เมื่อโควิดบุกวัด ในพุทธศาสนกาล 2564

เมื่อโควิดบุกวัด ในพุทธศาสนกาล 2564
กทม.ประกาศฉีดวัคซีนเชิงรุกให้พระสงฆ์-สัปเหร่อ-มัคนายก 221 วัด ในพื้นที่กรุงธนเหนือ-ใต้ เริ่มสดๆ ร้อนๆ เมื่อ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา

สะเทือนทั่วทุกวงการ ไม่เว้นรั้ววัดวาอารามอันศักดิ์สิทธิ์ สำหรับเชื้อโควิดซึ่งในนาทีนี้บุกทำลายความสงบร่มเย็นเป็นปกติสุขของหมู่สงฆ์ ไวยาวัจกร กระทั่งสัปเหร่อ

นับจากการแพร่ระบาดระลอกก่อนๆ ในปีที่ผ่านมา ต้องนับได้ว่าครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาแล้ว สองพันห้ารัอยหกสิบสี่พระวัสสา นั่นคือปีนี้ ภิกษุสามเณรอีกทั้งชีวิตหลังรั้ววัดและใบเสมา ได้รับผลกระทบหนักมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

พระผู้ใหญ่หลายรูปถึงขั้นมรณภาพ ภิกษุมากมายต้องกักตัว สัปเหร่อทำงานหนัก เมรุเผาศพพังถล่มลงตรงหน้า ขณะที่ยังมีร่างไร้วิญญาณรอคิวฌาปนกิจมากมายจากยอดคนตายเป็นใบไม้ร่วงในแต่ละวัน คนเข้าวัดทำบุญแทบไม่เหลือ ยังไม่นับการออกมาใส่บาตรซึ่งแหล่งข่าวอารามบอยกระซิบมาว่าลดลงอย่างเห็นได้ชัด บางวันแทบไม่พอให้พระฉันด้วยซ้ำไป

เมื่อสายสิญจน์กันโควิดไม่ได้ มีเพียง ‘วัคซีน’ คุณภาพ และการบริหารจัดการสถานการณ์โรคระบาดเท่านั้นที่จะป้องกันให้ ‘พระรอด’ จึงชวนให้คลางใจว่า แล้ววาทะฟังรื่นหูในอุดมคติ แต่ย้อนแย้งในชีวิตจริงอย่าง ‘ศาสนาไม่เกี่ยวการเมือง’ จะยังทำให้คนหลับตาเชื่อได้อยู่ไหม? ขณะที่ก่อนหน้าการระบาดระลอกใหม่ องค์กรพุทธศาสนาของไทย ออกกฎระเบียบเข้มงวด ห้ามพระภิกษุสามเณรเรียกร้องทางการเมือง ถึงขั้นมีการ ‘จับสึก’ ไปหลายรูป แม้แต่พระภิกษุขั้นผู้ใหญ่ก็ได้รับคำเตือน จนถึงสั่งห้ามเผยแพร่บทกวีที่ ‘โยงการเมือง’

Advertisement

ทั้งที่ ‘ถ้าการเมืองดี’ สถานการณ์ในบ้านเรือนอุบาสก อุบาสิกา มาจนถึงกุฏิสงฆ์ โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ จนถึงเมรุเผาศพ ก็คงไม่รุ่มร้อนกระสับกระส่ายดังเช่นที่เป็นอยู่

‘วัคซีน’ เชิงรุก สายสิญจน์กันโควิด ‘พระ (จะ) รอด’ ต้องระดมฉีด
แม้ กรมการแพทย์ เคยเปิดถวายการฉีดวัคซีนแด่ภิกษุสงฆ์ไปแล้วที่ โรงพยาบาลสงฆ์ เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทว่า ด้วยสถานการณ์ล่าสุดที่โควิดบุกวัดอย่างเป็นทางการ เพราะทั้งเป็นสถานที่เผาศพ รวมถึงมีบทบาทเป็น โรงพยาบาลสนาม หลายสิบวัด ในอย่างน้อย 13 จังหวัดจากการเปิดเผยของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ล่าสุด กรุงเทพมหานคร ก็จัดฉีดวัคซีนเชิงรุกให้พระสงฆ์ สัปเหร่อ มัคนายก 221 วัด ในพื้นที่กรุงธนเหนือ-ใต้ เริ่มต้นไปเมื่อวานนี้ คือ 30 กรกฎาคม เป็นวันแรก

