‘รวมพลังสตรี เอามื้อสามัคคี’ อ.สว่างวีระวงศ์ เฉลิมพระเกียรติ วันเฉลิมพระชนมพรรษา ร.10

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนทุนสารภีท่าช้าง บ้านใหม่สารภี หมู่ที่ 3 ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี
นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ นายธนัท ชายทวีป นายอำเภอสว่างวีระวงศ์ เป็นประธานกิจกรรม รวมพลังสตรี เอามื้อสามัคคี เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2564 โดยมี นางรัชดาวรรณ คำเอี่ยม พัฒนาการอำเภอสว่างวีระวงศ์ พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน คณะกรรมการพัฒนาสตรีอำเภอสว่างวีระวงศ์ คณะกรรมการพัฒนาสตรีตำบล สมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) รวมกว่า 80 คน เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการองค์กรสตรีอำเภอสว่างวีระวงศ์ เสริมพลังภาคีพัฒนาร่วมใจจัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคี โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดโครงการเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2564 และส่งเสริมการจัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ปลูกผักสวนครัว พืชสมุนไพร ปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อให้สมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีและเกษตรกรได้เรียนรู้เรื่องประโยชน์ของการปลูกป่า และเป็นการขยายผลความรู้ให้แก่สมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ณ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนทุนสารภีท่าช้าง บ้านใหม่สารภี หมู่ที่ 3 ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการฯ ได้รับการสนับสนุนบุคลากรจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคำโพธิ์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ในการตรวจคัดกรองและรักษามาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) อย่างเคร่งครัด

สำหรับ ศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชน (ศูนย์สารภีท่าช้าง) ตั้งอยู่ที่ บ้านใหม่สารภี หมู่ที่ 3 ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี จัดตั้งเมื่อปี 2518 โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้รับบริจาคที่ดินทั้งหมด 50 ไร่ 2 งาน 57 ตารางวา ต่อมาในปี พ.ศ. 2519 ได้จัดสรรงบประมาณสร้างอาคารฝึกอบรมและมีเจ้าหน้าที่ดูแล ตั้งอยู่ในเขตบ้านใหม่สารภี หมู่ที่ 3 ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี และเมื่อปี 2556 สำนักพัฒนาทุนและองค์กรการเงินชุมชน ได้เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสว่างวีระวงศ์ และได้มอบหมายให้จัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ แผนผังการใช้ศูนย์สารภี และจัดตั้งคณะกรรมการบริหารและระเบียบข้อบังคับของศูนย์ฯ เพื่อใช้ประโยชน์ในการเป็นศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชน ตลอดจนสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงาน ซึ่งในปี 2560 กรมการพัฒนาชุมชน มีแนวทางในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชน ให้เป็นต้นแบบบโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์พัฒนาศูนย์ฯ ต่อมาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กรมการพัฒนาชุมชนได้มีนโยบายให้ศูนย์ฯ ดำเนินการปรับพื้นที่เป็นศูนย์เรียนรู้โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา กรมการพัฒนาชุมชน” และมีกิจกรรมต่อเนื่องเพื่อให้เป็นต้นแบบแก่ชุมชนอื่น

โอกาสนี้นายธนัท ชายทวีป นายอำเภอสว่างวีระวงศ์ ได้พบปะกับผู้เข้าร่วมโครงการและร่วมกิจกรรมการปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของกิจกรรมเอามื้อสามัคคี หรือการลงแขก ว่าเป็นกิจกรรมที่ดีมากที่ช่วยส่งเสริมวิถีชีวิตชุมชนให้เกิดการเกื้อกูลซึ่งกันและกันและส่งเสริมแนวทางการพึ่งตนเองและกันตนเอง และขอให้ทุกหมู่บ้านตำบลได้นำไปขยายผลในพื้นที่ของตนเอง จากนั้นนายอำเภอสว่างวีระวงศ์ ยังได้ร่วมปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ปลูกพืชสมุนไพรพื้นบ้าน เช่น กระชาย ฟ้าทะลายโจร ขมิ้น รวมทั้งยังเป็นประธานในการเปิดศูนย์อนุรักษ์เต่าพื้นบ้าน และธนาคารปลากินลูกน้ำยุงลาย ศูนย์เรียนรู้ชุมชนสารภีท่าช้าง

ขณะที่นางรัชดาวรรณ คำเอี่ยม พัฒนาการอำเภอสว่างวีระวงศ์ เปิดเผยว่า “ในฐานะที่ศูนย์สารภีท่าช้างแห่งนี้ ได้เข้าร่วมโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กรมการพัฒนาชุมชน (อพ.สธ.-พช.) จึงได้เชิญชวน ทีมงานสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสว่างวีระวงศ์ นพต. ผู้นำชุมชน คณะกรรมการศูนย์สารภี และภาคีเครือข่าย ได้ช่วยกันสร้างความมั่นคงด้านอาหารด้วยการปลูกพืชผักสวนครัวและพืชสมุนไพร ซึ่งเป็นทั้งอาหารและยารักษาโรคต่างๆ หลายโรค รวมถึงโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามแนวทางของกรมการพัฒนาชุมชน และความปรารถนาดี จากท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ในการน้อมนำแนวพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รอบ 2 ต่อเนื่อง โดยการรณรงค์ให้ทุกครัวเรือนปลูกผักสวนครัว เช่น กล้วย 5 หน่อ มะละกอ 5 ต้น พืชสวนครัว อื่นๆ โดยเฉพาะ ขิง ตะไคร้ กะเพรา โหระพา บวบ รวมถึงพืชสมุนไพร เช่น กระชาย ฟ้าทะลายโจร ขิง ข่า ตะไคร้ มะกรูด มะนาว กะเพรา โหระพา และพริกให้ครบทุกบ้าน ซึ่งกระชาย ขิง ฟ้าทะลายโจร นั้น ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถช่วยป้องกันโควิด-19 และบรรเทาอาการเบื้องต้นของไข้หวัด หรือป้องกันการติดเชื้อได้ โดยพบว่าสารสกัดของกระชายขาว สามารถแสดงฤทธิ์ในการต้านไวรัสทั้งในระยะก่อนและหลังการติดเชื้อนอกจากนี้ยังช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกับ ฟ้าทะลายโจร ซึ่งกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้การรับรองแล้วว่ามีสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ที่สามารถรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ โดยให้รับประทานฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ วันละ 180 มิลลิกรัม เป็นเวลา 5 วัน จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย จะเห็นได้ว่าสมุนไพรไทยมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์อย่างมากมายจนทั่วโลกให้การยอมรับ จึงเป็นจุดแข็งของประเทศไทยที่สามารถนำมาช่วยเหลือให้พี่น้องประชาชนรอดพ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้เป็นอย่างดี” พัฒนาการอำเภอสว่างวีระวงศ์ กล่าวปิดท้าย หลังจากร่วมกิจกรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image