กับดัก รธน. อุ้ม รบ.-เมินสังคม ปลุก การเมือง ‘นอกสภา’

กับดัก รธน. อุ้ม รบ.-เมินสังคม ปลุก การเมือง ‘นอกสภา’

จับตาความเคลื่อนไหวการเมืองนอกสภาภายหลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาดหนัก

จับตาแนวร่วม “คาร์ม็อบ” ที่จุดประกายโดย นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ที่ชักชวนผู้คนออกมาแสดงพลัง

รวมตัวกันเคลื่อนพลไปยังพรรครัฐบาล กดดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

จี้พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ถอนตัว

Advertisement

กดดันพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมพลังประชาชาติไทย ให้เปลี่ยนแปลงรัฐบาล

แม้คำตอบจากพรรคร่วมรัฐบาลคือ “ไม่” แต่การจุดกระแสดังกล่าวมิได้สูญเปล่า เพราะมีแนวร่วมเข้าไปสมทบ

เป้าหมายคือ ต้องการการเปลี่ยนแปลง

Advertisement

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญสามารถเกิดขึ้นได้

การเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลสามารถเกิดจากการปรับคณะรัฐมนตรี ผลที่ตามมาคือการเปลี่ยนทีมงานในการบริหาร

หรือเกิดขึ้นได้ด้วยการลาออกของนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีผลต่อการโละคณะรัฐมนตรี เพื่อหาผู้นำคนใหม่ และรัฐบาลใหม่

หรือนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนเลือกพรรคการเมือง เลือกนักการเมือง และเลือกรัฐบาลชุดใหม่

ความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนในรูปแบบของ “คาร์ม็อบ” ก็มีเจตนาจะให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

แต่ดูเหมือนว่า จวบจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีสัญญาณใดที่บ่งบอกว่า รัฐบาลจะเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศ “ยิ่งไล่ยิ่งสู้”

ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาล ยกเหตุผลสารพัด ปัดข้อเสนอถอนตัวจากรัฐบาล

เมื่อนายกฯไม่ปรับ ไม่ยุบ พรรคร่วมรัฐบาลไม่ถอน การเปลี่ยนแปลงก็ไม่เกิด

แต่คนนอกสภายังต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ในที่สุดการเมืองนอกสภาก็จะปะทุ

การเกิดม็อบเคลื่อนไหวนอกสภา เพราะเหตุการเมืองในระบบปิดกั้นเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ ตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญปี 2560

ผลการเลือกตั้งที่ ส.ส.เขตของพรรคเพื่อไทยได้รับการเลือกตั้งมากที่สุด แต่ต้องไปเป็นฝ่ายค้านนั้น แสดงถึงอานุภาพของรัฐธรรมนูญ

การห้าม นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สมัยเป็นหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เข้าสภา ก็เกิดขึ้นด้วยอานุภาพของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูก

การยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นตัวอย่างที่ดี

เมื่อคนรุ่นใหม่เทคะแนนเลือกพรรคอนาคตใหม่ แต่ในที่สุดตัวแทนของพวกเขาไม่สามารถมีบทบาทในสภาได้

คนรุ่นใหม่จึงออกมาเคลื่อนไหวนอกสภา

เมื่อความเคลื่อนไหวนอกสภาเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น รัฐสภาพยายามดึงเอาปัญหาเข้าสู่ระบบ

ในที่สุดมีมติที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แต่ภายหลังเมื่อการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมอ่อนแรง เพราะข้อเรียกร้องสูงเกินกว่าที่จะรับได้

รัฐสภาก็คว่ำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

หลังจากนั้นบรรดาแกนนำที่เป็นนักเรียนนิสิตนักศึกษาต่างถูกดำเนินคดี ความเคลื่อนไหวนอกสภาดูเหมือนจะเงียบลง

ขณะเดียวกัน สถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดก็เกิดขึ้น และบานปลายกลายเป็นปัญหาทั้งด้านสาธารณสุข และด้านเศรษฐกิจ

ปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวโยงกับการบริหารที่คาดการณ์ผิดพลาด โดยเฉพาะการคาดการณ์เรื่องวัคซีน

เกิดปัญหาวัคซีนมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ

เกิดปัญหายกเลิกคิวการฉีดวัคซีน เพื่อนำวัคซีนที่มีอยู่ไปให้แก่กลุ่มคนที่จำเป็นกว่า

เกิดปัญหาที่ไม่สามารถยับยั้งการเจ็บ การป่วยหนัก และการตาย ได้

และเกิดปัญหาเรื่องรายได้ของคนในชาติ

ขณะเดียวกัน ปัญหาสังคมที่เกี่ยวโยงกับความเหลื่อมล้ำ การใช้อำนาจเงิน อำนาจรัฐ และเส้นสาย กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นสะท้อนกลับไปยังรัฐบาล

กลายเป็นคำถามเรื่องประสิทธิภาพการบริหาร

และเกิดเป็นความต้องการการเปลี่ยนแปลง

แต่ดูเหมือนว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ความต้องการดังกล่าวจะไม่ประสบผล

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีบทบัญญัติที่ค้ำยันนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลอย่างแน่นหนา

การเมืองในระบบตกอยู่ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ และวุฒิสภา

การผลักดันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้จะมีการเสนอไปหลายร่าง และหลายร่างที่เสนอนั้น รัฐสภาเสียงส่วนใหญ่มีมติให้ผ่านวาระ 1

แต่เมื่อสมาชิกวุฒิสภาสนับสนุนไม่ถึง 84 เสียง หรือ 1 ใน 3 ของวุฒิสภา ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ได้รับเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งก็ต้องตกไป

ตอกย้ำระบบ “เสียงข้างน้อย” ควบคุม “เสียงข้างมาก”

ตอกย้ำว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 นั้นมีปัญหา

รัฐธรรมนูญปี 2560 นั้น “ดีไซน์มาเพื่อเรา” แต่คำว่า “เรา” ในที่นี้ไม่ได้รวมถึงประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศ

เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาว่า พรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งมาก แต่ไม่ได้บริหารประเทศ

เมื่อผลการดำเนินการออกมาว่า พรรคการเมืองที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบ กลับถูกระบบขับไล่ออกไป

เมื่อถึงเวลาที่สังคมเริ่มอยากเห็นการปรับเปลี่ยน แต่การเมืองในระบบไม่สามารถตอบสนองได้

ผู้คนย่อมถูกบังคับให้หันไปพึ่งการเมืองนอกสภา

ก่อนหน้านี้การเมืองนอกสภาปะทุขึ้นโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ออกไปเดินถนน เนื่องจากพวกเขารู้สึกว่ารัฐบาลไม่รับฟังความเห็น

มาถึงบัดนี้นอกจากกลุ่มคนรุ่นใหม่แล้ว ยังมีกลุ่มคนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาด เข้ามาเสริม

กลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงการบริการภาครัฐ กลุ่มคนที่เห็นความเหลื่อมล้ำ กลุ่มคนที่ถูกอำนาจเงิน อำนาจรัฐ และเส้นสายฉกฉวยความปลอดภัยไป และกลุ่มคนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง แต่ทุกอย่างยังไม่เปลี่ยนแปลง

แต่ละคนแต่ละกลุ่มเริ่มต้องการเวทีแสดงออก

หากมีการแสดงออก ถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองใช้กฎหมายมายับยั้ง ความอัดอั้นย่อมเกิดขึ้น

เมื่อกลไกในระบบไม่สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมได้ สังคมคงต้องหาช่องทางปลดปล่อยความอึดอัด

เมื่อจำนวนผู้ป่วยผู้เสียชีวิตมากขึ้น เมื่อความแร้นแค้นยากลำบากเกิดขึ้นทั่วแผ่นดิน โดยกลไกในระบบไม่สามารถแก้ไขปัญหา

การเมืองในระบบไม่สามารถเป็นตัวแทนของประชาชนได้

เมื่อถึงเวลานั้น ประชาชนย่อมลงสู่ท้องถนน

การเมืองนอกสภาจะปะทุขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image