ซีโอโอ เคอรี่ เอ็กซ์เพรส วราวุธ นาถประดิษฐ์ เปิดแผนฝ่าโควิด เพิ่มคน ลดค่าส่งด่วนทั่วไทย

ซีโอโอ เคอรี่ เอ็กซ์เพรส วราวุธ นาถประดิษฐ์ เปิดแผนฝ่าโควิด เพิ่มคน ลดค่าส่งด่วนทั่วไทย

ไม่ว่าสถานการณ์ไหน ‘ธุรกิจขนส่งพัสดุด่วน’ ยังคงเป็นธุรกิจขาขึ้นพุ่งไปตามเทรนด์การซื้อขายผ่าน “อีคอมเมิร์ซ” ที่ได้อานิสงส์จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปสู่ ‘โลกดิจิทัล’

ดันมูลค่าตลาดประเทศไทยไต่ระดับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทุกปี จากหมื่นล้านต้นๆ ทะยาน 66,000 ล้านบาท ในปี 2563

กลายเป็นธุรกิจหอมหวนชวนให้ผู้เล่นหน้าใหม่ทั้งไทยและเทศเข้ามาชิมลางไม่ขาดสาย ทำให้สมรภูมิสู้รบในช่วงที่ผ่านมาแข่งขันราคากันดุเดือดแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดกับเจ้าตลาด

ภายใต้การแข่งขันที่รุนแรง คู่แข่งมากหน้าหลายตา ยังเกิดการระบาด ‘โควิด-19’ เมื่อปี 2563 ต่อเนื่องยาวนานมาถึงปัจจุบันมาผสมโรง ทำให้ผู้เล่นในตลาดที่ทุนไม่หนาพอ ต้องปิดกิจการ

Advertisement

กรณี ‘บริษัท อัลฟ่า เพอร์ฟอร์มานซ์ กรุ๊ป จำกัด’ หรืออัลฟ่า ประกาศเลิกกิจการในประเทศไทยไปเมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา หลังได้รับผลกระทบจากโควิด พ่ายสงครามราคา ทำให้ขาดทุนต่อเนื่อง เป็นการสะท้อนภาพสมรภูมิการสู้รบธุรกิจนี้ได้เป็นอย่างดี

ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบัน หลังรัฐบาลประกาศ ‘ล็อกดาวน์’ คุมการแพร่ระบาดพื้นที่ 13 จังหวัด และเชื้อโควิด-19 ได้ลุกลามเข้าไปถึงพนักงานธุรกิจขนส่ง ทั้งส่วนบริการและศูนย์กระจายสินค้าในบางพื้นที่ จนต้องปิดทำการชั่วคราว เกิดปรากฏการณ์ดราม่าสินค้าล้นคลัง ขนส่งช้า บนโลกออนไลน์อยู่หลายวัน

จากวิกฤตมีแบรนด์ดังหลายค่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน เร่งพลิกกลยุทธ์กู้วิกฤต ออกมาตรการชดเชยค่าเสียหายให้ลูกค้า งดส่งของที่เสียง่ายชั่วคราว

เป็นอีกมุมที่เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด ซึ่งคงไม่มีใครอยากจะให้เกิด

เช่นเดียวกับ ‘เคอรี่ เอ็กซ์เพรส’ ยักษ์ขนส่งสัญชาติฮ่องกง ดำเนินธุรกิจนี้ในประเทศไทยร่วม 15 ปี นับจากปี 2549 เข้ามาเปิดตลาดจนเติบโต และจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนเมื่อเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ก็ต้องปรับแผนให้สอดรับกับสถานการณ์เหมือนกัน

วราวุธ นาถประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX พร้อมเปิดยุทธวิธีการรับมือ แก้ปัญหากับมหาวิกฤตโควิดในครั้งนี้

• โควิดระบาดหนักมีการบริหารความเสี่ยงอย่างไร?
ตั้งแต่โควิดระบาดระลอกแรกเดือนเมษายน 2563 เราดูแลความปลอดภัยของพนักงานมาตลอดถึงตอนนี้กว่า 500 วัน โดยจัดทำแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจหรือ BCP มีคณะทำงาน “COVID-19 Committee” มอนิเตอร์สถานการณ์รายวันอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เพราะมีพนักงานต้องดูแลถึง 20,000 คน ที่อยู่ในจุดบริการลูกค้าทั่วประเทศ 15,000 จุด และ 1,000 กว่ารายในศูนย์กระจายสินค้าย่อย

จะดูด้านความปลอดภัย การใส้หน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์เราตั้งไว้ตามจุดให้บริการ
มีการตรวจหาเชื้อแบบรู้ผลเร็วให้พนักงาน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าพนักงานจะไม่เป็นผู้นำความเสี่ยงหรือนำเชื้อไปแพร่ให้กับลูกค้า และไม่ให้พนักงานเดินทางข้ามจังหวัด เรามีนโยบายมาตั้งแต่ต้นปีแล้วก่อนที่รัฐบาลจะยกระดับความเข้มข้นเรื่องการเดินทางข้ามจังหวัด ส่วนพนักงานในออฟฟิศใหญ่ให้เวิร์กฟรอมโฮม 100% มา 4 เดือนแล้ว

