การเมืองเรื่อง (ไม่) ‘บันเทิง’ และม็อบรายวัน (ที่กลับมา)

การเมืองเรื่อง (ไม่) ‘บันเทิง’ และม็อบรายวัน (ที่กลับมา)
สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ดารา นักแสดง ยื่นหนังสือที่รัฐสภา ยื่น 3 ข้อเรียกร้อง ขอให้เปิดกองถ่ายได้ภายใต้มาตรการควบคุมโรค

เดือดร้อนทั้งแผ่นดิน ในวันที่ข่าว ‘ฟินๆ’ กระแสจิ้น โปรโมตละครแทบไม่มีให้เห็นในเซ็กชั่น ‘บันเทิง’

เมื่อกองถ่ายถูกชัตดาวน์ จากการกึ่งล็อกดาวน์เหตุโควิดระบาด

แตกต่างจากยุคชัตดาวน์กรุงเทพฯ ที่เหล่าดารา นักร้อง นักแสดงแถวหน้าของไทยพกนกหวีดออกไปเป่าไล่รัฐบาลจากการเลือกตั้งกันสนั่นเมือง

วันนี้ วงการบันเทิงไทยมีสถานการณ์เข้มข้นร้อนแรงเป็นระยะ เกิดการปะทะทางความคิดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนก็ว่าได้

Advertisement

เจนใหม่ สายลมเปลี่ยน แถมมีศัตรูจิ๋วอย่างไวรัสใหม่ที่กลายพันธุ์เก่งมาก เข้ามาเป็นตัวเร่งสำคัญในความแปรผันของกระแสสังคม

จากยุคที่ดาราซึ่งถูกแปะป้าย ‘นอกคอก’ โดนแบนจนแทบหมดอนาคต อย่าง ‘ฟลุค เดอะสตาร์’ ที่ได้ยินเสียงจากเวทีเสวนาการเมืองมากกว่าเวทีคอนเสิร์ต

มาสู่ยุคที่ดารานักร้องวัยรุ่นออกมา ‘คอลเอาต์’ เปิดตัวอยู่ฟากฝั่งประชาธิปไตยอย่างมากมาย แม้ไม่วายมีบางค่ายออกมาแตะเบรก กระทั่งสั่ง ‘ปลดฟ้าผ่า’ ทว่า ในอีกด้านก็ได้รับกำลังใจล้นหลามจากประชาชน

Advertisement

ท่ามกลางข่าวรายวันของการบินลัดฟ้าไปฉีดวัคซีนซึ่งเชื่อว่ามีคุณภาพในประเทศโลกที่ 1 ของเซเลบ ไฮโซ ดารา คนดัง กระทั่งเน็ตไอดอลซึ่งสะท้อนภาพอย่างมีนัยสำคัญ

7 กรกฎาคม วันนัดหมายติด ‘โบดำ’ สวม ‘ชุดดำ’ ตามแถลงการณ์ ‘หมอไม่ทน’ ชวนประชาชนแสดงพลังด้วยการสวมชุดดำ ติดโบดำ เพื่อไว้อาลัยแก่ผู้ที่เสียชีวิตด้วยโควิด-19 รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบ พร้อมกันนั้นก็ยื่นข้อเรียกร้องต่อ อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ ผอ.ศบค.

คนบันเทิงหลายรายก็พากันแปะโพสต์ดังกล่าวผ่านช่องทางอินสตาแกรมของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น หนิง ปณิตา, น้ำฝน กุลณัฐ และมะหมี่ นภคปภา เป็นต้น

ยังไม่นับกระแสตั้งคำถาม ถึงนักร้องคนดังที่มีภาพลักษณ์การช่วยเหลือสังคมอย่าง ‘ตูน บอดี้สแลม’ ว่าหายไปไหน ทำไมไม่ออกมาเรียกร้องในวันที่ศิลปินตั้งแต่บิ๊กเนมจนถึงตัวเล็กตัวน้อยในผับ บาร์ ร้านอาหาร เข้าขั้นไม่มีจะกิน เมื่อร้านรวงถูกปิด อีเวนต์โดนยกเลิก จนเกิดเรื่องสะเทือนใจอย่างกรณี ‘ประกายฟ้า’ นักร้องและยูทูบเบอร์ดิ่งตึกปลิดชีพตัวเองมาแล้ว

