กทม.เผยความร่วมมือหลายภาคส่วน คาดช่วยคนกรุงรับวัคซีนตามเป้า 70%

กทม.เผยความร่วมมือหลายภาคส่วน คาดช่วยคนกรุงรับวัคซีนตามเป้า 70%

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ของกรุงเทพมหานคร ในช่วงแถลงข่าวประเด็น “สธ. และ กทม. ร่วมมือสู้โควิด-19” ว่า คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ได้ตั้งคณะอนุกรรมการ ที่ประกอบด้วยผู้แทนโรงพยาบาล (รพ.) ทุกภาคส่วน เช่น รพ.เครือข่ายโรงเรียนแพทย์ หรือ ยูฮอสเน็ต รพ.สังกัดกรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค มาร่วมกันพิจารณา วางแผนการให้บริการวัคซีนที่ สธ. สนับสนุนให้ กทม. ซึ่งได้ดำเนินการสอดคล้องกับนโยบายของ สธ. ตามที่ระยะนี้จะให้บริการวัคซีนในกลุ่ม 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ โดยได้หากลยุทธ์ในการบริการวัคซีนให้กลุ่มดังกล่าวให้ครอบคลุมตามเป้าหมายที่วางไว้ว่า สิ้นเดือน ก.ค.64 จะต้องฉีดในกลุ่มนี้ให้ได้อย่างน้อย 70%

“คณะอนุกรรมการ ให้แผนการบริการวัคซีนกับทาง รพ.ทุกสังกัด ที่ร่วมมือกับ กทม. รวม 132 แห่ง ที่เปิดให้จองฉีดกับ รพ.ไว้แล้วส่วนหนึ่ง อีกส่วนเพื่อควบคุมโรคในจุดต่างๆ โดยที่ผ่านมา เราได้ดำเนินการในหลายชุมชน นอกจากนั้น มีความร่วมมือกับหอการค้าแห่งประเทศไทย จุดบริการฉีดอีก 25 แห่ง ที่เราสนับสนุนวัคซีนลงไป และเร่งฉีดให้กลุ่มผู้สูงอายุให้มากที่สุด และสุดท้ายคือ ทีมเคลื่อนที่เร็วเชิงรุก (CCRT) ที่ลงไปดำเนินการในชุมชนจัดตั้ง เราตั้งเป้าหมายไว้ 2,016 ชุมชน โดยจะดำเนินการให้สิ้นเสร็จภายในเดือน ก.ค.64” พญ.ป่านฤดี กล่าว

พญ.ป่านฤดี กล่าวว่า ขณะนี้เราได้ลงไปดำเนินการผ่านทีมหลัก และทีมเสริม รวม 260 ทีม ที่เกิดจากความร่วมมือหลายหน่วยงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ โดยร่วมมือกับประธานชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จิตอาสา ทหาร ตำรวจ ในความร่วมมือทีมหลักของ CCRT ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 147 ทีม , กรมควบคุมโรค สธ. 15 ทีม ทีมกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กทม. 1 ทีม และทีมสนับสนุน จากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ก็ได้ส่งทีมที่เรียกว่า University to Tambon : U2T เข้ามาสนับสนุน 76 ทีม ทีมจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา 6 ทีม สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย 2 ทีม ทันตแพทย์สมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ 12 ทีม และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 1 ทีม

“ทีม CCRT จะลงพื้นที่ชุมชนต่างๆ หน้าที่สำคัญ คือ การให้ความรู้ ดูแลตัวเองที่บ้าน การป้องกันตัวเอง การตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) การให้วัคซีนในกลุ่ม 608 ซึ่งการลงพื้นที่เราก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี พอเราลงไปทำงานชุมชนจริงๆ เราจะเห็นว่า ทำไมผู้สูงอายุไม่มารับวัคซีนเท่าที่ควร ซึ่งจริงๆ ผู้สูงอายุไปรับบริการที่ รพ. แต่ส่วนหนึ่งที่ไปไม่ได้ เพราะอาจกลัวไม่อยากไปพบปะผู้คน ลูกหลานไม่มีเวลาพาไป พอเราลงไปดำเนินการก็เห็นว่ามีผู้มารับบริการมาก” พญ.ป่านฤดี กล่าว

