จับ ขาย กิน ‘ปลาเด็ก’ ไม่ใช่เรื่องเล็ก ! อย่าปล่อยให้ (อาหาร) ทะเลถึงวันวิกฤต

ปลาทูแก้ว
หมึกกะตอย ปูกะตอย
ปลาข้าวสาร

นี่ไม่ใช่สัตว์น้ำสายพันธุ์ใหม่ ทว่าเป็นสัตว์น้ำวัยละอ่อนที่ถูกนำมาตั้งชื่อน่ารัก น่าซื้อ และน่ากิน

แต่ทราบหรือไม่ ว่าการจับสิ่งมีชีวิต ‘โตไม่เต็มวัย’ ขึ้นจากท้องทะเลกว้างใหญ่ในวันนี้ อาจสร้างวิกฤตครั้งใหญ่ในวันข้างหน้า ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลอย่างน่าหวาดหวั่น

เป็นหนึ่งในปัญหาที่หลายประเทศในโลกพยายามป้องกันก่อนจะสายเกินแก้

Advertisement

‘ปัญหาปลาเด็ก เรื่องไม่เล็กของทะเลไทย’ เวทีเสวนาออนไลน์ สนับสนุนโดยองค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย และสหภาพยุโรปซึ่งจัดขึ้นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ตอกย้ำให้เห็นถึงวิกฤตในวันพรุ่งนี้ หากไม่หยุดขายและบริโภคสัตว์น้ำวัยอ่อน พร้อมเรียกร้องผู้บริโภคส่งสารถึงซุปเปอร์มาร์เก็ตให้เลิกขายสัตว์น้ำที่ยังไม่โตเต็มวัย เพราะอาหารทะเลกำลังจะหมดแล้วจริงๆ

แน่นอนว่า ไม่ใช่การคาดการณ์หรือกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอย หากแต่มีการเปิดข้อมูลจากผลงานวิจัย ‘การสำรวจรูปแบบการจัดจำหน่ายสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่โตไม่ได้ขนาดในประเทศไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’ โดยภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน (CSO Coalition for Ethical and Sustainable Seafood in Thailand) พร้อมด้วยปากคำของประจักษ์พยานในวงการประมงพื้นบ้าน อีกทั้งองค์กรที่เกี่ยวข้อง

สัตว์น้ำ ‘ไม่เต็มวัย’ ไม่ใช่ ‘สายพันธุ์เล็ก’
“ปลาทูวัยเด็กที่ถูกจับมาขายจะถูกนำไปเปลี่ยนชื่อ เป็นปลาทูแก้ว หรือหมึกกล้วยวัยละอ่อนจะถูกเรียกว่าหมึกกะตอย ปลากะตักก็ถูกใส่ชื่อว่าเป็นปลาข้าวสาร หรือปูม้าวัยละอ่อนก็เปลี่ยนชื่อมาเป็นปูกะตอย โดยผู้บริโภคอาจเข้าใจว่าทั้งหมดนี้เป็นสัตว์น้ำสายพันธุ์ใหม่หรือเป็นชื่อสัตว์น้ำสายพันธุ์เล็ก ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ แต่เป็นสัตว์น้ำวัยเด็กที่ยังไม่โตเต็มวัย”

Advertisement

คือข้อมูลจากปาก วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย องค์กรพัฒนาเอกชนด้านงานอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่หลายคนไม่เคยทราบมาก่อน

“ที่ผ่านมามีปัญหาอย่างหนึ่งที่แก้ไม่ตกคือการเอาสัตว์น้ำละอ่อนมาใช้ในการบริโภค โดยพบว่าในการประมงนั้นมีการจับสัตว์น้ำละอ่อนเยอะมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศตลอดจนเศรษฐกิจและผู้บริโภคเอง เนื่องจากเมื่อสัตว์น้ำที่ยังไม่โตเต็มวัยถูกจับไปจนหมดจึงไม่เหลือสัตว์น้ำให้ขยายพันธุ์ในเวลาต่อๆ ไป ที่ผ่านมาเมื่อสัตว์น้ำละอ่อนถูกจับมาวางขายมักถูกเปลี่ยนชื่อเรียกเสมอจนผู้บริโภคเข้าใจว่าเป็นปลาสายพันธุ์เล็ก ไม่ใช่ปลาวัยอ่อน” วิโชคศักดิ์ย้ำอีก

