พช.อุบลฯ ขับเคลื่อน ‘โคก หนอง นา พช.’ แปลง CLM อ.โพธิ์ไทร พัฒนาคุณภาพชีวิต

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่แปลงตัวอย่าง CLM น.ส.วาสนา สืบอ้วน บ้านเกาะแกด หมู่ที่ 8 ตำบลโพธิ์ไทร อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ลงพื้นที่ติดตามสนับสนุนการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” แปลงตัวอย่างพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับตําบล (Community Lab Model for quality of Life : CLM) นางสาววาสนา สืบอ้วน บ้านเกาะแกด หมู่ที่ 8 ตำบลโพธิ์ไทร อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี และประชุมวางแผนการขับเคลื่อนและปฏิบัติงานในแปลง โดยได้รับความเมตตาจากพระครูสุขุมวรรโณภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ รวมถึง สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอโพธิ์ไทร นำโดย น.ส.ปาณิสรา ใจเย็น พัฒนาการอำเภอโพธิ์ไทร เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอ ตลอดจนเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติปูทะเลย์ มหาวิชชาลัย ป่าดงใหญ่วังอ้อ และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ในพื้นที่ร่วมให้ความร่วมมือในการวางแผนการขับเคลื่อนแปลง CLM แห่งนี้ให้เป็นศูนย์เรียนรู้โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบระดับประเทศหรือ “มหานครแห่งโคก หนอง นา” ให้สมตามความคาดหวังของเจ้าของแปลง

สำหรับการประชุมฯ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้ความเข้าใจในหลักการโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” โดยร่วมกันพิจารณาแบบมาตรฐานที่จะใช้เป็นแบบในการขุดปรับพื้นที่ พร้อมปรับแบบให้เป็นไปตามความต้องการของเจ้าของแปลง โดยยึดความถูกต้องตามระเบียบทางราชการ เป็นไปตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ และแนวทางของกรมการพัฒนาชุมชน โดยมี “บวร” หรือ บ้าน วัด ราชการ เป็นกลไกสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมในพื้นที่

จากการติดตามสนับสนุนการดำเนินงานในแปลง CLM พบว่า เจ้าของแปลง ได้แก่ นางสาววาสนา สืบอ้วน อายุ 46 ปี อาชีพเกษตรกร ที่อยู่ 31 บ้านเกาะแกด หมู่ที่ 8 ตำบลโพธิ์ไทร อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี มีผู้อาศัยในครัวเรือน 2 คน ความถนัดและความสนในของเจ้าของแปลงสนใจการทำเกษตรตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ และแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ในส่วนของข้อมูลแปลงทำโคก หนอง นา นั้น มีพื้นที่ทั้งหมด 45 ไร่ เดิมในพื้นที่นี้ใช้ประโยชน์ในการทำนาอินทรีย์ มาตรฐานออแกนิกซ์ไทยแลนด์ และพีจีเอส อุบลราชธานี โดยปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ได้มาตรฐาน USDA ปีการผลิต 2563/2564 และข้าวหอมมะลิ105 ได้รับตรารับรองจีไอ ระดับจังหวัด และเข้าร่วมโครงการฯ 15 ไร่ ใช้แบบมาตรฐานของกรมการพัฒนาชุมชน สัดส่วนแบบ 2:3 ประเภทดินร่วนปนทราย หน่วยทหารพัฒนาที่ขุดปรับพื้นที่คือหน่วยทหารพัฒนาการเคลื่อนที่ 52 (นพค.52 บุรีรัมย์) ระยะเวลาที่ใช้ในการขุดประมาณการไว้ที่ 6 วัน เพื่อสร้างฐานการเรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Community Lab Model for quality of life : CLM) ระดับตำบลที่จะดำเนินการในพื้นที่เเห่งนี้ จำนวน 9 ฐาน ได้แก่ ฐานการเรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติ ฐานการเรียนรู้คนหัวเห็ด ฐานการเรียนรู้คนเอาถ่าน ฐานการเรียนรู้คนรักษ์แม่ธรณี ฐานการเรียนรู้คนติดดิน ฐานการเรียนรู้คนรักษ์น้ำ ฐานการเรียนรู้คนรักษ์แม่โพสพ ฐานการเรียนรู้คนมีไฟ เเละฐานการเรียนรู้หัวคันนาทองคำ และกิจกรรมเด่นที่มีในแปลงเป็นศูนย์เรียนรู้ ที่ใช้สาธิตการพึ่งพาตนเองโดยใช้หลักกสิกรรมธรรมชาติ

