เรื่องไม่คาดฝัน ในความผูกพันของครอบครัวเสือโคร่ง

เรื่องไม่คาดฝัน ในความผูกพันของครอบครัวเสือโคร่ง

วันที่ 29 กรกฎาคม ซึ่งตรงกับวันเสือโคร่งโลก เฟชบุ๊ก Thailand Tiger Project DNP กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยกลุ่มนักวิจัยเสือโคร่ง สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้เผยแพร่บทความ การศึกษา และความผูกพันระหว่างเสือในพื้นที่ ป่าห้วยขาแข้ง ดังนี้

“ผูกพัน ผูกกัน”

ในงานศึกษาวิจัยเสือโคร่ง นอกจากการได้ค้นหาข้อมูลในเชิงวิทยาศาสตร์แล้ว เรายังพบแง่มุมที่หลากหลายในการใช้ชีวิตของพวกมัน ในความ ดุร้าย ก้าวร้าว ไร้ความปราณี ในสายตามนุษย์ แท้จริงแล้วพวกมันมีมุมที่อ่อนโยน เอื้ออาทร ห่วงใย

สิทธิ์ตรี แม่เสือร่างใหญ่ของลูกทั้งสี่ ได้แก่ จุ๊บแจง กุ๊ดจี่ รุ้งนภา และโบ๊ท ผู้เป็นเพศผู้เพียงหนึ่งเดียวในครอก

Advertisement

เมื่อถึงเวลาที่ลูกต้องการกินเนื้อมากกว่านม การดูแลหาเลี้ยงทั้งสี่ตัวไม่ใช่งานง่าย แต่ก็ไม่ได้เกินกำลังของแม่สิทธิ์ตรีที่ต้องออกล่าทุกๆสี่ห้าวัน เพื่อให้ลูกๆได้มีกินและเติบโตตามวัยมีสัดส่วนร่างกายที่ควรจะเป็น

ในทุกครั้งของการล่าของแม่เสือ “ความเสี่ยง” ถือเป็นของคู่กันกับ “ความสำเร็จ” แต่ประสบการณ์การล่าที่สั่งสมของแม่ทำให้แม่สิทธิ์ตรีไม่เคยเพลี้ยงพล้ำหรือบาดเจ็บจากการหาอาหารเลี้ยงลูก

เมื่อลูกเติบใหญ่จนเข้าวัยสองปี มันเวลาที่ทุกตัวจะต้องแยกย้ายไปหาที่อยู่ตั้งหลักแหล่งหาเลี้ยงตัวเองรวมถึงสร้างครอบครัวใหม่ ลูกเสือสามตัว ได้เดินทางออกแสวงหาบ้านใหม่ ยกเว้น รุ้งนภา ที่แม่ยอมสละบ้านให้แล้วย้ายตัวเองไปสร้างรากฐานใหม่ใกล้ๆ กับ ลูกสาว “จุ๊บแจง”

Advertisement

คงเป็นเพราะความเป็นแม่ที่มีอยู่ในจิตวิญญาณที่ล่วงรู้และคาดการณ์ว่า รุ้ง นั้นนั้นอ่อนแอเกินกว่าที่จะรอนแรมออกนอกบ้านเกิดไปตั้งถิ่นฐานใหม่ ในเวลาที่ผ่านไปเท่าๆ กัน พี่สาวสองตัวที่ได้ออกเผชิญโลกด้วยกำลังตนเองนั้นนอกจากมีบ้าน ยังมีทายาท

ในขณะที่น้องสาวมีเพียงบ้าน แต่ไร้ทายาทที่จะสืบต่อเชื้อสาย เปรียบ เสมือนเมล็ดไม้ที่ได้เพียงโอกาสงอกแต่ไม่อาจเจริญงอกงามจนออกดอกออกผล นี่คงเป็นสิ่งที่ไม่ได้นอกเหนือความคิดและคาดการณ์ของสิทธิ์ตรีผู้เป็นแม่ แต่อย่างน้อยการตัดสินใจของแม่ก็ทำให้ลูกได้มีโอกาสเติบโต แล้วรอเวลาแห่งความเหมาะสมในผลิดอกออกผล ซึ่งคงเดินทางมาถึงในไม่ช้า

ธนากรหรือ เฮียธนา ที่แฟนเสือรู้จักกันดี ในช่วงเวลาแห่งความรุ่งเรืองในชีวิตมันมีครบทุกสิ่งทุกอย่างสมศักดิ์ศรีความยิ่งใหญ่ของมัน มีบ้านกว้างใหญ่ที่มีเสือโคร่งตัวเมียอาศัยอยู่ร่วมชายคาด้วยสามตัว ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยเหยื่อหลักขนาดใหญ่

เมื่อถึงเวลาที่ความรุ่งเรืองผ่านไปสิ่งที่ตามมาคือความโรยราที่มาแบบไม่ทันได้ตั้งตัว เพราะมีเสือหนุ่มบุกประชิดและยึดบ้านพร้อมเมียหนึ่งนางของมันไป มันจึงตกอยู่ในสถานการณ์ “เสือลำบาก” ของจริง เมื่อแม่ของลูกมันได้เปลี่ยนสภาพไปเป็นเมียตัวผู้อื่น

