‘มาดามเดียร์’ แนะ ‘รัฐ’ ปราบเฟคนิวส์ ต้องรอบคอบ

‘มาดามเดียร์’ แนะ ‘รัฐ’ ปราบเฟคนิวส์ต้องรอบคอบ ขอแก้ไขปัญหาการสื่อสารควบคู่ลดความสับสนข้อมูล

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว แสดงความเห็นต่อข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เกี่ยวกับการจัดการข่าวปลอม (Fake news) ระบุว่า ปรากฏการณ์ดารา คนมีชื่อเสียงออกมา call out จนตามมาถึงการประชุม (ครม.) ที่ผ่านมา ที่นายกฯมีคำสั่งให้ทุกกระทรวงจัดตั้งหน่วยงานให้เร่งติดตามและเอาผิดคนที่ปล่อยเฟคนิวส์ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่องค์กรสื่อ บุคคลที่มีชื่อเสียงหรือกระทั่งประชาชนธรรมดาหากพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องให้สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้เลยทันที ในขณะที่เมื่อวานนี้ 6 สมาคมสื่อมวลชนได้ร่วมออกแถลงการณ์คัดค้านคำสั่งของนายกฯ ว่าการกระทำดังกล่าวเท่ากับเป็นการปิดปากสื่อมวลชน ซึ่งไม่ต่างจากการปิดหูปิดตาประชาชน เป็น “การจำกัดสิทธิและเสรีภาพ” ของพลเมืองไทย

น.ส.วทันยากล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้สร้างความไม่สบายใจในฐานะที่เดียร์เคยทำงานในองค์กรสื่อ การแสดงจุดยืนของรัฐบาลที่มองการเรียกร้องความเดือดร้อนของประชาชนเป็นศัตรู ในขณะที่รัฐบาลคือตัวแทนประชาชนที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศ และหน่วยงานราชการก็ควรเป็นที่พึ่งให้ประชาชนในการบริการและคอยให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ที่สุด โดยเฉพาะในเวลาที่ประเทศกำลังเกิดวิกฤตเช่นนี้ จริงอยู่ว่าการบังคับใช้กฎหมายสำหรับผู้กระทำผิดโดยเฉพาะผู้ที่จงใจฝ่าฝืนกฎหมายนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ในยามที่ประชาชนทั่วทุกหย่อมหญ้ากำลังได้รับความเดือดร้อน คนกำลังล้มตายเป็นใบไม้ร่วง นั่นยังไม่นับรวมถึงคนที่เหมือนตายทั้งเป็นเพราะไม่มีเงินจะมาซื้อข้าวให้คลายจากความหิว ความรู้สึกเหล่านี้ประชาชนควรจะได้รับเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออก

“การบังคับใช้กฎหมายเฟคนิวส์ที่การตัดสินอยู่บนดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ การแสดงความรู้สึกในทางลบ เช่น วัคซีนไร้ประสิทธิภาพ รอวัคซีนนานแล้ว…รัฐบาลไม่ทำอะไร หรือกระทั่งการวิจารณ์การทำงาน ก็หมิ่นเหม่ต่อการผิดกฎหมาย เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ผู้มีอำนาจจะต้องทำด้วยความรอบคอบอย่างยิ่งต่อประชาชน และเมื่อมีการบังคับใช้กฎหมาย ต้องไม่ลืมที่จะทำงานเชิงรุกอย่างสร้างสรรค์ นั่นคือการปรับปรุงกระบวนการสื่อสารของรัฐที่ต้องสื่อสารข้อมูลสำคัญไปให้ถึงประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้ข้อมูลที่ครบถ้วนในการดูแลปกป้องตนเอง” น.ส.วทันยาระบุ

Advertisement

น.ส.วทันยากล่าวว่า นอกจากนี้ การสื่อสารต้องไม่ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนจนสุดท้ายต้องพยายามวิ่งหาข้อมูลด้วยตนเอง เพราะเมื่อใดก็ตามที่ประชาชนเกิดความสับสน ไม่แน่ใจในข้อมูล และที่สำคัญเมื่อเวลาต้องการหาข้อมูลแต่ไม่รู้ว่าจะเช็คข้อมูลถูกต้องได้ที่ไหน ก็จะเป็นโอกาสของผู้ที่ไม่หวังดีในการสร้างเฟคนิวส์ อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว โดยไม่แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุนั้น สุดท้ายแล้วผลลัพธ์ที่ได้ก็ไม่อาจเป็นไปอย่างที่หวัง แต่สิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่าคือ “การที่ผู้บริหารประเทศไม่ได้ยินเสียงที่แท้จริงจากประชาชน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image