ศธ.ถกปัญหา ‘PISA’ ต่ำต่อเนื่อง ‘รมช.’ เร่งเวิร์กช็อปครูแกนนำ ยกเครื่อง’อ่าน-คิด-วิเคราะห์’

ศธ.ถกปัญหา ‘PISA’ ต่ำต่อเนื่อง ‘รมช.’ เร่งเวิร์กช็อปครูแกนนำ ยกเครื่อง’อ่าน-คิด-วิเคราะห์’

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจการขับเคลื่อนนโยบาย “เด็กไทยวิถีใหม่ อ่านออกเขียนได้ทุกคน” เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันระดับนานาชาติ ผ่านระบบออนไลน์ ว่า ตนได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ศึกษานิเทศก์ ผู้อำนวยการโรงเรียน และครูที่สอนในระดับมัธยมศึกษา ในสังกัด สพฐ. รวมแล้วหว่า 11,000 คน เพื่อหารือและชี้แจงแนวทางการแก้ไขปัญหาและยกระดับความสามารถด้านการอ่านให้กับเด็กไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันระดับนานาชาติ โดยเฉพาะการสอบ Programme for International Student Assessment หรือ PISA ที่ทดสอบความสามารถในด้านCompetency ของนักเรียนอายุ 15 ปีจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งดำเนินการโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD จากผลการสอบที่ผ่านมาพบว่าคะแนนสอบเรื่องการอ่าน ต่ำลงทุกครั้ง โดยที่ประชุมหารือกันว่าอะไรปัญหาที่เป็นอุปสรรค อะไรต้องแก้ไข พร้อมกับหาสาเหตุว่าทำไมคะแนนการอ่านของเด็กลดลงทุกปี ทั้งที่ศักยภาพของเด็กไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก

คุณหญิงกัลยา กล่าวต่อว่า โดยที่ประชุมได้ประเมินและทราบถึงสาเหตุของปัญหาแล้ว ทาง สพฐ.มีเวลา 1 ปี ที่จะพัฒนาการอ่านของนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นได้ เพื่อรองรับการสอบ PISA ในเดือนสิงหาคม 2565 นี้ โดยที่ประชุมมีข้อสรุปว่า จะเร่งยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้นานาชาติได้เห็น โดยจะอบรมครูและทำเวิร์กช็อปสอนครูแกนนำ เพื่อให้ครูแกนนำไปพัฒนานักเรียนต่อไป และหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 คลี่คลาย จะขยายผลโดยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาครูที่สอนระดับมัธยมศึกษาทั้งหมด จากการประเมินของเจ้าหน้าที่ พบปัญหาว่าเด็กทำข้อสอบได้ แต่พบปัญหาเรื่องการอ่าน การทำความเข้าใจข้อสอบ ดังนั้น ศธ.ต้องเสริมกระบวนการคิดให้กับนักเรียน

“ทั้งนี้ ดิฉัน เสนอไปว่าครูและนักเรียนควรจะนำข้อสอบปีก่อน มาลองทำก่อน และเพื่อดูว่านักเรียนและครูเข้าใจข้อสอบหรือไม่ และจะได้ทำเป็นแนวทางในการพัฒนาและแก้ไขปัญหา โดยจะเน้นพัฒนาครูในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เพื่อให้ครูไปสอนเด็กให้คิดอ่านได้อย่างลึกซึ้ง ไม่ใช้อ่านเพื่อนำไปสอบเหมือนที่ผ่านมา โดยจะเริ่มพัฒนาครูตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ไม่ใช่ครูในสังกัด สพฐ.เท่านั้น แต่จะพัฒนาให้ความรู้ครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ครูในสังกัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) ด้วย ดิฉันมองว่าถ้าเราสามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาของเด็นด้านการอ่าน โดยส่งเสริมให้เด็กอ่านรู้เรื่อง ตีความได้ ก็จะทำให้เด็กสามารถเรียนวิชาอื่นได้ดี ซึ่งจะทำให้เห็นว่าเด็กไทยมีศักยภาพ มีความสามารถไม่แพ้ชาติใดในโลก” คุณหญิงกัลยา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image