สอดคล้องกับประสบการณ์ตรงของ จิรศักดิ์ มีฤทธิ์ ชาวประมงพื้นบ้าน แห่งประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งย้อนเล่าว่า เมื่อ พ.ศ.2551 เคยเกิดวิกฤตมาแล้ว โดยที่ตนก็เป็นคนหนึ่งซึ่งใช้อวนตาถี่จับลูกปลาหลายพันกิโลกรัมต่อวัน ทำให้ในที่สุดไม่มีปลาให้จับ ต้องอพยพครอบครัวไปหากินต่างอำเภอ จน สมาคมรักษ์ทะเลไทย ต้องลงพื้นที่ถอดบทเรียน ได้ข้อสรุปว่า เมื่อจับลูกปลาจนหมด ทำให้ไม่มีปลาขยายพันธุ์ ชุมชนจึงมีข้อตกลงร่วมกันว่าจะไม่ใช้อวนขนาดเล็กมาจับปลาอีก ไม่เช่นนั้นอาชีพก็พัง

หากประมงพาณิชย์ รวมถึงประมงพื้นบ้านยังคงจับสัตว์น้ำวัยอ่อนอย่างต่อเนื่องจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจจนอาจเข้าสู่วิกฤต

อย่างไรก็ตาม ขณะที่หลายคนมองว่าทางออกของปัญหาเหล่านี้อาจต้องไปแก้ไขที่ชาวประมงเป็นหลัก โดยเน้นไม่ให้จับสัตว์น้ำวัยอ่อน แท้จริงแล้ว ยังมีแง่มุมที่ต้องพิจารณาไปมากกว่านั้นด้วย นั่นคือ ประมงพาณิชย์ ซึ่งจับสัตว์น้ำได้มากกว่าประมงพื้นบ้านอย่างมากมาย

“สัตว์วัยอ่อนเป็นสัตว์น้ำขนาดเล็ก การใช้เครื่องมือจึงต้องเล็กกว่าตัวปลาซึ่งส่วนมากก็ไม่ได้จับกันได้บ่อยนัก โดยการทำประมงนั้นแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกคือชาวประมงพื้นบ้านที่จะออกเรือแค่วันละครั้ง จับสัตว์น้ำแบบแยกประเภททำให้การออกเรือแต่ละครั้งต้องนำอุปกรณ์จับสัตว์น้ำเฉพาะชนิดไป ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านไม่สามารถจับสัตว์น้ำได้คราวละมากๆ ต่อการออกเรือหนึ่งครั้ง ขณะที่ประมงพาณิชย์เป็นประมงขนาดใหญ่ เครื่องมือมีความพร้อมกว่า ถ้าเป็นอวนล้อมจับก็จะมีออกคืนหนึ่ง 3-5 ครั้ง ทำให้จับสัตว์น้ำได้เป็นปริมาณมาก” จิรศักดิ์อธิบาย

ระบบนิเวศพัง ห่วงโซ่อาหารขาดหาย ปลาใหญ่ต้องกินลูกตัวเอง
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การที่สัตว์น้ำวัยเด็กหายไปจากน่านน้ำทะเลนั้นส่งปัญหาโดยตรงต่อระบบนิเวศ สำหรับปลาที่ถูกมนุษย์จับมาวางขายมากที่สุดคือ ปลากะตัก ซึ่งเป็นปลาขนาดเล็กโดยธรรมชาติไม่ว่าจะวัยเด็กหรือวัยโต ทำให้มันเป็นอาหารหลักของปลาทุกชนิดในระบบนิเวศ แต่เมื่อมนุษย์จับปลากะตักมาขายทำให้ห่วงโซ่อาหารขาดหายไป และทำให้ปลาโตกว่าต้องหันมากินลูกตัวเอง

ต่อมา ปลาชนิดอื่นๆ ก็เริ่มลดน้อยถอยลง ปลาทูแทบจะหายไปจากทะเลไทย เมื่อจับปลาได้น้อยลง ก็ยิ่งออกเรือจับกันมากขึ้น