โอกาสนี้ พระครูสุขุมวรรโณภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี พระนักพัฒนาที่ขับเคลื่อนชุมชนตามหลัก “บวร” ได้กล่าวแสดงสัมโมทนียกถา ว่า “ประโยชน์ของโคก หนอง นา ในด้านทางกายภาพ เป็นการส่งผลให้ระบบนิเวศดีขึ้น การขุดหนอง คลอง โคก จะทำให้มีแหล่งที่จะเก็บน้ำฝนให้ได้ปริมาณมากขึ้น ที่ได้หลายล้านลูกบาศก์ ในอีกส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ สัตว์ทั้งหลายที่ธรรมชาติก็จะเกิดขึ้นอีกมากมาย ชาวบ้านก็จะได้รับประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น มีความมั่นคงของชีวิต มีความมั่นคงทางอาหาร พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น นอกจากนี้ชาวบ้านที่ทำโคกหนองนาเป็นผู้มีบุญ มีทาน มีการเก็บแปรูปถนอมอาหาร มีการขายเพิ่มเพิ่มรายได้ มีเครือข่ายเรื่องการตลาด มีเครือข่ายคุณธรรม นอกเหนือจากนี้ชาวบ้านเกิดคุณธรรม เกิดบุญเกิดทานอยู่ในแปลงโคกหนองนา ความอดทน ความเพียรก็ถือว่าเป็นคุณธรรม ความสามัคคีก็เกิดขึ้นในแปลงจากการเอามื้อสามัคคี ผลผลิตที่เกิดขึ้นถ้าเอาไปทำบุญก็ได้บุญ เอาไปทำทานก็ได้ทาน เอาไปแจกผู้ประสบภัยพิบัติก็เป็นความมีน้ำใจ เอาไปให้พ่อแม่ก็เป็นความกตัญญู เราจะได้เห็นว่าโคกหนองนาไม่เฉพาะเพียงที่จะให้เกิดระบบนิเวศที่ดี แต่ยังทำให้ชาวบ้านเกิดในเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม มีความดีงามเกิดขึ้นในครอบครัวและชุมชนด้วยอันนี้เป็นเรื่องดีของโคกหนองนา โดยบทบาทของพระสงฆ์หรือบทบาทของการขับเคลื่อนศูนย์ฝึกอบรมต้นแบบ ได้มีโอกาส เกื้อกูล ส่งเสริม สนับสนุน โครงการ โคก หนอง นา อุบลราชธานี คือ เป็นศูนย์ฝึกอบรมต้นแบบ และสร้างวิทยากรอาสา ครูพาทำ ครูประจำวิชา รวมถึงเป็นการช่วยฝึกอบรมศูนย์ต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ เช่น วัดป่าศรีมงคล วัดศรีนวลสว่างอารมณ์ บ้านดอนหมู และศูนย์สารภีท่าช้าง ให้การอบรมแก่บุคคลที่เข้าร่วมการอบรมให้มากขึ้น และอีกส่วนหนึ่งเรายังได้รับการแต่งตั้งจากกรมการพัฒนาชุมชน ให้เป็นคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความยากจน และขับเคลื่อนงานสานฝ่ายขยายผล 25 อำเภอ 25 แปลงต้นแบบ ของจังหวัดอุบลราชธานี ให้เป็นศูนย์เครือข่ายกรมการพัฒนาชุมชน และได้รับให้การสนับสนุนงบประมาณ บุคลากรมาพัฒนาศูนย์ให้มีความพร้อม สมบูรณ์มากขึ้น นี่คือ การร่วมมือด้วยหลัก บวร คือ บ้าน วัด ราชการ”

ขณะที่นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ได้พบปะและมอบแนวทางแก่กลุ่มเป้าหมายและนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ ว่า “ขอขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมติดตามสนับสนุน แปลงตัวอย่างระดับตำบลในวันนี้ เพื่อร่วมกันสร้างศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 สืบสาน รักษา ต่อยอดสู่รัชกาลที่ 10 โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในปัจจุบัน ซึ่งทุกท่านถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ในการดำเนินโครงการ ซึ่งจังหวัดของเรานั้น มีกลุ่มเป้าหมายดำเนินโครงการฯ มากที่สุดในประเทศไทย ถึง 3,960 แปลง จึงให้ท่านได้ช่วยกันดำเนินการ เพื่อสร้างทางรอดและแหล่งเรียนรู้ ในการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่คนในชุมชน โดยมีกรมการพัฒนาชุมชน และหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ เป็นหน่วยงานหลัก คอยเป็นพี่เลี้ยงในการขับเคลื่อนการดำเนินงานต่าง ๆ ก่อเกิดผลดีต่อคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้สามารถพึ่งตนเอง สร้างงาน สร้างรายได้ อย่างยั่งยืนต่อไป”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image