ทำให้ลูกชายที่เหลือเพียงหนึ่งตัวต้องหลบมาพักพิงอยู่กับพ่อในมุมหนึ่งของบ้านอีกเมียหนึ่งที่มีลูกสาม พ่อลูกต่างดูแลซึ่งกันและกันอย่างเอื้ออาทร ลูกนอนรอและมองดูพ่อกินอาหาร เป็นภาพอารมณ์ที่ไม่ได้ต่างจากมนุษย์ที่มีความผูกพันทางสายเลือด

ในช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับธนา มันปรับตัวใช้ชีวิตหากินในบ้านที่ลดขนาดลงเหลือเพียงเมียเดียว เพื่อประคอง “สามเมล็ดพันธุ์” ให้ได้หยั่งรากและเติบโตออกดอกผล แต่เสือหนุ่มผู้มาใหม่ไม่ได้ใส่ใจต่อความหวังของธนา มันต้องการที่จะครอบครองพื้นที่นั้นในทันที

ทำให้เกิดความยากเย็นในการใช้ชีวิตเกิดขึ้นอีกรอบ ธนาเลือกปรับโหมดการใช้ชีวิตเป็นแบบ หลังพิงฝา แทนการละหลบหนีไปหากินที่อื่นๆ จึงเป็นเหตุให้เกิดความโกลาหลในโลกนอกป่าในช่วงเวลาสั้นๆ แล้วจึงกลับเข้าสู่ความสงบ

ในเวลาที่เคลื่อนคล้อยไปช้าๆ ในป่ายังมีความเคลื่อนไหวอย่างเงียบเชียบเกิดขึ้น ธนาย้อนกลับมาหาลูกชาย ในสภาพร่างกายที่มีเพียงลวดลายและหัวใจเท่านั้นที่คงเดิมส่วนสิ่งอื่นเปลี่ยนแปรไปหมดสิ้น คงกลับมาเพื่อเมล็ดพันธุ์เม็ดสุดท้ายสินะ ธนากร

ในความมุ่งมั่นของธนากรที่จะเฝ้ามองความเป็นไปของทายาทนั้นมันจะไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์เลย ถ้ามันไม่พลาดไปทำร้ายสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่สัตว์ป่า ในมุมคิดของเจ้าหน้าที่สายอนุรักษ์นั้นเข้าใจในพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากข้อมูลสายวิจัย จึงได้ประสานแรงกันหาทางออกที่ดีให้กับมัน

ทุกครั้งที่ธนามาปรากฎกาย หรือทิ้งร่องรอยในบริเวณแนวขอบที่อาจจะเกิดปัญหากับมนุษย์ เหล่าเจ้าหน้าที่ก็ทำหน้าที่ผู้พิทักษ์กันเต็มกำลังและให้ความสำคัญกับความเป็นไปในแต่ละวันของมัน ประหนึ่งว่า ธนากรคือเครือญาติที่รู้จักกันมานานและอยากให้มันสมหวังในสิ่งที่มันหวัง อาจเป็นเพราะความพันผูกที่นอกเหนือจากการทำตามหน้าที่

การศึกษาวิจัยเสือโคร่งของไทยผ่านมายาวนาน หลายสภาพพื้นที่ หลายเหตุการณ์สำคัญ หลายความเสี่ยง หลายความล้มเหลว หลายอุปสรรค แต่ทุกอย่างมันก็ผ่านไปได้ด้วยดี เพราะพวกเขาเหล่านั้นมีจุดมุ่งหมายเดียวกันที่อยากพบเจอคือ “ความสำเร็จ” ของงาน

การทำงานกับสัตว์ป่าเป็นการทำงานที่ต้องพบเจอกับ สิ่งไม่คาดฝันเสมอๆ ทั้งดีและร้าย เมื่อช่วงเวลาที่ดูเหมือนวิกฤติผ่านเข้ามาทุกคนในทีมรู้ว่าตัวเองต้องทำอย่างไรเพื่อให้ผ่านพ้นไปด้วยดีโดยที่ไม่ต้องมีการบังคับหรือขอร้อง ไม่มีแม้แต่เสียงบ่น ก่นด่า ตำหนิ โชคชะตาหรือหัวหน้าทีมใดๆ อย่างเช่นครั้งหนึ่งที่การทำงานเผชิญหน้ากับความเสี่ยงที่อาจถึงแก่ชีวิต หัวหน้าทีมจึงตัดสินใจว่าควรเสี่ยงเพียงลำพัง เพราะถ้าพลาดก็สูญเสียไม่มาก แต่สิ่งที่ได้รับกลับมาคือ “ยอมไม่ได้หรอกครับ” เราควรเรียกว่าเป็นความผูกพันของทีมได้ใช่ไหม แล้วสามารถเทียบได้กับความผูกพันของพ่อเสือ แม่เสือ กับลูกหรือไม่ ไม่แน่ใจ จึงอยากนิยามเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่า “ผูกพัน ผูกกัน”

#บอกเล่าให้เค้าเอ็นดูเสือ บ้าง
_อยากเพิ่มคนรักเสือในวันเสือโคร่งโลก#

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image