ผู้ได้รับผลกระทบหลักๆ คือชาวประมงพื้นบ้านที่มีรายได้น้อย ส่วนประมงพาณิชย์ก็ต้องใช้เวลา อวนและน้ำมันเรือมากขึ้น ซึ่งกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจทั้งระบบ เพราะต้องใช้สัตว์น้ำวัยอ่อนจำนวนมากจึงจะมีน้ำหนักครบหนึ่งกิโลกรัม แต่ถ้ารอให้สัตว์น้ำโตเต็มวัยก็ไม่จำเป็นต้องใช้ปริมาณมากถึงขนาดนั้น ซึ่งจริงๆ แล้วแค่เพียงหกเดือน ปลาส่วนใหญ่ก็โตเต็มวัยแล้ว และยังทำให้ราคาในตลาดเปลี่ยนเป็นราคาถูกลง หากไม่จัดการเรื่องนี้จะเกิดวิกฤตอย่างรุนแรง คนไทยจะต้องกินปลาด้วยราคาที่แพงขึ้น และหาปลาที่มีคุณภาพมาบริโภคได้ยากขึ้น

ชาวประมงรุ่นใหม่สนับสนุนจับสัตว์น้ำโตเต็มวัยซึ่งปลาส่วนใหญ่ใช้เวลาเพียง 6 เดือน

ดวงใจ พวงแก้ว Producer Outreach Manager-SE Asia องค์กรมาตรฐานอาหารทะเลยั่งยืน ASC ลงรายละเอียดในประเด็นนี้ว่าสัตว์น้ำแต่ละสายพันธุ์นอกจากจะมีหน้าที่เรื่องห่วงโซ่อาหารของกันและกัน ยังมีหน้าที่รับผิดชอบต่อกันในการสร้างความสมดุลในท้องทะเล หากมนุษย์บริโภคมากไปโดยไม่ให้สัตว์น้ำได้ฟื้นฟู เช่น บริโภคโดยไม่ให้สัตว์น้ำได้มีโอกาสแพร่พันธุ์ หรือรักษาความสมดุลในระบบนิเวศก็อาจจะเกิดปัญหา

“ประมงพื้นบ้านหรือประมงพาณิชย์ เมื่อออกเรือจากเมื่อก่อนออกไปไม่นานก็ได้สัตว์น้ำกลับมาคุ้มค่าแรง แต่เมื่อสัตว์น้ำน้อยลง ทำให้เรือประมงวิ่งออกไปไกลมากขึ้น หมดน้ำมันมากขึ้น เสียทรัพยากรแรงงานและเวลา ทั้งยังก่อให้เกิดคาร์บอน ฟุตปรินต์มากขึ้น และสิ่งต่างๆ ที่ต้องสูญเสียไปเพื่อชดเชยในการเอาอาหารทะเลกลับมายังฝั่งด้วย” ดวงใจกล่าว

‘ชนชั้นกลาง’ ลูกค้าหลัก ที่ต้องกล้า ‘ตัด (สิน) ใจ’
มาถึงประเด็นที่ว่า ลูกค้าหลักของห่วงโซ่การซื้อขายสัตว์น้ำโตไม่เต็มวัยคือใครบ้าง ข้อมูลจากงานวิจัย พบว่าอันดับหนึ่งคือ ห้างโมเดิร์นเทรด หรือตลาดค้าปลีก รองลงมาคือ กลุ่มตลาดขายของฝาก ส่วนตลาดสด และตลาดออนไลน์ อยู่ในลำดับถัดมา ส่วนผลจากการสำรวจใน 15 จังหวัดพบว่า 3 อันดับความนิยมของการบริโภค ได้แก่ 1.ชลบุรี 2.นครราชสีมา และ 3.กรุงเทพฯ นั่นหมายความว่ากลุ่มเมืองใหญ่และชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อมาก คือกลุ่มลูกค้าหลักในการบริโภคสัตว์น้ำวัยอ่อนในไทย

สำหรับภาพกว้าง ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ ‘กรีนพีซ’ ประเทศไทยให้ข้อมูลว่า หากดูประมงโลกจะพบว่าจีนเป็นมหาอำนาจของประมงทะเล เข้าใจว่ากองเรือประมงออกหาปลามีจำนวนมาก จีนจับปลา 15 เปอร์เซ็นต์ของประมงโลก โดยนิยมจับปลาเป็ดจนส่งผลกระทบวงกว้างต่อระบบนิเวศทางทะเลของจีน โดย 80 เปอร์เซ็นต์เป็นปลาวัยอ่อน ปริมาณของปลาเป็ดเหล่านี้มากกว่าปลาทั้งหมดที่จับได้ในประเทศไทย นโยบายการประมงของจีนนั้นท้าทายมาก และได้มีการคุยกันว่าพยายามการลดการทำประมงทะเลให้เหลือ 10 ล้านตันต่อปีจาก 12-13 ล้านตัน และลดจำนวนกองเรือประมงลง จะช่วยให้ทะเลฟื้นฟูกลับมาได้ระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังยกตัวอย่างการณรงค์โดยกรีนพีซใน ตุรกี ในประเด็นนี้ตั้งแต่ 1 ทศวรรษที่แล้ว นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงกฎหมายประมงของประเทศ

