการติดเชื้อในบับเบิลฯ ให้เร็วที่สุด นายจ้างจึงมีส่วนสำคัญในการควบคุมมาตรการในโรงงานและหอพักของคนงาน หากสามารถทำได้ก็จะช่วยปัญหาได้ค่อนข้างมาก” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า แต่สถานการณ์ในกรุงเทพฯ มีทั้งแรงงานไทยและต่างชาติทำงานร่วมกัน เช่น โรงงาน ที่คนไทยมีบ้านอยู่ในหลายพื้นที่ เช้านั่งรถไปทำงาน เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น ต้องดูว่าจะจัดการกับคนไทยอย่างไร

Advertisement

“จะให้อยู่ในบับเบิลฯ เหมือนกัน จึงเป็นเรื่องที่ยาก ดังนั้น เมื่อมีการนำมาตรการมาใช้ต้องปรับให้เข้ากับบริบท และต้องมีกำลังบุคลากรมากพอในการทำความเข้าใจกับทุกฝ่าย ยิ่งมีความซับซ้อนของประชากร การพูดคุยกันเพื่อให้เกิดความร่วมมือเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก หากทุกคนรู้หน้าที่ตัวเอง เข้าใจสถานการณ์ และตั้งใจจะช่วยจริงๆ มันก็ยังพอไปได้” นพ.ธนรักษ์ กล่าวและว่า ความท้าทายอีกอย่างคือ กลุ่มรับเหมาช่วง (Sub-contractor) ในหลายแคมป์ หากควบคุมไม่ดี ก็จะติดเชื้อไปในแคมป์อื่นทำให้บับเบิลฯ รั่ว จึงต้องมีวินัยอย่างสูง

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สิ่งที่ประชาชนต้องเข้มงวดคือ ตัวเอง ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และเว้นระยะห่าง ทั้งนี้ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการสัมผัสผู้ติดเชื้อ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับตนเองและครอบครัว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image