อัยการยื่นฟ้องสมยศกับพวกรวม 3 คน หมิ่นศาลเหตุชุมนุมนัดสอบคำให้การพรุ่งนี้ 1 ก.ค.

สมยศ พฤกษาเกษมสุข

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พนักงานอัยการคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายณัฐชนน ไพโรจน์ ,น.ส.เบนจา อะปัญ และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำและแนวร่วมม็อบราษฎร กับพวกรวม 3 คน ความผิดฐาน ร่วมกันดูหมิ่นศาล หรือผู้พิพากษาในการพิจารณา, ร่วมกันมั่วสุม ตั้งแต่ 10 ขึ้นไปกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองและเมื่อเจ้าหน้าที่สั่งให้ผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิก แต่ผู้กระทำไม่เลิกมั่วสุม ร่วมกันชุมนุมหรือจัดกิจกรรมที่แออัดเกินกว่า 20 คน โดยไม่ได้รับอนุญาตในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคติดต่อ และร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า โดยไม่รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1-3 ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา

โดยคำร้องระบุพฤติการณ์ว่า กรณีวันที่ 30 เม.ย.2564 มีผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม 200-300 คน รวมตัวหน้าศาลอาญา โดยใช้เครื่องกระจายเสียงโดยรถยนต์และตะโกนโจมตีการทำงานของศาลอาญาเพื่อกดดันให้ศาลมีคำสั่งปล่อยตัว นายพริษฐ์ หรือเพนกวิน ชิวารักษ์ กับพวกแกนนำม็อบ 7 คน ในความผิดหมิ่นเบื้องสูง มาตรา 112 โดยจำเลยที่ 1-3 เข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมดังกล่าวอันเป็นการชุมนุมทำกิจกรรมมั่วสุม สถานที่แออัด อันมีโอกาสติดต่อสัมผัสเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกำหนด จำเลยที่ 1-3 กับพวกไม่ได้จำกัดทางเข้า-ออก ในการร่วมกิจกรรมชุมนุมทางการเมืองและไม่จัดให้ผู้เข้าร่วมสวมหน้ากากอนามัย และไม่จัดให้มีการเว้นระยะห่าง เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่จัดให้จุดบริการเจลแอลกอฮอล์ เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์เข้าไปดูแล ในการป้องกันการแพร่ระบาดเป็นการฝ่าฝืนประกาศของ กทม. มาตรการควบคุมบูรณาการการจัดกิจกรรมเสี่ยงแพร่โรคไวรัสโควิด-19 จนต้องมีการขออนุญาตโดยยื่นแผนการจัดงานและมาตรการคุมโรคต่อสำนักงานอนามัย กทม. ภายหลังจำเลยร่วมกันกระทำความผิดดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1-3 ได้มั่วสุม ตั้งแต่ 10 คน กระทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ร่วมกันมั่วสุมจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์โกนผม เผารูปผู้พิพากษา ประมวลกฎหมายอาญา และดอกไม้จันทน์ และกระดาษผู้มีรายชื่อเรียกร้องให้ศาลปล่อยชั่วคราว พร้อมติดป้ายขนาดใหญ่ ข้อความว่าปล่อยเพื่อนเรา และพ่นสีบนกำแพงศาลอาญา ด้วยถ้อยคำหยาบคาบ มีวัตถุประสงค์เพื่อตำหนิกดดัน ขู่เข็ญ ผู้พิพากษาหรือ ศาล เพื่อปล่อยตัวจำเลย ซึ่งเป็นแกนนำอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลเพื่อให้ผู้ชุมนุมเคลือบแคลงสงสัย เกลียดชัง และความน่าเชื่อถือ หรือศรัทธาในการใช้ดุลยพินิจของศาล ก่อกวนการทำงานด้านในรั้วของศาล อันเป็นที่ทำการซึ่งมีข้อกำหนดในการปฏิบัติตัว ส่งผลกระทบต่อการจราจร เดือดร้อนวุ่นวายประชาชน และยังดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี

โดยท้ายคำฟ้อง จำเลยที่ 1 และ จำเลยที่ 3 เป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีอื่นของศาลอาญา หากศาลพิพากษาจำคุก จำเลยที่ 1 และ 3 ในคดีนี้ ขอให้นับโทษต่อในคดีอื่นด้วย โดยก่อนคดีนี้ จำเลยที่ 3 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 11 ปี ในความผิดฐานหมิ่นสถาบันเบื้องสูง และได้พ้นโทษคดีแล้ว เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2561 แต่จำเลยที่ 3 กลับมากระทำความผิดในคดีนี้ภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่พ้นโทษ จำเลยมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี และไม่ใช่ความผิดคดีประมาท ของให้เพิ่มโทษ 1 ใน 3 ของโทษที่กำหนดด้วย หากจำเลยทั้งสามยื่นขอปล่อยชั่วคราว ให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล ศาลนัดสอบคำให้การจำเลยวันที่ 1 ก.ค. 2564 เวลา 08.30 น. ขณะนี้จำเลยอยู่ระหว่างยื่นประกันตัว ภายหลังอัยการยื่นฟ้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image