วิจัยอิสราเอลชี้ หลังฉีดวัคซีนแต่ละคนภูมิคุ้มกันขึ้นไม่เท่ากัน บางคนมีน้อยกว่าอีกคนถึง 7 เท่า

(AP Photo/Mary Altaffer, File)

วิจัยอิสราเอลชี้ หลังฉีดวัคซีนแต่ละคนภูมิคุ้มกันขึ้นไม่เท่ากัน บางคนมีน้อยกว่าอีกคนถึง 7 เท่า

เว็บไซต์ เยรูซาเลมโพสต์ รายงานเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ว่า ผลการศึกษาวิจัยของทีมวิจัยทางการแพทย์จาก ศูนย์การแพทย์ชีบา ในเมืองเทลฮาโชเมอร์ ประเทศอิสราเอล ซึ่งนำโดยนายแพทย์ กิลี เรเกฟ-โยชาย ผู้อำนวยการแผนกระบาดวิทยาของโรคติดเชื้อ ประจำศูนย์ฯชีบา พบว่า บุคคลที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทคบางคน มีระดับภูมิคุ้มกันเพื่อการยับยั้งเชื้อก่อโรคโควิด-19 ต่ำกว่าคนอื่นที่ได้รับวัคซีนชนิดเดียวกันมาก ซึ่งแสดงว่าบุคคลนั้นมีความเสี่ยงที่เกิดการติดเชื้อซ้ำสูงกว่า

การศึกษาดังกล่าวซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการด้านการแพทย์ นิวอิงแลนด์เจอร์นัล เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ อาศัยการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 39 คนซึ่งติดเชื้อหลังจากฉีดวัคซีนไฟเซอร์ไปครบ 2 โดสแล้วนานอย่างน้อย 10 วัน จากจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมด 11,000 คน ในช่วง 3 เดือนก่อนหน้าการทดลอง

โดยกลุ่มตัวอย่าง 39 คนนี้ มีอายุเฉลี่ย 42.5 ปี ราว 1 ใน 3 หรือกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ติดเชื้อแล้วไม่มีอาการใดๆ, 10 เปอร์เซ็นต์มีอาการน้อยมาก, 21 เปอร์เซ็นต์ มีไข้ และอีก 19.4 เปอร์เซ็นต์มีอาการที่เรียกกันว่า “ลอง โควิด” คือ สูญเสียการรับรสและกลิ่น อ่อนล้า อาการดังกล่าวเป็นอยู่นานเกิน 6 สัปดาห์ขึ้นไป นอกจากนั้นทางศูนย์ฯชีบา ยังมีการตรวจหาสภาวะภูมิคุ้มกัน (serological tests) ในบุคคลากรทางการแพทย์อย่างสม่ำเสมออีกเกือบ 5,000 คน ทำให้สามารถใช้กลุ่มนี้ในการเปรียบเทียบระดับภูมิคุ้มกันกับกลุ่มตัวอย่างที่ติดเชื้อทั้ง 39 คนได้ โดยการเปรียบเทียบคำนึงถึงคุณลักษณะที่คล้ายคลึงกัน (เพศ,อายุ,สภาวะสุขภาพทั่วไปฯลฯ) อีกด้วย

นายแพทย์เรเกฟ-โยชาย ระบุว่า ทีมวิจัยพบว่า ผู้ที่ติดเชื้อหลังการฉีดวัคซีนที่ระดับแอนติบอดีที่ทำหน้าที่ยับยั้งเชื้อต่ำกว่าคนที่ไม่ได้ติดเชื้อถึง 3 เท่า และหากเปรียบเทียบกันในตอนที่แอนติบอดีขึ้นถึงระดับสูงสุดปรากฏว่า ผู้ที่ติดเชื้อหลังการฉีดวัคซีนมีระดับแอนติบอดีต่ำกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อถึง 7 เท่าตัว

Advertisement

ผลการศึกษาครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ พิสูจน์ให้เห็นจากการตรวจสอบผู้ป่วยจริงๆ ว่า ระดับภูมิคุ้มกันขึ้นอยู่กับตัวบุคคลด้วยเช่นกัน ซึ่งนายแพทย์ เรเกฟ-โยชาย ระบุว่า นัยสำคัญของเรื่องนี้ ทำให้ผลงานวิจัยขนาดเล็กชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการที่ทรงเกียรตินี้ได้

นอกเหนือจากการพิสูจน์ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างตัวบุคคลกับระดับภูมิคุ้มกันแล้ว งานวิจัยชิ้นนี้ยังชี้ชัดถึงความเชื่อมโยงระหว่างระดับแอนติบอดี กับ ปริมาณเชื้อก่อโรคโควิด-19 ในร่างกาย ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการเป็นพาหะนำเชื้อไปติดผู้อื่นได้หรือไม่อีกด้วย โดยทีมวิจัยพบว่า ผู้ที่มีระดับแอนติบอดีสูง จะมีปริมาณไวรัสในร่างกายต่ำ ทำให้มีแนวโน้มที่จะไม่แพร่เชื้อให้กับผู้อื่น ดังนั้นผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วมีระดับภูมิคุ้มกันสูง จึงไม่เป็นพาหะแพร่เชื้อให้กับคนอื่นๆ นั่นเอง

ทั้งนี้ ราว 85 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อหลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์ครบแล้วในการศึกษาวิจัยนี้ เป็นการติดเชื้ออัลฟา หรือเชื้อกลายพันธุ์จากอังกฤษ เนื่องจากในระหว่างการวิจัย เชื้อกลายพันธุ์เดลต้ายังไม่แพร่ระบาดในอิสราเอล

Advertisement

นายแพทย์เรเกฟ-โยชาย สรุปว่าผลการศึกษาวิจัยหนนี้มีนัยสำคัญต่อการทำความเข้าใจและการตรวจสอบหากลุ่มเสี่ยง หลังการฉีดวัคซีน รวมทั้งอาจใช้เป็นแนวทางในการประเมินว่า ใครคือผู้ที่เหมาะสมที่จะได้รับวัคซีนเข็มที่3 และควรได้รับเมื่อใด อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image