บิ๊กตู่ ไม่ถอย สั่งลุย เฟคนิวส์ ระวัง ทิ้งห่าง ปชช.

บิ๊กตู่ ไม่ถอย สั่งลุย เฟคนิวส์ ระวัง ทิ้งห่าง ปชช.

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดใจผ่านเพจไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล กลางดึกวันที่ 29 กรกฎาคม

ยืนยันว่านายกฯอยู่ต่อ

“รัฐบาลยังบริหารสถานการณ์ได้ ยังเดินหน้าต่อ ยังไม่ถอดใจลาออกหรือยุบสภา ยังไม่ใช่เวลา

“วันนี้ทำงานหนักทุกวัน หลายคนบอกว่าทำงานหนักแล้วไม่เห็นได้งาน ก็ขอไปหาให้เจอว่ามีงานอะไรที่ออกมาแล้วบ้าง”

Advertisement

“พยายามทำอย่างที่สุดแล้ว ด้วยการฟังเสียงประชาชน พร้อมติดตามสถานการณ์จากคณะแพทย์และสาธารณสุข

“วันนี้เห็นใจคนเหล่านี้สอบถามบางคนทำงานติดต่อกัน 60 วันไม่ได้พักเป็นปี

“วันนี้การเมืองก็ขอร้องแล้วกัน ถือว่าท่านเป็นผู้แทนประชาชนมาจากประชาชน ท่านต้องมีหลักการคิดหลักการวิเคราะห์บางเรื่อง มันก็ไม่ใช่ทางการเมืองที่จะมาสร้างความเกลียดชังกันโดยใช่เหตุ เพราะประเทศชาติกำลังมีปัญหา ต้องเข้าใจตรงกัน”

เมื่อถามว่า จะฝากอะไรกับประชาชน

พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า “ผมเห็นใจ ผมเสียใจ และผมพยายามแก้ปัญหาอุปสรรคซึ่งมีมากมาย”

วันเดียวกันก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเปิดใจ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 29)

เนื้อหาสรุปว่า มีการเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้ประชาชนหวาดกลัว หรือข้อมูลที่บิดเบือน ทำให้เข้าใจผิดหรือสับสน กระทบต่อความมั่นคง ละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้อื่น โดยผ่านทางสื่อต่างๆ โดยเฉพาะอินเตอร์เน็ต

นายกฯจึงออกข้อกำหนด

ห้ามผู้ใดเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

กรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารดังกล่าวในอินเตอร์เน็ต กสทช.สามารถสั่งระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ไอพี (IP address) นั้นทันที

ข้อกำหนดดังกล่าวออกมาหลังจากที่ 6 องค์กรสื่อได้ออกแถลงการณ์คัดค้าน

ก่อนหน้านี้ 6 องค์กรสื่อได้ออกแถลงการณ์

หนึ่ง ยืนยันจุดยืนคัดค้านการปิดกั้นหรือคุกคามสื่อมวลชนในทุกรูปแบบไม่ว่าจากฝ่ายใด

สอง การตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศหรือระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์

อาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 35 ระบุว่า

“…การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพจะกระทำมิได้…”

สาม การปิดกั้นสื่อในลักษณะนี้ ย่อมเป็นความพยายามในการปิดกั้นสิทธิการรับรู้ข่าวสารของประชาชน จึงอาจทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกั้นสื่อดังกล่าวออกมาเข้าร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมมากขึ้น

สี่ องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนไม่เห็นด้วยกับการอาศัยความเป็นสื่อมวลชนบิดเบือนข้อเท็จจริงและยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง ยุยง ให้มีการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ รวมทั้งกระทำการใดๆ ที่ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง และขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนทุกแขนง ทำหน้าที่รายงานข่าวสารที่เกิดขึ้นในขณะนี้ด้วยความครบถ้วนรอบด้าน โดยนำเสนอความจริงและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นด้วยการคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนภายใต้ความรับผิดชอบต่อสังคม

รวมทั้งระมัดระวังการนำเสนอข่าวที่อาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในการยุติปัญหา

ถ้อยแถลงของ 6 องค์กรสื่อถือเป็นข้อท้วงติงด้วยท่าทีสร้างสรรค์

ไม่ว่ารัฐบาลจะมีเจตนาอะไรก็ตาม แต่ปรากฏการณ์เมื่อคืนวันที่ 29 กรกฎาคม คือการประกาศ “ยิ่งไล่ ยิ่งสู้” ที่สัมผัสได้

ประการแรก พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันที่จะปักหลักทำงานต่อไป ท่ามกลางสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ระบาดหนัก

ประการที่สอง การประกาศคำสั่งควบคุมสื่อโดยเฉพาะสื่อโซเชียล ถือได้ว่าเป็นการตอบโต้หลังจากที่ถูกโจมตี

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะเรื่องการควบคุมสถานการณ์การระบาด

สื่อที่เป็นหัวหอกในการวิพากษ์วิจารณ์ คือ สื่อในโลกโซเชียล

การสื่อสารบนโลกโซเชียลไม่ได้จำเพาะแค่สื่อมวลชน หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หากแต่ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นออกมาได้ในหลายรูปแบบ

บ้างเป็นคลิป บ้างเป็นกราฟิก และบ้างก็เป็นข้อความ

ก่อเกิดเป็นปรากฏการณ์ Call Out

ในจำนวนนี้ปรากฏบางคลิป บางข้อความเป็นเรื่องไม่จริง แต่อีกหลายคลิป หลายข้อความก็เป็นเรื่องจริง

การที่รัฐบาลประกาศคำสั่งดังกล่าวออกมา กลุ่มที่ต้องการผลิตเฟคนิวส์ย่อมไม่รู้สึกอะไร

หากแต่กลุ่มที่ Call Out ด้วยความอึดอัดใจ ย่อมกระอักกระอ่วน

นี่คือที่มาของการต่อต้านคุกคามสื่อ

การบ้านของรัฐบาลในสถานการณ์ปัจจุบันคือการสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้น

แต่ด้วยจุดบอดเรื่องการบริหารจัดการ ทำให้ประชาชนตั้งคำถามในเรื่องต่างๆ

หลายคนหมดศรัทธา อีกหลายคนคิดในแง่ร้ายไปถึงความสุจริตในการทำหน้าที่

แต่ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ล้วนมาจากความล้มเหลวในสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด

รัฐบาลอาจเห็นว่า เมื่อมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ก็ใช้คำสั่งยุติการวิพากษ์วิจารณ์ เหมือนกับเมื่อมีการชุมนุมก็ใช้กฎหมายควบคุมการชุมนุม

แต่หาก “ต้นตอ” ของปัญหา คือสถานการณ์การระบาดยังคงหนัก การใช้คำสั่งต่างๆ จะกลายเป็นหอกทิ่มกลับใส่รัฐบาล

ทำให้รัฐบาลถอยออกห่างประชาชน

ปิดหูไม่รับฟังเสียงร้อง ขณะเดียวกันก็มุ่งแต่จะพูดให้ประชาชนรับฟังเพียงฝ่ายเดียว

สถานการณ์เช่นนี้ย่อมทำให้ความร่วมมือเกิดขึ้นยาก

รัฐบาลก็อยู่ยากขึ้น

หรือหากรัฐบาลยังคงอยู่ได้ ประชาชนก็อยู่อย่างยากลำบากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image