ในขณะที่ เอ้ เดอะวอยซ์ ศิลปินที่เคยถูกรวบจากหมู่บ้านทะลุฟ้า ข้างทำเนียบรัฐบาลไปนอนในคุกมาแล้ว ได้เปิดเผยบนเวทีรถเครื่องเสียงในม็อบ ‘เปิดท้ายวันศุกร์ ลุกไล่รัฐบาล’ เมื่อ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา ว่าว่างงานมาแล้วกว่า 250 วัน แต่รัฐไม่เยียวยา ไม่นานมานี้มี ‘ลุงคนหนึ่ง’ กล่าวถึงเพลง ‘เทกมีโฮม คันทรีโรด’ ของจอห์น เดนเวอร์ ซึ่งเป็นนักกิจกรรม พูดถึงคนชายขอบ คนที่ถูกลืม เพลงนี้จึงไม่เหมาะกับลุงคนนั้น

ความเคลื่อนไหวของ ‘คนบันเทิง’ ที่เคยอยู่ในเซ็กชั่น ‘ข่าวบันเทิง’ ก็เขยิบมาสู่ ‘ข่าวการเมือง’ อย่างไม่อาจแยกจากกันได้

วางไมค์ไปสภา ครวญ 8 ข้อเรียกร้อง ผ่อนปรน เยียวยา ‘คนกลางคืน’
6 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก่อนเที่ยงตรง เวลาที่ ‘คนกลางคืน’ ไม่คุ้นเคย หากเป็นช่วงเวลาปกติที่ ‘งานชุก’ ทว่าในวันนี้ กลับตาลปัตร กลุ่มสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงแห่งประเทศไทย จึงพร้อมใจตบเท้าเข้าสภา นำโดย นนทเดช บูรณะสิทธิพร ตัวแทนชมรมผู้ประกอบการสถานบันเทิง ผับ บาร์ และ ธัญญ์นิธิ ปภัสสุรีย์โชติ ตัวแทนชมรมคนดนตรีแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยศิลปินนักร้องหลากหลาย อาทิ วงไททศมิตร, ทรีแมนดาวน์ (Three Man Down), Klear, Safeplanet, เอ้ เดอะ วอยซ์ ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอมาตรการผ่อนปรนและมาตรการเยียวยาให้กับกลุ่มผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยมี สิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธาน กมธ.รับเรื่อง

ตัวแทนนักร้อง นักดนตรี คนกลางคืน นำเสนอ 8 ข้อเรียกร้องโดยขอให้ยกเลิกปิดสถานบันเทิงแบบเหมารวม

สำหรับข้อเรียกร้อง มีด้วยกัน 8 ข้อ ได้แก่

1.ยกเลิกคำสั่งปิดสถานบันเทิงแบบเหมารวม

2.ขอให้มีคำสั่งปลดล็อกเพื่อให้ธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงได้กลับมาเปิดบริการ และสามารถจัดกิจกรรมต่างๆ ได้ภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 โดยให้คงการปฏิบัติตามมาตรการคำสั่งของ ศบค. เพื่อรักษามาตรฐานการควบคุมโรค ทั้งนี้ ได้มีการเสนอและเรียกร้องให้พิจารณาเป็นวันที่ 1 สิงหาคม 2564 และ/หรือกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการอนุญาตให้กลับมาประกอบกิจการและอาชีพได้อีกครั้ง

3.ผ่อนปรนให้สามารถขายแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคในร้านค้าได้

4.ผ่อนปรนให้มีการจัดงานมหรสพโดยให้คงการปฏิบัติตามมาตรการคำสั่งของ ศบค.เพื่อรักษามาตรฐานการควบคุมโรค

5.พิจารณาการจัดสรรฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ และ/หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานประกอบการธุรกิจกลางคืน และธุรกิจบันเทิงโดยเร็วที่สุด

