ทีมวิจัยอเมริกันพบวิธีใหม่ ใช้ ‘โควิด’ ฆ่า ‘โควิด’ เชื่อใช้รักษาผู้ติดเชื้อได้

pixabay

ทีมวิจัยอเมริกันพบวิธีใหม่ ใช้ “โควิด” ฆ่า “โควิด” เชื่อใช้รักษาผู้ติดเชื้อได้

เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียสเตท (เพนน์สเตท) รายงานว่า ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยนำโดย ดร. มาร์โก อาร์เคตติ รองศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาของมหาวิทยาลัย ประสบความสำเร็จในการทดลองเพื่อพิสูจน์แนวคิดว่า สามารถใช้เชื้อซาร์ส-โควี-2 ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคโควิด-19 ที่สังเคราะห์ขึ้น ให้ทำหน้าที่ฆ่าเชื้อซาร์ส-โควี-2 ด้วยกันเองได้ เมื่อผลจากการทดลองแสดงให้เห็นว่า วิธีการนี้สามารถลดปริมาณเชื้อก่อโรคโควิด-19 ได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ในเวลา 24 ชั่วโมง

ดร.อาร์เคตติอธิบายว่า เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 เป็นจุลินทรีย์ที่มีขนาดเล็กมาก มีอวัยวะเพียงอย่างเดียวคือสายพันธุกรรม (อาร์เอ็นเอ) ที่แสดงถึงการมีชีวิต เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเข้าไปยึดติดกับผิวหรือผนังเซลล์ในร่างกาย ล่อหลอกให้เซลล์ดังกล่าวผลิตอาร์เอ็นเอของไวรัสออกมาเรื่อยๆ รวมทั้งให้เซลล์ทำหน้าที่สร้างโปรตีนขึ้นมาหุ้มอาร์เอ็นเอดังกล่าว ทำให้เป็นไวรัสที่มีส่วนประกอบครบสมบูรณ์ ในทางวิชาการเรียกว่า “ไวเรียน” (virion) ซึ่งเมื่อถึงเวลาหนึ่งก็จะแตกออก เพื่อกระจายไวรัสไปยังเซลล์อื่นๆ ต่อไป

ไวรัสสังเคราะห์ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อใช้ฆ่าเชื้อโควิด-19 นั้น สังเคราะห์ขึ้นมาจากไวรัสซาร์ส-โควี-2 เช่นกัน แต่ตัดสายพันธุกรรมให้สั้นลง เพื่อให้เกิดความบกพร่องไม่สามารถทำสำเนาตัวเองเพื่อขยายพันธุ์ได้ ต้องเข้าไปอาศัยไวรัสดั้งเดิมในการขยายพันธุ์ตนเอง นักวิทยาศาสตร์เรียกไวรัสนี้ว่า “ไวรัสที่ถูกทำให้บกพร่อง” หรือ “ดีไอไวรัส” (Defective interfering-DI viruses) ซึ่งจะทำตัวเหมือนปรสิตของไวรัสดั้งเดิม (wild-type) ในขณะที่ไวรัสดั้งเดิมก็จะทำตัวเป็นปรสิตของเซลล์ในร่างกายอีกต่อหนึ่ง

ดร.อาร์เคตติอธิบายแนวคิดในการทำงานของดีไอไวรัสไว้ว่า เมื่อถูกนำส่งเข้าไปในเซลล์ของมนุษย์ซึ่งแต่เดิมมีเชื้อไวรัสดั้งเดิมอยู่ก่อนแล้ว ดีไอไวรัสจะเข้าไปยึดกลไกในการทำสำเนาและหุ้มห่อตัวเองของไวรัสดั้งเดิมมาใช้เพื่อก็อบปี้ตัวเองแทน ทำให้กลไกของไวรัสดั้งเดิมดังกล่าวใช้ทำสำเนาตัวเองไม่ได้เต็มที่ นอกจากนั้น การที่ดีไอไวรัสมีขนาดสายพันธุกรรมสั้นกว่าไวรัสดั้งเดิมมาก ทำให้สามารถแพร่พันธุ์หรือทำสำเนาตัวเองได้เร็วกว่ามากเช่นกัน ผลในที่สุดก็คือ ไวรัสดั้งเดิมที่เป็นตัวก่อโรคจะค่อยๆ ลดจำนวนลงจนหมดไปในที่สุด และเมื่อไวรัสดั้งเดิมหมดไป ดีไอไวรัสซึ่งต้องพึ่งพาไวรัสดั้งเดิมในการขยายพันธุ์ก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ตามไปด้วย

Advertisement

ทั้งในนี้ในการทดลองเพื่อพิสูจน์แนวคิดข้างต้นนี้ ซึ่งมีรายงานผลการทดลองตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ เพียร์เจ. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทีมวิจัยของ ดร.อาร์เคตติ ทดลองฉีดดีไอไวรัสให้กับเซลล์ของลิงแอฟริกันกรีนซึ่งติดเชื้อโควิด-19 อยู่ก่อนแล้ว พบว่าดีไอไวรัสสามารถแบ่งตัวได้เร็วกว่าไวรัสดั้งเดิมถึง 3.3 เท่าตัว จนสามารถลดปริมาณของไวรัสดั้งเดิมในเซลล์ดังกล่าวลงได้มากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง

แม้ว่าระดับการลดลง 50 เปอร์เซ็นต์ต่อ 24 ชั่วโมง ยังไม่สามารถนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาผู้ติดเชื้อได้ แต่เป็นการยืนยันว่าหลักการตามแนวคิดดังกล่าวได้ผลจริง ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยต่อไปเพื่อยืนยันข้อสรุปนี้ รวมทั้งพัฒนาวิธีการนำส่งดีไอไวรัสให้ดีขึ้น

เพนน์สเตทระบุว่า ในงานวิจัยต่อเนื่องของทีมวิจัยเดียวกันนี้ ซึ่งยังไม่มีการตีพิมพ์เผยแพร่ มีการปรับปรุงวิธีการนำส่งโดยหันมาใช้อนุภาคนาโนเป็นสื่อในการนำส่ง ผลจากการสังเกตการณ์พบว่า สามารถลดปริมาณไวรัสลงได้มากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ภายในเวลาเพียง 12 ชั่วโมงเท่านั้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image