ปัตตานีถึงขั้นโคม่า คุมไม่อยู่ผู้ป่วยใหม่พุ่ง 375 ราย ตาย 5 ปิดหมู่บ้าน ชาวบ้านเริ่มอดอยาก

ปัตตานีถึงขั้นโคม่า คุมไม่อยู่ผู้ป่วยใหม่พุ่ง 375 ราย ตาย 5 ปิดหมู่บ้าน ชาวบ้านเริ่มอดอยาก รอเยียวยา

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี จนขณะนี้ไม่สามารถควบคุมได้ หลังผู้ติดเชื้อยังคงมีตัวเลขที่พุ่งสูงไม่หยุด โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ของวันที่ 16 ก.ค.พุ่งถึง 375 คน ยอดผู้ป่วยสะสม 5,620 คน รักษาหาย 3,113 คน และพบผู้เสียชีวิตรายใหม่เพิ่มขึ้นอีก 5 ราย ทำให้ยอดสะสมผู้เสียชีวิตมีมากถึง 59 ราย นอกจากนี้ยังมีประชาชนอยู่ระหว่างรอผลตรวจอีก ได้มีการคาดการว่าตัวเลขจริงๆ น่าจะถึง 1,000 รายแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวเมืองปัตตานีเศรษฐกิจซบเซาต่อเนื่อง บรรยากาศร้านค้าตลาดสดมีผู้คนออกมาจับจ่ายน้อยลง กราฟแสดงผลตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันกระจายอยู่ทั่วทั้ง 12 อำเภอ ทาง ศบค.เรียกประชุมด่วนหาทางยับยั้งป้องกัน สร้างความเข้าใจ และเฝ้าระวังตามมาตรการอย่างถึงขีดสุด มีการควบคุมไม่ให้เกิดการเคลื่อนไหว ออกไปพบปะผู้คน น่าเป็นห่วงอีกในช่วง 22-25 ก.ค.นี้ ซึ่งจะเข้าช่วงวันฮารีรายอ ตัวเลขผู้ป่วยรักษาตัวที่ รพ.สนามทั้งหมดยังคงสูงอยู่ที่ 1,602 ราย ขณะที่ประชาชนต่างเข้ารับวัคซีนแล้ว 70,063 คน

Advertisement

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ใน จ.ปัตตานี นั้น ผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นตลอดระยะหนึ่งเดือนกว่าจนมาถึงวันนี้ยังไม่มีวี่แววว่าจะสามารถควบคุมได้ ศบค.ยังคงให้เป็นพื้นที่สีแดงเข้ม โดยในห้วงที่ผ่านมาแพทย์ต้องทำงานอย่างหนัก หลังพบผู้ป่วยมีการปกปิดไทม์ไลน์อย่างต่อเนื่อง มีบุคลากรสาธารณสุขหลายคนกลายเป็นผู้ติดเชื้อต้องกักตัว และติดเชื้อไปตามกัน แต่ที่ต้องจับตามากที่สุดคือกลุ่มเสี่ยงที่รอผลตรวจ เนื่องจากกลุ่มเหล่านี้มาจากหลายๆ พื้นที่และไม่แสดงอาการ ซึ่งระหว่างรอผลตรวจก็ต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน แต่ผลที่ได้คือยังคงพบกลุ่มเสี่ยงที่รอผลตรวจเดินเพ่นพ่านออกไปข้างนอกชุมชน อีกทั้งประชาชนอื่นๆ ที่ใช้ชีวิตปกติยังคงดื้อรั้น ไม่สวมแมสก์บ้าง และสวมแมสก์อยู่ใต้คางบ้าง ซึ่งหลายคนยังเมินต่อมาตรการป้องกันโควิด-19

อีกปัจจัยหนึ่งคือด้านฝ่ายปกครองจังหวัดปัตตานียังไม่เด็ดขาดพอกับประชาชนที่ไม่ปฏิบัติตาม จึงเป็นสาเหตุทำให้เชื้อได้ขยายไปอย่างรวดเร็ว คาดว่าผู้ป่วยรายใหม่และเสียชีวิตจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นอีก

Advertisement

ตัวเลขผู้เสียชีวิตทุกวันเฉลี่ยอยู่ที่ 3 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว ทำให้ปัจจุบันมีผู้ป่วยรุนแรงรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานีเกือบ 100 คนแล้ว ในขณะที่ประชาชนถูกปิดหมู่บ้านมากหลายพันหลัง ประชากรเดือดร้อนหลายหมื่นคน ต่างรอการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐหรือหน่วยงานอื่นๆ

นายแพทย์รุสตา สาและ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า ตัวเลขผู้ป่วยใหม่ที่ติดเชื้อจริงที่ยังสอบสวนไม่พบ คาดการว่ามีจำนวนมากกว่าจำนวนตัวเลขของทางจังหวัดแน่นอน สำหรับเตียงสนามในการรักษานั้นปัจจุบันนี้โรงพยาบาลสนามทั้ง 14 แห่ง มีเตียงทั้งหมด 1,835 เตียง ยังมีจำนวนเตียงว่างรวมเกือบ 200 เตียง ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วยรายใหม่ และขณะนี้เนื่องจากจังหวัดปัตตานีได้จัดรูปแบบ home isolation (แยกกักผู้ป่วยในบ้าน) โดยผู้ป่วยกลุ่มสีแดงและสีเหลืองเป็นผู้ป่วยที่มีการหนัก จะถูกส่งตัวเข้าทำการรักษาที่โรงพยาบาลปัตตานี และโรงพยาบาลในแต่ละอำเภอ แต่ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวติดเชื้อแต่ไม่รุนแรงก็จะถูกแยกกักในบ้านของตนเอง ซึ่งบ้านจะต้องมีสัญลักษณ์บ่งบอกให้คนอื่นรู้ว่าบ้านหลังนี้มีผู้ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยง เช่น ปักธงแดง วางแผง หรือเชือกกั้นไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อขยายต่อ ซึ่งหลายอำเภอได้ทำไปแล้ว ดังนั้น home isolation (แยกกักผู้ป่วยในบ้าน) จึงเป็นทางออกในการช่วยระบายความแออัดของโรงพยาบาลสนามมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่น่ากังวลคือ ผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุและมีโรคต่างๆ ที่ผ่านมาเสียชีวิตไปหลายรายแล้ว วันนี้ผู้ป่วยที่มีอาการหนักมีค่อนข้างมากประมาน 100 กว่าคน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image