Advertisement

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. บอกว่า ในช่วงเวลานี้ วัดมีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ใช้เป็นสถานที่จัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation) ตลอดจนการจัดการฌาปนกิจ กทม. โดยสำนักงานเขตบางกอกน้อย และโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ สำนักการแพทย์ จึงร่วมกับ วัดศรีสุดารามวรวิหาร กำหนดให้บริการฉีดวัคซีนเชิงรุก ในพื้นที่กลุ่มกรุงธนเหนือ และกรุงธนใต้ รวม 15 เขต ประกอบด้วย กลุ่มกรุงธนเหนือ 8 เขต ได้แก่ เขตคลองสาน 8 วัด เขตจอมทอง 17 วัด เขตตลิ่งชัน 29 วัด เขตทวีวัฒนา 4 วัด เขตธนบุรี 25 วัด เขตบางกอกน้อย 32 วัด เขตบางกอกใหญ่ 14 วัด เขตบางพลัด 23 วัด รวมจำนวน 152 วัด และกลุ่มกรุงธนใต้ 7 เขต ประกอบด้วย เขตทุ่งครุ 4 วัด เขตบางขุนเทียน 16 วัด เขตบางบอน 3 วัด เขตบางแค 5 วัด เขตภาษีเจริญ 27 วัด เขตราษฎร์บูรณะ 7 วัด และเขตหนองแขม 7 วัด รวมจำนวน 69 วัด และจะขยายการฉีดวัคซีนให้แก่พระในพื้นที่กลุ่มเขตอื่นๆ ต่อไป
นอกจากนี้ สำนักอนามัยจะเข้าอบรมให้ความรู้และคำแนะนำในการฌาปนกิจผู้ป่วยโควิด-19 อย่างถูกวิธีให้ด้วย

เมรุถล่ม เตาระเบิด ศพรอคิวเผา เรื่อง (ยิ่งกว่า) เศร้าเมื่อรัฐ ‘เอาไม่อยู่’
เมื่อกล่าวถึงการฌาปนกิจ ก็ต้องพูดถึงสถานการณ์ที่หลายคนตั้งคำถามว่า เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร จุดที่ศพแล้วศพเล่าจากโควิดรอคิวเผามากมาย โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงซึ่งมีการระบาดหนักอย่างเมืองนนท์

ย้อนไปเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ไพรัช สุดธูป ไวยาวัจกร วัดราษฎร์ประคองธรรม ต.บางม่วง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี เปิดเผยว่า ทางวัดดำเนินการฌาปนกิจสงเคราะห์ให้ฟรีสำหรับผู้เสียชีวิตจากโควิดโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ โดยยอดพุ่งทะลุร้อยศพ จนหวั่นใจว่าเตาจะระเบิด เมรุจะพัง สุดท้ายต้องหาพัดลมขนาดใหญ่ที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมมาเปิดระบายความร้อน

ท่ามกลางความหวาดหวั่น เหตุการณ์ก็พลันเกิดขึ้นจริง ทว่าไม่ใช่ที่วัดดังกล่าว หากแต่เป็นเมรุเก่าอายุหลายสิบปีที่ วัดบางน้ำชน ย่านสำเหร่ฝั่งธนบุรี ที่ต้องเผาศพมากขึ้น 3-4 เท่าต่อวัน เพราะมีผู้เสียชีวิตจากโควิด ส่งผลให้เมรุถล่ม มีผู้ได้รับบาดเจ็บ

เมรุวัดบางน้ำชน ฝั่งธนบุรี ถล่ม จากการเผาศพมากกว่าปกติหลายเท่า

พระครูภัทราวรานุสิฐ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบางน้ำชน ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า เมรุสร้างขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ.2528 ไม่เคยบูรณะครั้งใหญ่มีเพียงทาสีภายนอกให้สวยงามเมื่อ พ.ศ.2546 ใช้ฌาปนกิจญาติโยมที่เสียชีวิตเรื่อยมา ตามปกติรับเผาศพเพียงวันละ 1 ศพเท่านั้น เนื่องจากเตาเผาและเมรุทรุดโทรมมากแล้ว กำลังรอการบูรณะครั้งใหญ่เพราะติดโครงการบูรณะพระอุโบสถอยู่ กระทั่งเกิดสถานการณ์โควิด-19 ขึ้น ตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน วัดต้องรับศพผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโควิดมาฌาปนกิจด้วย วันละ 3-4 ราย ทำให้เมรุเกิดถล่มลงมาเนื่องจากมีฝนตกและพายุ จนมีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บศีรษะแตก 1 ราย โชคดีที่ตอนถล่มไม่มีศพอยู่ในเตาเผา

นอกจากนี้ วัดป้อมรามัญ ต.สวนพริก อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ก็เกิดอาการ ‘ปล่องเมรุร้าว’ เพราะเผาศพจำนวนมาก จากสถานการณ์โควิดโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ต้องเร่งพาช่างเข้าซ่อมแซมอย่างเร็วไว โดยมีเจ้าของร้านกาแฟแห่งหนึ่งใน กทม.รับเป็นเจ้าภาพแล้ว