“กรีนพีซในตุรกีมีงานรณรงค์เรื่องการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนเมื่อราว 10 ปีก่อน และมีคนร่วมลงชื่อให้รัฐบาลออกกฎหมายห้ามจับปลาวัยอ่อน 8 ชนิด กว่า 5-6 แสนคน ทั้งยังมีการกดดันในหลายๆ ทางจนเกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายประมงในตุรกีตามมา” ธารากล่าว

ถามว่า นอกเหนือจากนโยบายในภาพใหญ่ และกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม ภาคประชาชนจะมีบทบาทได้อย่างไรบ้าง?

วงเสวนาระดมความเห็นได้ข้อสรุปว่า ผู้บริโภคมีส่วนอย่างมากในการกำหนดชะตากรรมของทะเลไทย โดยอาจต้องใช้แคมเปญดึงดูดใจ ทำอย่างไรจึงจะเชื่อมผู้บริโภคแต่ละคนในเมืองหลวงที่ซื้อของจากห้างโมเดิร์นเทรด หรือตลาดค้าปลีก

กุ้งหอยปูปลา โยงไปถึงชาวประมงพื้นบ้าน ถึงชุมชนที่ดูแลทะเล พลังผู้บริโภคในเมืองมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดทิศทางทะเลไทย นอกจากนี้ ต้องกระจายความรู้เพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดเรื่องชื่อที่ถูกตั้งขึ้นใหม่ให้สัตว์น้ำที่ยังโตไม่เต็มวัยซึ่งกลายเป็นความทรงจำใหม่ว่าเป็นชื่อสายพันธุ์

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดทั้งมวล ต้องมีการร่วมมือกันจากคน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ชาวประมงที่เป็นคนจับปลา หากทะเลกลับมาสมบูรณ์ชาวประมงจะได้กำไรและไม่ต้องออกทะเลไกลๆ 2.ผู้บริโภค ซึ่งนอกจากมีส่วนสำคัญได้ด้วยการไม่ซื้อสัตว์น้ำวัยอ่อน ยังสามารถเข้าร่วมแคมเปญต่างๆ ลงชื่อเรียกร้องต่อบรรดาตลาดในห้างสรรพสินค้าต่างๆ ให้หยุดขายสินค้าสัตว์น้ำวัยอ่อน 3.ภาครัฐ ต้องออกกฎหมายเป็นภาพรวมให้ได้ 4.ลำดับสุดท้ายคือ ห้างโมเดิร์นเทรด ที่เป็นตลาดใหญ่มาก จากผลสำรวจชี้ชัดว่าเป็นมือที่สำคัญในห่วงโซ่การบริโภคอาหารทะเล ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ต้องรอกฎหมาย แค่ใช้ความกล้าหาญในการตัดสินใจว่าจะไม่ขายสัตว์น้ำยังไม่โตเต็มวัยก็เป็นอันจบ

ทั้งนี้ ปัจจุบัน เกิดแคมเปญ ซุปเปอร์มาร์เก็ต: เลิกขายสัตว์น้ำที่ยังไม่โตเต็มวัย เพราะอาหารทะเลกำลังจะ #หมดแล้วจริงๆ โดยมี ธันวา เทศแย้ม ชาวประมงรุ่นใหม่เป็นผู้ริเริ่มเพื่อรณรงค์เลิกกินปลาเล็กผ่านเว็บไซต์ Change.org/BabySeafood โดยเชิญชวนให้ผู้บริโภคช่วยกันลงชื่อเพื่อบอกกับซุปเปอร์มาร์เก็ต ให้เลิกขายสัตว์น้ำวัยอ่อน

หากซุปเปอร์มาร์เก็ตนับพันทั่วไทยเลิกขาย ก็จะช่วยตัดตอนวงจรระหว่างคนจับและคนซื้อได้อย่างมหาศาล

ทีมข่าวเฉพาะกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image