ม.เกษตรส่งงานวิจัยถึงมือ อย. ลุ้นปลดล็อกกม.ใช้พลาสติกรีไซเคิล สู่เศรษฐกิจหมุนเวียน เอกชนยังเมิน ชี้มีข้อจำกัดเยอะ

รศ.ดร.อำพร เสน่ห์ อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในทีมนักวิชาการที่ร่วมเป็นคณะอนุกรรมการด้านวิชาการพิจารณาทบทวนข้อกำหนดที่ห้ามใช้ภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลตามที่กำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 295) เพื่อให้ครอบคลุมถึงการใช้ภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล (rPET) เพื่อการบรรจุอาหาร กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภคในการใช้ rPET อย.จึงขอความร่วมมือจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ในการสนับสนุนทุนวิจัยแก่ภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อร่วมกันดำเนินงานแผนการวิจัย “การพัฒนาวิธีทดสอบและประเมินความปลอดภัยของวัสดุสัมผัสอาหารเพื่อกำหนดมาตรฐานของประเทศไทย”

รศ.ดร.อำพร กล่าวว่า สำหรับปีแรกของการดำเนินงานมีเป้าหมาย คือ ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาวิธีวิเคราะห์ทางเคมีเพื่อติดตามการตกค้างและไมเกรชันของสารปนเปื้อนตัวแทน (surrogate contaminants) เพื่อรองรับการประเมินประสิทธิภาพของกระบวนการรีไซเคิลพลาสติกชนิด PET ส่วนทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการสำรวจปริมาณการบริโภคอาหาร/เครื่องดื่มที่มีแนวโน้มบรรจุในภาชนะบรรจุ rPET เพื่อประกอบการกำหนดเกณฑ์ของปริมาณสารตกค้างของสารปนเปื้อนตัวแทนที่ยอมให้มีได้และมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคของไทย

ผลการศึกษาจากทั้งสองทีมนักวิจัยนี้ จะช่วยให้ อย. มีแนวทางในการพิจารณาอนุญาตให้ภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้ภาชนะที่ผลิตจาก rPET ในการบรรจุอาหารรวมถึงเครื่องดื่มโดยอาศัยพื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังสร้างผลพลอยได้ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย คือ การยกระดับคุณภาพมาตรฐานของ rPET และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรมผลิตเม็ดพลาสติกและบรรจุภัณฑ์จาก rPET ไปพร้อมๆ กัน รวมถึงนำไปสู่เป้าหมายการเกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

รศ.ดร.อำพร กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนยังขาดห้องปฏิบัติการหรือหน่วยรับบริการทดสอบประสิทธิภาพการรีไซเคิลพลาสติกและวัสดุสัมผัสอาหารจากพลาสติกรีไซเคิล ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยในการตรวจวิเคราะห์/ประเมินคุณภาพและความปลอดภัยของพลาสติกรีไซเคิลเพื่อสร้างความมั่นใจให้ทั้ง อย. ผู้บริโภค และผู้ประกอบการในการเลือกใช้พลาสติกรีไซเคิล เช่น ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งจะมั่นใจได้ว่าเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่เลือกใช้นั้นมีความปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐานเมื่อสินค้าไปถึงมือผู้บริโภค

Advertisement

“การกำหนดเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพด้านความปลอดภัยของrPET ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย อาจแตกต่างไปจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป เนื่องจากไทยมีการใช้งานพลาสติกบรรจุอาหารในรูปแบบที่ต่างกัน รวมถึงชนิดและปริมาณอาหารที่ผู้บริโภคได้รับจากการบรรจุในภาชนะที่ทำจากพลาสติกเทียบกับวัสดุประเภทอื่นๆ ก็แตกต่างไปจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป จึงต้องศึกษาจากบริบทของไทยและสร้างเกณฑ์ที่มีมาตรฐานและเหมาะสมขึ้นมา หากเรามั่นใจในทุกส่วนของซัพพลายเชนของ rPET ว่ามีมาตรฐาน ก็ต้องมีวิธีการวิเคราะห์ติดตามคุณภาพและความปลอดภัยด้วย เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานและช่วยกันขับเคลื่อนการใช้ rPET ให้กับประเทศไทย” รศ.ดร.อำพร กล่าว

นายนันทิวัต ธรรมหทัย กรรมการบริหาร สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมด้านอาหารและเครื่องดื่มยังไม่มีความจำเป็นในขณะนี้ที่ต้องใช้ rPET เป็นวัตถุดิบในการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสอาหารและเครื่องดื่มโดยตรง และเท่าที่ได้ทำงานร่วมกัน มีแค่บางบริษัทที่สนใจจะนำมาใช้ เนื่องจากเป็นนโยบายของบริษัทแม่ในต่างประเทศ ที่ต้องการลดปริมาณการใช้พลาสติกใหม่ และส่งเสริมให้มีการนำบรรจุภัณฑ์พลาสติกกลับมาใช้ในแบบ bottle-to-bottle recycling

นายนันทวัต กล่าวว่า ฉะนั้น แม้จะมีการปลดล็อคกฎหมายแล้ว แต่จากการประมาณการของสมาคมฯ เอง ไม่คิดว่าจะเกิดการนำ rPET มาใช้ในวงกว้างอย่างรวดเร็ว โดยข้อจำกัดอีกเรื่องสำคัญคือราคา rPET ปัจจุบันยังสูงกว่าพลาสติกใหม่ในระดับมากกว่า 10% ขึ้นไป และยังแน่ใจว่าจะมีผู้ผลิตและซัพพลายมากน้อยขนาดไหน เพราะประเทศไทยห้ามใช้มานานมาก ทำให้ยังไม่มีใครสามารถวางแผนธุรกิจอย่างจริงจังได้ แต่ในอนาคต เชื่อว่าประเด็นนี้จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป เพราะปัญหาขยะพลาสติกเป็นประเด็นทางสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกหันมาสนใจและร่วมกันหาทางแก้ไข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image