พระผู้ใหญ่มรณภาพ ร.ร.พระปริยัติธรรม ‘ล็อกดาวน์’
อีกหนึ่งความสูญเสียในวงการพุทธศาสนา คือการมรณภาพของพระภิกษ์ชั้นผู้ใหญ่ สร้างความอาลัยยิ่งต่อลูกศิษย์ลูกหา ไม่ว่าจะเป็น พระราชวิสุทธิโมลี (มนู สุมโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 9 ซึ่งมรณภาพลงหลังเข้ารับการรักษาอาการอาพาธจากโรคโควิด-19 ที่โรงพยาบาลสงฆ์ สิริอายุรวม 83 ปี โดยมีพิธีฌาปนกิจแล้วที่วัดพระพิเรนทร์ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

พระครูปลัดมานิตย์ เจ้าอาวาสวัดตึก มรณภาพจากโควิด หลังรักษาตัวที่โรงพยาบาล 8 วัน

ตามด้วย พระครูปลัดมานิตย์ เจ้าอาวาสวัดตึก ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี ซึ่งมรณภาพลงจากอาการติดเชื้อไวรัสโควิดหลังเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม มีพิธีฌาปนกิจไปเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม โดยก่อนหน้านี้พระราชนันทมุนี เจ้าคณะจังหวัดนนทบุรี เพิ่งประกาศแต่งตั้งให้พระครูปลัดมานิตย์ ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดตึกแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่

นอกจากนี้ ยังมีข่าวน่าตกใจ เมื่อ พระครูวิริยานุวัตร ผู้อำนวยการโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดผ่องพลอยวิริยาราม เขตบางนา กรุงเทพฯ เปิดเผยว่าผลการตรวจเชิงรุกสามเณรและเจ้าหน้าที่วัด พบผู้ติดเชื้อโควิด รวมถึง 202 ราย โดยเป็นแม่บ้าน 2 ราย ครูฆราวาส 2 ราย ครูพระ 4 รูป พระสงฆ์ของวัดอีก 6 รูป และที่เยอะสุดคือสามเณร จำนวน 188 รูป กระทั่งต้องล็อกดาวน์ กักตัวอยู่ในโรงเรียน

โศรยา วัธชนะ ผู้อำนวยการเขตบางนา ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ วัดได้แยกผู้ที่ไม่ติดเชื้ออาศัยบนอาคารชั้นต่างๆ ไม่ให้ปะปนกัน โดยมีทีมแพทย์จากโรงพยาบาลสงฆ์ และคลินิกใกล้เคียงดูแล

ยอดทำบุญฮวบ รายจ่ายเท่าเดิม ‘เวียนเทียน’ เคยเฉียดพันเหลือหลักสิบ
แน่นอนว่าสถานการณ์เช่นนี้ วัดวาอาราม และสถานปฏิบัติธรรมไม่ใช่ทางเลือกสู่ความสงบดังเช่นที่เคย การออกจากบ้านมากราบพระประธาน ซื้อดอกไม้ ถวายปัจจัยใส่ตู้ ย่อมลดลงอย่างไม่ต้องสงสัย

วัดพระศรีมหาธาตุฯ บางเขน เงียบเหงาในวันสำคัญทางศาสนา ต่างจากบรรยากาศรอคิวตรวจโควิดในจุดเดียวกันเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ซึ่งผู้คนมานอนรอข้ามคืน

บรรยากาศการทำบุญเนื่องในวันอาสาฬหบูชาเมื่อไม่กี่วันมานี้ในวัดต่างๆ เงียบเหงา แม้ไม่ได้ประกาศงดเวียนเทียน แต่แทบไม่มีญาติโยมเดินทางเข้าร่วม ขณะที่บางแห่ง จัดเวียนเทียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ และเทศนาธรรมผ่านโปรแกรมซูม อาทิ วัดญาณเวศกวัน และหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพ) ที่ร่วมกันถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กแทนการเดินทางออกนอกเคหสถาน

พระครูโสภิต บุญญาทร เจ้าอาวาสวัดยายร่ม และเจ้าคณะแขวงจอมทอง บางมด เปิดใจว่า โควิดกระทบหมดทุกวงการ รวมถึงวงการพุทธศาสนา แม้ทางวัดไม่ได้ประกาศงดกิจกรรมการเวียนเทียน แต่ไม่มีพุทธศาสนิกชนมาร่วมมากนัก ส่วนใหญ่ต่างคนต่างมา นำดอกไม้ธูปเทียนเดินวนรอบอุโบสถแล้วกลับตั้งแต่ช่วงเย็น ส่วนภิกษุสงฆ์เมื่อทำวัตรเย็นเสร็จสิ้น ก็เวียนเทียนไปแล้วเมื่อเวลาราว 18.00 น.

