สผ. ชูผลงาน พร้อมขับเคลื่อนงานด้านนโยบาย ก้าวไปข้างหน้า สู่วิถีชีวิตใหม่ อย่างยั่งยืน

สผ. ชูผลงาน พร้อมขับเคลื่อนงานด้านนโยบาย ก้าวไปข้างหน้า สู่วิถีชีวิตใหม่ อย่างยั่งยืน

วันที่ 12 กรกฎาคม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) จัดการประชุมวิชาการ สผ. ประจำปี พ.ศ. 2564 “สผ. ก้าวไปข้างหน้า สู่วิถีชีวิตใหม่ อย่างยั่งยืน” “ONEP Moving forward to a new sustainable way of life” โดยในปีนี้ สผ.ในรูปแบบการประชุมออนไลน์ โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีทส.เป็นประธาน

นายวราวุธ กล่าวว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภาคประชาชนต้องปรับตัวตามสถานการณ์และมาตรการด้านสุขภาพต่าง ๆ อาทิการเว้นระยะห่างทางสังคม การทำงานที่บ้าน การลดหรืองดการเดินทางหรือท่องเที่ยว ได้ส่งผลให้สภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศถดถอยอย่างเห็นได้ชัด แต่ในด้านสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็น 1 ในมิติของการพัฒนาที่ยั่งยืน กลับมีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ธรรมชาติเกิดการฟื้นตัว สัตว์หายากเริ่มปรากฏ ให้เห็น อาทิ กระทิง ฝูงพะยูน ฝูงวาฬ ฉลาม การวางไข่ของเต่ามะเฟืองและเต่าตนุ รวมทั้งได้สะท้อนถึงสิ่งที่มนุษย์ได้กระทำกับธรรมชาติ ดังจะเห็นได้จากภารกิจการเก็บกู้อวนยักษ์ กู้ชีพแนวประการัง

“ก้าวต่อไปของ ทส. ยังคงมุ่งไปสู่ Build Forward Greener เพื่อสร้างโอกาสในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมไทย ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสานต่อนโยบายและขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่อง และจะต่อยอดแนวคิดและนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมกับการเสริมสร้างพฤติกรรมรักษ์โลกของเราทุกคน โดยมุ่งเน้น การพัฒนาที่ครอบคลุมทุกมิติ โดยการระดมพล การบูรณาการ
การทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน การพัฒนาที่จะขับเคลื่อนโดยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะการยกระดับการดำเนินงานสำรวจ ติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแบบเป็นปัจจุบัน (real time) และคาดการณ์ สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อสื่อสารข้อเท็จจริงและข้อมูลที่ถูกต้องสู่พี่น้องประชาชน

Advertisement

นายวราวุธ กล่าวว่า การพัฒนาที่เป็นสากล โดยยกระดับการดำเนินงานของไทย ให้เท่าเทียมกับนานาประเทศ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และพันธกรณีระหว่างประเทศ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การแสวงหาช่องทางในการเข้าถึงการสนับสนุนให้ความช่วยเหลือจากต่างประเทศทั้งในด้านวิชาการและกลไกการเงิน เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเครือข่าย Global Footprint Network ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่ทำการคำนวณ footprint ได้คาดการณ์ วันหนี้นิเวศโลก หรือ Earth Overshoot Day ของปี พ.ศ. 2564 คือ วันที่เราใช้ทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดที่ผลิตได้ในปีนั้น ๆ (Human Demand vs Nature’s Supply) ในปี พ.ศ. 2563 ตรงกับวันที่ 20 สิงหาคม ขณะที่ในปี พ.ศ. 2564 คาดการณ์ว่าจะตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคม ซึ่งหมายความว่านับตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม เรากำลังจะยืมทรัพยากรธรรมชาติของปีหน้ามาใช้เสมือนใช้ชีวิตด้วยบัตรเครดิต การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จะไม่บรรลุด้วยการดำเนินงานของภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่เราจะต้องมาร่วมกันคิดร่วมกันทำ ร่วมกันรับผิดชอบ เพื่อให้เกิดจุดเปลี่ยนของสังคมไทยโดยปรับทิศทางไปสู่ “ชีวิตวิถีใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” เพราะเป็นหน้าที่ของคนรุ่นปัจจุบันที่ต้องเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และถ่ายทอดพฤติกรรมดังกล่าวสู่คนรุ่นต่อไป

นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการ สผ. กล่าวว่า การขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ภายใต้การผลิตที่นำทรัพยากรมาใช้ในกระบวนการผลิต รวมถึงกิจกรรมการบริโภคที่เพิ่มขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อความสมดุลของทรัพยากร การส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเรื่องสำคัญ หลังจากประเทศไทยได้ร่วมแสดงเจตจำนงค์ในวาระการพัฒนา 2030 (Agenda 2030)ที่จะมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สผ. ได้ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงาน กับภาคส่วนต่างๆตามแผนขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน พ.ศ. 2560 – 2580

Advertisement

” สผ. ในฐานะหน่วยประสานงานกลางของประเทศภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ผลักดันให้นำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 – 2563 มาใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ การปรับตัวต่อผลกระทบ การลดก๊าซเรือนกระจก และการสร้างขีดความสามารถการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ตลอดจนส่งเสริม ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยในปี พ.ศ. 2561 ประเทศไทยมีผลการลดก๊าซเรือนกระจกภาคพลังงาน คิดเป็นร้อยละ 15.76″นางรวีวรรณ กล่าว

เลขาธิการสผ.กล่าวว่า การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นการศึกษาและคาดการณ์ผลกระทบ ที่อาจจะเกิดจากการดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆ อย่างรอบด้าน โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และนำมาสู่การกำหนดมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่สามารถป้องกันและลดผลกระทบที่มีประสิทธิภาพ และปฏิบัติได้จริง การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อย่างต่อเนื่อง เพื่อการป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นในโครงการ ทำให้ประเทศสามารถพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และดูแลสิ่งแวดล้อม บรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ สผ. ได้ขับเคลื่อนแผนแม่บทบูรณาการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2558 – 2564 ที่ให้ความสำคัญกับการดำรง รักษา ปกป้อง ฟื้นฟู และหยุดยั้งการคุกคาม ความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งเสริมการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม และเพื่อให้บริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศให้เป็นเอกภาพ ครอบคลุมการส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน สผ. ได้จัดทำ ร่าง พระราชบัญญัติความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. …. ขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรี

การขับเคลื่อนการอนุรักษ์และพัฒนาเชิงพื้นที่ การขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลก 5 แหล่ง และแหล่งในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลก จำนวน 7 แหล่ง การประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม 9 แห่ง และประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่า 36 เมือง เพื่อส่งต่อพื้นที่ที่มีคุณค่าให้กับคนรุ่นต่อไป นอกจากนี้ สผ. ได้มีการดำเนินการขับเคลื่อนเมือง ชุมชน และพื้นที่สีเขียว โดย ส่งเสริมชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในการอนุรักษ์และพัฒนาย่านชุมชนเก่าของตนตามแนววิถีใหม่ เพื่อเป็นต้นทุนมรดกทางวัฒนธรรมให้กับคนในพื้นที่ได้ภาคภูมิใจ รวมทั้งสร้างแรงจูงใจ สร้างความมุ่งมั่นให้กับเมืองหรือเทศบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ผ่านการเชิญชวนเมือง (เทศบาล) ต่างๆ นำเสนอผลการดำเนินงานและการจัดการเมืองของตัวเอง ที่มีผลเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นตัวอย่าง และต้นแบบของสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืนในระดับประเทศและระดับอาเซียน ต่อยอดการพัฒนาที่สอดรับกับความท้าทายใหม่ๆ อย่างสอดคล้องกับการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ

กองทุนสิ่งแวดล้อม เป็นกลไกหนึ่งที่สนับสนุนภาคเอกชนและท้องถิ่น ในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น สนับสนุนภาคเอกชนในโครงการระบบจัดการเชื้อเพลิงชีวมวลและมลภาวะทางอากาศ โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนคัดแยกขยะที่ต้นทางสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ และในการจัดการปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ได้สนับสนุนสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ในโครงการบริหารจัดการเชื้อเพลิง “ชิงเก็บ ลดเผา” รวมทั้งสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังไฟป่าประมาณ 180 เครือข่าย และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ในการจัดการปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ในพื้นที่ 16 จังหวัดภาคเหนือ รวม 49 แห่ง เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนพร้อมกันทั้งประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image