คต.เปิดตัวระบบต้นทุนร่วม เสริมแกร่งภาคส่งออกด้วย นวัตกรรมดิจิทัล

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้พัฒนาระบบเชื่อมต้นทุนร่วมทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นการใช้นวัตกรรมดิจิทัลในการเชื่อมโยงข้อมูลการอนุญาตให้ใช้ผลการตรวจคุณสมบัติของสินค้าทางด้านถิ่นกำเนิด (ตรวจต้นทุน) แบบไร้เอกสาร (Paperless) เพื่อให้ผู้ส่งออกสามารถขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) สำหรับการนำไปขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว รวมทั้งสอดคล้องกับนโยบายการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ที่ต้องลดการเดินทางและการสัมผัสเอกสารที่ไม่จำเป็นให้ได้มากที่สุด

การตรวจต้นทุนเป็นหนึ่งในกระบวนการที่ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องดำเนินการก่อนการขอรับ C/O เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสินค้าที่จะขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ FTA เป็นสินค้าที่ได้ถิ่นกำเนิดสินค้าของไทยจริง และผลิตถูกต้องตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) ที่ตกลงกันไว้ในแต่ละ FTA ซึ่งแต่เดิมกรณีที่ผู้ส่งออกซื้อสินค้าที่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม (พิกัดตอนที่ 25 – 97) จากผู้ผลิตไทยเพื่อนำไปส่งออก ผู้ส่งออกจะไม่มีข้อมูลต้นทุนการผลิตเนื่องจากเป็นข้อมูลของผู้ผลิต จึงจำเป็นต้องเพิ่มขั้นตอนที่ให้ผู้ผลิตดำเนินการยื่นขอตรวจต้นทุน หลังจากที่ได้รับผลการตรวจต้นทุนแล้วผู้ผลิตจะต้องทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่ออนุญาตให้ผู้ส่งออกใช้ผลการตรวจต้นทุนดังกล่าวสำหรับการขอ C/O ในแต่ละครั้ง ซึ่งเป็นการเพิ่มขั้นตอน ระยะเวลา และกระบวนการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ ในวันนี้ ระบบดิจิทัลในการใช้ต้นทุนร่วมที่พัฒนาขึ้นใหม่จะเป็นการอนุญาตแบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด โดยผู้ผลิตสามารถเลือกอนุญาตให้ผู้ส่งออกใช้ต้นทุนร่วมในการขอ C/O ได้ในคลิกเดียว นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้ผู้ผลิตสามารถตรวจสอบได้ว่ามีผู้ส่งออกใช้ต้นทุนร่วมในการขอรับ C/O ไปจำนวนมากน้อยเพียงใด และตรงกับการซื้อขายที่เกิดขึ้นจริงระหว่างผู้ผลิตและผู้ส่งออกหรือไม่ ซึ่งเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่สินค้าไทยว่าจะไม่มีการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าในการขอรับ C/O จากกรมฯ

นายกีรติ กล่าวว่า การพัฒนาระบบต้นทุนร่วมจะเป็นประโยชน์แก่ภาคการผลิตและการส่งออกของไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากสอดคล้องกับบริบทการค้าในยุคปัจจุบันและเป็นการอำนวยความสะดวกในการขอรับสิทธิพิเศษทางการค้าของสินค้าไทยโดยการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในการเพิ่มการให้บริการแบบดิจิทัลและการรวมระบบเข้าร่วมเป็น 1 ใน 85 รายการของบริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวของกระทรวงพาณิชย์ (MOC Online One Stop Service) ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญให้การส่งออกไทยยังคงสามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการเข้าร่วมการอบรมสัมมนาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (ระบบ Zoom) ในวันที่ 2 สิงหาคมนี้ ที่เว็บไซต์ edi.dft.go.th

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image