6.พิจารณาให้มีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการเยียวยา การพักชำระหนี้และ/หรือการกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำต่อผู้เดือดร้อนตั้งแต่การออกคำสั่งครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563

7.เปิดโอกาสให้ภาคเอกชน และ/หรือประชาชนในกลุ่มภาคธุรกิจที่ได้รับความเดือดร้อน เข้าร่วมรับฟัง เสนอแนะพูดคุยในกระบวนการออกมาตรการและนโยบายต่างๆ และ

8.เปิดช่องทางสื่อสารเพื่อรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนที่เดือดร้อน

สะเทือนทั่วหน้า ตั้งแต่เจ้าของกิจการ ถึงศิลปินรับจ้าง ‘รายวัน’
ในการยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าว อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี หรือ จ๋าย ไททศมิตร และ กฤตย์ จีรพัฒนานุวงศ์ นักร้องนำวง ทรีแมนดาวน์ เปิดใจว่า ในอาชีพและบทบาทของพวกตน คาบเกี่ยวกับนักดนตรีกลางคืน หากไม่ออกมาพูด นักดนตรีกลางคืนตัวเล็กๆ ก็จะไม่กล้าที่จะลุกขึ้นมาเรียกร้องใดๆ ขอรัฐอย่าเพิกเฉย

“สำหรับพวกเราแล้วถือว่ามีปัญหา แต่ยังมีบุคคลที่ได้รับปัญหามากกว่าพวกตนอีกมาก หากมีการเพิกเฉยพวกเราอาจจะมีลู่ทางต่อในเส้นทางอื่นๆ แต่ก็ยังมีบุคคลอีกจำนวนมากที่อาจจะไม่มีลู่ทางอีกต่อไปแล้ว”

ม็อบรายวันหน้าทำเนียบรัฐบาลที่กลับมาอีกครั้งหลังโควิดระบาดระลอกแล้วระลอกเล่า

ย้อนไปก่อนหน้านั้น สมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนฯ เคยเข้ายื่นหนังสือที่รัฐสภามาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม โดย ธัญญ์นิธิ ปภัสสุรีย์โชติ ตัวแทนชมรมคนดนตรีแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการธุรกิจกลางคืน และธุรกิจบันเทิงทั้งหมด ซึ่งไม่ได้กระทบเพียงเจ้าของกิจการ แต่ยังส่งผลถึงพนักงาน ลูกจ้าง และกลุ่มนักดนตรีอิสระที่รับค่าจ้างแบบรายวัน

ในขณะที่ นนทเดช บูรณะสิทธิพร ตัวแทนชมรมผู้ประกอบการสถานบันเทิง ผับ บาร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนฯ เป็นกลุ่มคนถูกทอดทิ้งในการขอความช่วยเหลือมาตลอด แต่ยังคงพยายามทุกทางเพื่อให้รอดจากวิกฤต วันนี้พร้อมที่จะหารือร่วมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อหาทางออกและแก้ปัญหา

‘กูจะเปิด มึงจะทำไม’ สุดทาง สุดทน เมื่อคนพร้อม ‘อารยะขัดขืน’?
จากสถานการณ์นี้ บางร้านถึงกับนำแก้วเบียร์เปล่ามาโละขายใบละร้อย ดังเช่น ร้าน ‘Baan Bo’ ย่านบางใหญ่ เนื่องจากทางร้านไม่สามารถจำหน่ายเบียร์ได้จากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ จึงต้องนำแก้วมาขายในตลาดราษฎร เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาท่ามกลางสายฝนที่ถล่มทั้งทำเนียบรัฐบาลและแฟลชม็อบที่กลับมารายวัน

Safeplanet วงดนตรีอิสระที่มีผลงานเพลงดังมากมายซึ่งเคยบุกสภาตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เรียกร้องให้รัฐจัดหาวัคซีนให้กลุ่มธุรกิจกลางคืน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ ‘ถูกลืม’ เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวไม่อยู่ในระบบประกันสังคม รวมถึงเข้าไม่ถึงสวัสดิการรัฐ และในการสั่งปิดระยะยาวต้องมีการเยียวยาที่ตรงจุด โดยที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจกลางคืนพยายามปรับตัวกันตลอด ช่วยเหลือตัวเองเท่าที่สามารถทำได้ แต่เศรษฐกิจจะขับเคลื่อนต่อไปได้ ต้องอาศัยทั้งธุรกิจภาคกลางวัน และภาคกลางคืน