พระครูโสภิต บุญญาทร เจ้าอาวาสวัดยายร่ม และเจ้าคณะแขวงจอมทอง บางมด เผยว่าโควิดส่งผลกระทบหนักต่อวงการพุทธศาสนา คนไม่กล้าเข้าวัด ยอดเงินทำบุญน้อย แต่รายจ่ายประจำเท่าเดิม

“ก่อนโควิด คนมาเวียนอย่างน้อย 600-700 คน กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี คนก็เข้าร่วมเยอะ 700-800 คน พอเกิดโควิด ต่างคนต่างกลัว ส่วนใหญ่คนมาวัดเป็นผู้สูงอายุอยู่แล้ว พอมีสถานการณ์อย่างนี้ลูกหลานก็ไม่อยากให้มา ห่วงจะเป็นอันตราย ทางวัดไม่ได้งด แต่คนไม่มา จริงๆ แล้วคนยังอยากทำบุญ แต่ใครจะอยากมาที่วัด เพราะถ้าติดเชื้อ ก็เดือดร้อนทั้งครอบครัว” พระครูโสภิตกล่าว

เมื่อสอบถามถึงผลกระทบเรื่องค่าใช้จ่ายในช่วงโควิดเมื่อคนเดินทางมาทำบุญน้อยลง

พระครูโสภิตรับว่า ทางวัดได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะมีค่าใช้จ่ายประจำ ได้แก่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแรงคนงาน และเจ้าหน้าที่ ซึ่งแต่ละวัดก็มีค่าใช้จ่ายต่างกัน สำหรับวัดยายร่ม มีการเผยแผ่ความรู้ทางธรรมะผ่านสถานีวิทยุและทางโทรทัศน์ด้วย จึงมีค่าใช้จ่ายที่ต้องมอบให้สถานี รวมถึงค่าดำเนินการบันทึกเทป หากยุติไปก็จะกระทบคณะทำงาน

“ที่นี่มีการเผยแผ่พุทธศาสนาผ่านสถานีวิทยุ ตชด. โดยมีการบันทึกเทปส่งไปสถานี ออกอากาศทุกวัน จันทร์-ศุกร์ ช่วงเช้ามืด ส่วนวันเสาร์ออกอากาศ 13.00-16.00 น. และวันอาทิตย์ 18.00-19.00 น. ต้องจ่ายให้ทางสถานีเดือนละ 25,000 บาท และยังมีค่าบันทึกเทปทุกเดือน เดือนละ 45,000 บาท หยุดไม่ได้ เพราะจะกระทบคนทำงาน ก็เอาค่าใช้จ่ายจากที่มีคนมาทำบุญไหว้พระมาช่วยตรงนี้” เจ้าอาวาสวัดยายร่มกล่าว

ในขณะที่ ‘วัดพุทธบูชา’ เขตบางมด กรุงเทพฯ ก็ปิดประตูโบสถ์ลงกลอนตั้งแต่เวลาประมาณ 19.00 น. โดยมีการชำระล้างทำความสะอาด ล็อกกุญแจ ในขณะที่บริเวณซุ้มประตูทางเข้ามาการติดตั้งอุปกรณ์พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อด้วย

จุดจำหน่ายดอกไม้ ธูปเทียน ที่วัดพุทธบูชา ในวันอาสาฬหบูชาเงียบเหงา ประตูโบสถ์ปิดตั้งแต่ราว 19.00 น. หลังพุทธศาสนิกชนแวะทำบุญประปรายในช่วงก่อนค่ำ

หลวงตามารุต สัทธาธิโก เล่าว่า มีผู้เดินทางมาทำสังฆทานบ้าง แต่ไม่มากนัก ส่วนการเวียนเทียน ทางวัดไม่ได้งด แต่ไม่ได้ประชาสัมพันธ์เนื่องจากอยู่ในสถานการณ์โควิด มีผู้เดินทางมาเวียนเทียนบ้างในข่วงเย็น จนถึงช่วงก่อน 19.00 น. ยอดเงินทำบุญในวันอาสาฬหบูชา คาดว่าไม่ถึง 2,000 บาท อย่างไรก็ตาม ทางวัดช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยากมาตลอด บางคนมาขอข้าวกินทุกวัน ทางวัดก็จัดหาให้ และยังให้เงินค่ารถกลับบ้านวันละ 20 บาทด้วย

สถานการณ์เหล่านี้ ไม่ใช่วิบากกรรมของมวลมนุษย์แต่ชาติปางก่อน และถ้าการเมืองดี ทุกศาสนาย่อมเสถียรสถาวร ไม่ต้องพึ่งยันต์กันโควิดแทนวัคซีนคุณภาพที่ควรมีไว้ฉีดให้ประชาชน เหล่าศาสนิก อีกทั้งนักบวชทุกลัทธิก่อนที่คราบน้ำตาจะเปื้อนหน้าผู้คนดังเช่นวันนี้

พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image