ผลวิจัยชี้เชื้อ “แกมมา” ทำให้ติดโควิดซ้ำได้ ลดประสิทธิภาพ “ซิโนแวค” ลง

REUTERS/Willy Kurniawan/File Photo

ผลวิจัยชี้เชื้อ “แกมมา” ทำให้ติดโควิดซ้ำได้ ลดประสิทธิภาพ “ซิโนแวค” ลง

เอเอฟพี รายงานเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมนี้ว่า ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย กัมปีนาส ในบราซิล เผยแพร่ผ่านวารสารวิชาการ แลนเซท ไมโครบี ระบุว่า เชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์ แกมมา หรือ พี.1 ซึ่งพบครั้งแรกในบราซิล ทำให้สารแอนติบอดี ซึ่งเกิดขึ้นจากการได้รับวัคซีน โคโรนาแวค หรือวัคซีนของบริษัทซิโนแวค มีประสิทธิภาพลดลง ทั้งยังส่งผลให้ผู้ที่ผ่านการติดเชื้อโควิด-19 มาแล้ว สามารถติดเชื้อแกมมานี้ได้ซ้ำอีกครั้ง

ทีมวิจัยระบุไว้ในรายงานว่า ผลการทดลองนี้แสดงให้เห็นว่า “เชื้อแกมมา ยังคงมีความสามารถแพร่ระบาดวนเวียนอยู่ในหมู่คนที่ได้รับวัคซีนแล้วได้ แม้ในชุมชนในพื้นที่ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงก็ตาม”

การทดลองดังกล่าวเป็นการทดลองขนาดเล็กโดยใช้พลาสมาจากกลุ่มตัวอย่างรวม 74 คน โดย แยกเป็นใช้พลาสมาจากกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค 53 คน กับพลาสมาของผู้ที่เคยผ่านการติดเชื้อมาแล้ว 21 คน ทั้งนี้ในกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับวัคซีนมาแล้วนั้น มี 18 คน ที่ได้รับวัคซีนเพียงเข็มเดียว, อีก 20 คน เพิ่งได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 มา และ อีก 15 คนเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มเมื่อนานมาแล้วในระหว่างการทดลองวัคซีนซิโนแวคในบราซิลเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2563

ผลการทดลองพบว่า เชื้อแกมมา สามารถเลี่ยงแอนติบอดีจากกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับวัคซีนเข็มเดียวเกือบทั้งหมด เช่นเดียวกับกลุ่มที่ได้รับวัคซีนเมื่อนานมาแล้ว ส่วนแอนติบอดีของผู้ที่เพิ่งได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มจะมีประสิทธิภาพดีกว่าเมื่อเทียบกับพลาสมาของ 2 กลุ่มแรก แต่ถือว่ามีประสิทธิภาพลดลง เมื่อเทียบกับความสามารถในการต่อต้านเชื้อโควิด-19 ดั้งเดิม ในส่วนของประสิทธิภาพของแอนติบอดีในพลาสมาของผู้ที่ผ่านการติดเชื้อมาแล้ว ทีมวิจัยพบว่าไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อแกมมาได้ โดยต้องมีประสิทธิภาพสูงกว่าแอนติบอดีที่สามารถป้องกันเชื้อดั้งเดิมถึง 9 เท่าจึงจะสามารถป้องกันการติดเชื้อแกมมาได้ ทำให้ผู้ที่ติดเชื้อมาก่อนหน้านี้ สามารถติดเชื้อซ้ำได้อีกนั่นเอง

Advertisement

ในวารสารวิชาการ แลนเซท ยังมีการเผยแพร่รายละเอียดการทดลองวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทซิโนแวค ในคนระยะที่ 3 ในประเทศตุรกี ซึ่งใช้กลุ่มตัวอย่างมากถึงกว่าหมื่นคนแยกเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค 6,559 คน และผู้ที่ได้รับวัคซีนเปล่าหรือพลาซิโบ 3,470 คน กลุ่มตัวอย่างอายุระหว่าง 18-59 ปี และได้รับวัคซีนครบ 2 โดสทิ้งห่างจากกัน 14 วัน

ทีมวิจัยตุรกีพบว่า วัคซีนซิโนแวค 2 เข็มมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโดยมีอาการ (symptomatic infections) ได้ 83.5 เปอร์เซ็นต์ ป้องกันการติดเชื้อจนป่วยหนักต้องเข้าโรงพยาบาล 100 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตามทีมวิจัยชี้ว่า การทดลองนี้มีข้อจำกัดอยู่ตรงที่ไม่มีตัวแทนกลุ่มอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และต่ำกว่า 18 ปีลงมา และไม่ได้มีการทดลองประสิทธิภาพกับเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ๆ อีกด้วย

Advertisement

อย่างไรก็ตามทีมวิจัยย้ำว่า “โลกต้องการวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและมีให้ใช้ได้ทุกเข็มในการต่อสู้กับเชื้อก่อโรคโควิด-19”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image