ร้านปิด นักร้องก็ไม่มีงาน ไม่กี่วันที่ผ่านมา เครือข่ายผู้ประกอบการร้านอาหาร 300 ร้าน ขอจัดอีเวนต์แบงค็อกแซนด์บ็อกซ์ (Bangkok Sandbox) โดยนำอาหารมาจัดจานเสิร์ฟ จำลองบรรยากาศคล้ายกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะ นั่งหม่ำซีฟู้ดริมหาด ครั้งไปคิกออฟภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ อ่านแถลงการณ์ พร้อมยื่นข้อเรียกร้องที่ไม่รู้ว่าจะสมหวังเมื่อไหร่ ขณะที่โลกออนไลน์ติดแฮชแท็ก #กูจะเปิดมึงจะทำไม ชวนร้านอาหารอารยะขัดขืน ก่อนที่ พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย โฆษก บช.น.จะออกมาเตือนว่าการนัดปลุกระดมเปิดร้านอาหารนั่งดื่มนั้นผิดกฎหมาย เปิดเมื่อไหร่ก็ต้องจับ

‘อารยะขัดขืนโอชา’ ตั้งร้านใกล้ทำเนียบรัฐบาลเมื่อศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์สะท้อนความเดือดร้อนของกลุ่มผู้ค้า เมื่อนั่งไม่ได้ นักดนตรีก็ว่างงาน กระทบต่อเป็นทอดๆ

ร้านยั่วล้ออย่าง ‘อารยะขัดขืนโอชา’ จึงเกิดขึ้นกลางถนน ในม็อบที่ค่อยๆ กลับมา แจกเอกสารวิธีการ นิยาม และประวัติศาสตร์การต่อสู้แบบอารยะขัดขืนที่เคยเกิดขึ้นในโลกนี้

‘ลูกทุ่ง’ ล่าชื่อรวมพลังแสดงจุดยืน โซเชียลบุกถาม ‘พี่ตูน’ เงียบเหมือนอยู่คนละโลก?

กระแสทวงถาม ‘ตูน บอดี้สแลม’ ให้ออกมาส่งเสียงต่อความเดือดร้อนของศิลปินทั่วประเทศ

ด้านวงการลูกทุ่งไม่น้อยหน้า ตั้งแต่รุ่นใหญ่อย่าง เอกชัย ศรีวิชัย ที่ออกมา ‘แหลงใต้’ ไลฟ์เดือดวิพากษ์รัฐบาล จนถึงรุ่นหลังอย่าง ‘เบิ้ล ปทุมราช’ ซึ่งโพสต์ผ่านโลกออนไลน์ว่าเสียใจที่ประเทศเกิดแผลใหญ่ตอนคนแก้ปัญหา ‘ไอคิว แทบไม่มี’ ในขณะที่ ‘ก้อง ห้วยไร่’ ล่ารายชื่อลูกทุ่งอินดี้รวมพลังเรียกร้องรัฐบาล โดยมีพี่น้องในวงการร่วมส่งเสียงหลายราย อาทิ แคนดี้ รากแก่น, เบิ้ล ปทุมราช, เพชร สหรัตน์ ฯลฯ รวมถึง ‘คิง ก่อนบ่าย’ ที่บอกว่า ‘ขอรายชื่อทำไม รวมตัวกันไปทีเดียวเลย จัดมาพี่ร่วมด้วย’

ส่วนขาร็อกระดับลายคราม นาม ‘กบ ไมโคร’ ผู้คอลเอาต์จัดหนักมาเนิ่นนาน โพสต์วาทะที่ถูกแชร์ต่อล้นหลาม ความว่า

‘ฝากให้คิด คนข้างล่างตะโกนทั้งน้ำตาถึงเรา ‘ขอเสียงหน่อย’ กลับหลบยืนเงียบ ขอตัดสินด้วยใจตัวเอง’