Advertisement

ผู้อำนวยการสำนักอามัย กทม. กล่าวอีกว่า ผลการดำเนินงานทีม CCRT การให้วัคซีนในชุมชนที่เคยทำได้มากที่สุด คือ วันละ 8,000 ราย แต่เฉลี่ยจะอยู่ที่วันละ 4,000 ราย ทั้งนี้ สะสมแล้วกว่า 5.9 หมื่นราย ซึ่งมีแผนจนถึงสิ้นเดือนก.ค.64 โดยระยะถัดไป ก็จะดำเนินการให้ชุมชนที่ไม่ได้มีการจัดตั้ง หรือการเก็บตกกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ติดบ้าน ติดเตียงที่ยังไม่ได้วัคซีน โดยสามารถแจ้งที่สำนักงานเขตใกล้บ้านได้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไปฉีดให้ถึงบ้าน ซึ่งเราได้ดำเนินการส่วนนี้ไปแล้วด้วยวัคซีนซิโนฟาร์ม ที่ได้รับพระราชทานมาจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ขณะที่การตรวจเชิงรุก ATK ตรวจแล้วกว่า 1 หมื่นราย พบการติดเชื้อร้อยละ 8-10

“การบริการวัคซีนในกรุงเทพฯ เรามี 25 ศูนย์ฉีด กระจายทั่วกรุงเทพฯ โดยดำเนินการฉีดให้ผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนผ่านร้านสะดวกซื้อต่างๆ และนัดวันไปฉีดในศูนย์ฯ ฉะนั้น การให้บริการวัคซีนโควิด-19 เราดำเนินการภายใต้หลักเกณฑ์ นโยบายและเป้าหมายที่ สธ.กำหนด และ สธ. ก็สนับสนุนวัคซีนให้เราเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว” พญ.ป่านฤดี กล่าว

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีโรงงาน สถานประกอบการในกรุงเทพฯ ติดเชื้อจำนวนมาก ซึ่งทางผู้ประกอบการอยากให้มีทีมแพทย์จาก รพ. เข้าไปดูแล ทาง กทม.จะมีแนวทางดูแลอย่างไร พญ.ป่านฤดี กล่าวว่า ประเด็นนี้ ผู้บริหาร กทม. ได้มอบให้ผู้อำนวยการเขต ดูแลแคมป์ โรงงาน ในพื้นที่ของตนเอง ดังนั้น หากมีการติดเชื้อ พบปัญหาต่างๆ สามารถติดต่อที่ศูนย์ “กรุงเทพฯ ต้องชนะ” ซึ่งจะมี 50 เขตของกรุงเทพฯ ร่วมกันดำเนินการในพื้นที่ทั้งหมด นอกจากนี้ กสทช. ก็จะสนับสนุนความช่วยเหลือทางโทรศัพท์ เพื่อให้เกิดการสื่อสารปัญหาในพื้นที่

Advertisement

“แม้จะไม่มีศูนย์กรุงเทพฯ ต้องชนะ ที่ผ่านทางสำนักงานเขตฯ ก็ได้ลงไปตรวจโรงงาน แคมป์ก่อสร้างกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับกระทรวงแรงงาน เพื่อทำมาตรการต่างๆ จนกระทั้งการฉีดวัคซีน ซึ่งกระทรวงแรงงาน ก็ได้นำวัคซีนส่วนที่ได้รับโควต้าสำนักงานประกันสังคม (สปส.) นำไปฉีดให้กับโรงงานด้วย ฉะนั้น การควบคุมการระบาดของโรงงาน เราใช้หลักการเดียวกับ สธ. คือ มาตรการบับเบิ้ล แอนด์ ซีล (Bubble and seal)” พญ.ป่านฤดี กล่าวและว่า ทาง รพ.ต่างๆ ก็เข้าไปช่วยเรื่องมาตรการแยกกักในโรงงาน (Factory Isolation) ต่อไปด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image