ในช่วงเวลาเดียวกัน อินสตาแกรม artiwara ของ ตูน หรือ อาทิวราห์ คงมาลัย นักร้องนำวงบอดี้สแลม ซึ่งเคย ‘วิ่งก้าวคนละก้าว’ ช่วยโรงพยาบาลมากมาย โดนชาวเน็ตบุกถามว่าพี่ตูนหายไปไหน ในวันที่คนดนตรีเดือดร้อนทั้งประเทศ แฟนคลับรายหนึ่งระบุว่า ตูน เงียบ ‘เหมือนอยู่คนละโลก’

ร้อนถึง ‘เภา’ รัฐพล พรรณเชษฐ์ อดีตมือกีตาร์วงบอดี้สแลม ต้องออกมาปกป้อง ว่า การที่ตูนยังไม่ได้ทำอะไรตอนนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ทำอะไรอีกเลย และตูนเองก็แทบไม่มีงานเกือบ 2 ปี ถือเป็นผู้ได้รับผลกระทบอันดับต้นๆ

ผู้กำกับขอ ‘เปิดกอง’ ร้องวัคซีนประสิทธิภาพสูง
ปิดท้ายด้วยความเคลื่อนไหวของสายงานการแสดง โดยเมื่อ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา อนุชา บุญยวรรธนะ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย (TFDA), นนทรีย์ นิมิบุตร, ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ตัวแทนคณะกรรมการสมาคม พร้อมด้วย สิริลภัส กองตระการ หรือหมิว ดาราสาวผู้ประสบภัยจากการถูกรายการช่องหลากสีปลดฟ้าผ่า, ชญาธนุส ศรทัตต์ หรือเฌอเอม ร่วมกับสมาคมวิชาชีพภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดีย (FDCA) และสมาคมภาพยนตร์อิสระไทย (TIFA) เดินทางไปยังรัฐสภา เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องให้ผ่อนปรนธุรกิจกองถ่ายที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด ดังต่อไปนี้

1.อนุญาตให้ธุรกิจกองถ่ายสามารถปฏิบัติงานได้ ตามข้อกำหนดของ ศบค. โดยมีทีมงานจำนวนไม่เกิน 50 คน และให้สำนักงานเขตและอำเภอพิจารณาอนุญาตการถ่ายทำ โดยใช้ผลการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาของทีมงานทุกคนภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง

2.ขอให้ทางภาครัฐส่งหนังสือเวียนแจ้งถึงข้อกำหนดนี้ให้กับศาลากลางจังหวัด สำนักงานเขตและที่ว่าการอำเภอทุกจังหวัด เพื่อให้รับทราบตรงกันว่าธุรกิจกองถ่ายภาพยนตร์ เป็นธุรกิจที่ได้รับการผ่อนปรนภายใต้มาตรการควบคุมโรคดังกล่าว

3.ขอให้ภาครัฐจัดหาวัคซีนให้กับบุคลากรในธุรกิจภาพยนตร์และสื่อวีดิทัศน์ที่อยู่นอกเหนือจาก ม.33 โดยทางสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยจะเป็นผู้รวบรวมรายชื่อให้

4.หากภาครัฐต้องการปรับเปลี่ยนมาตรการกองถ่ายเพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโคโรนา ขอให้มีการกำหนดมาตรการต่างๆ ให้เหมาะสมและชัดเจนโดยมีสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยและตัวแทนผู้ประกอบการอื่นๆ เข้าร่วมหารือด้วย

5.ขอให้ภาครัฐจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง เช่นวัคซีนประเภท mRNA ให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบกิจการกองถ่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นการเร่งด่วน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่อาจรุนแรงขึ้นได้ในอนาคต

เป็นข่าวบันเทิงที่ไม่บันเทิง หากแต่สะท้อนถึงความเดือดร้อนของผู้คนบนหน้าฉากที่ต้องสร้างความสุข ในวันที่ชีวิตจริงเดินบนหนทางตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง

สร้อยดอกหมาก สุกกทันต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image