แต่ละที่จะบริหารจัดการแตกต่างกัน จุดมอนิเตอร์เป็นพิเศษ คือ ศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ทั้ง 9 แห่ง มีพื้นที่กว่า 20,000 ตารางเมตร กระจายอยู่ตามหัวเมืองและชานเมือง เช่น บางนา นนทบุรี เชียงใหม่ ขอนแก่น อุดรธานี มีพนักงานหลัก 1,000 คน จะมอนิเตอร์แบ่งพนักงานเป็นกลุ่มละประมาณ 10-20 คน เราจะทำการ “สมอลล็อกบับเบิล” กลุ่มนี้จะไม่ปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มอื่น ไม่จับอุปกรณ์ ไม่ทานข้าวร่วมกัน หรือไปใช้กิจกรรมที่มีความเสี่ยงทำให้ติดในจำนวนมากๆ เป็นการบริหารจัดการพิเศษที่บริษัททำ
ในช่วงแรกมีพนักงานติดเชื้อประมาณ 5-10 คน ถือว่าไม่มาก ลักษณะของการติดจะเป็นโหนดเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถจะปิดร้านได้ เมื่อเปิดแล้วจะให้พนักงานชุดใหม่เข้าไปเพื่อให้ธุรกิจสามารถรันได้

• ผลจากโควิดและมีการล็อกดาวน์ทำให้ส่งสินค้าล่าช้ามากไหม?
จะมีมอนิเตอร์อยู่ตลอดในทุกวัน เพราะพัสดุที่เข้ามาจะเติบโตตามจังหวัดที่มีการล็อกดาวน์ ลูกค้ามาส่งเคอรี่ไม่รู้อยู่แล้วว่าผู้ส่งต้องการส่งไปไหน แต่รู้ว่ามาส่งที่ร้านไหน เช่น ถ้าส่งไปรวมกันมากๆ ที่พัทยาเหมือนกัน และมีการเพิ่ม 20-30% ใน 1 จังหวัดที่ล็อกดาวน์เราไม่ติดขัด

แต่ถ้าเกิดบอกว่าเพิ่ม 2-3 เท่า ที่พัทยาอาจจะติดขัดก็ได้ เป็นเรื่องของการเช็กปริมาณสินค้าเข้าไปให้สอดคล้องกับคนที่สามารถจัดการของได้ สิ่งที่จะบอกได้ว่าติดหรือไม่ติด ต้องมองปริมาณสินค้ารายวัน ดูว่าของที่เข้ามาต่อวันรับได้กี่ล้านชิ้นต่อวัน

และของไปถึงที่จังหวัดไหน ลงที่ศูนย์กระจายสินค้าที่ไหน ไม่ว่าจะมีคน 10 คน 20 คน อยู่ใน 1,000 ศูนย์ทั่วประเทศ จะสอดคล้องกับปริมาณการจัดส่งที่เข้าไปในจังหวัดนั้น เพราะธุรกิจนี้เป็นธุรกิจค่อนข้างไดนามิก ทุกอย่างมันมูฟไปมูฟมาตลอด จะมีผลต่อกำลังพลที่อยู่ในศูนย์ทั่วประเทศ ต้องดูเป็นรายวัน ถ้าที่ไหนมีปัญหา เช่น ปริมาณมากเกินไป จะบริหารจัดการแจ้งกับผู้ส่งว่าพื้นที่นี้อาจจะดีเลย์มากกว่าปกติ 1-2 วัน เพื่อสื่อสารในการแก้ปัญหาการจัดส่ง ต้องแจ้งให้ลูกค้ารู้ก่อน

ตอนนี้ให้ลูกค้าวางแผนก่อนการจัดส่ง จัดลำดับการให้บริการ พัสดุที่มีวันหมดอาตอนนี้ให้ลูกค้าวางแผนก่อนการจัดส่ง จัดลำดับการให้บริการ พัสดุที่มีวันหมดอายุและเน่าเสียง่ายขอจำกัดการรับส่ง เช่น ผลไม้ และอาหารสด ยกเว้นกลุ่มเกษตรกรที่มีสมุดเล่มเขียว จัดส่งอุปกรณ์การช่วยเหลือทางการแพทย์ไปยังบ้านของผู้กักตัว ผู้ติดเชื้อเป็นลำดับต้นๆ และมีรับพนักงานเพิ่มเพราะในช่วงนี้มีพัสดุเข้ามามากขึ้น จึงต้องมีการขยายตัวในการรับพนักงานเข้ามารองรับจำนวนพัสดุที่เพิ่มเข้ามา

• การล็อกดาวน์ส่งผลกระทบหรือผลดีต่อธุรกิจเพราะคนอยู่บ้านมากขึ้น?
มีผลกระทบบ้าง เพราะว่าจังหวัดที่ล็อกดาวน์จะมีปริมาณสินค้าเข้ามาจากแต่ละที่มากขึ้นเป็นพิเศษ ผลกระทบต้องดูว่ามากหรือน้อย อย่างปีที่แล้วกระทบในลักษณะที่ว่าเป็นการล็อกดาวน์ที่ฉุกเฉินมากๆ ยังไม่รู้ว่าจะเจอล็อกดาวน์ตอนกลางคืน คนไทยไม่รู้ว่าจะป้องกันโควิดอย่างไร เป็นอะไรที่คนแพนิคมากๆ ในช่วงเวลานั้น

ส่วนใหญ่จะไปซื้อของกักตุนตามห้าง แต่จะมีอีกกลุ่มซื้อของกักตุนผ่านออนไลน์ ทำให้ปริมาณพัสดุของเราจากเดิมส่งเฉลี่ยวันละ 1 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้น 50% เป็นวันละ 1.5 ล้านชิ้น และเพิ่มอีก 50% เรื่อยๆ จนกระทั่งสูงสุดถึง 2 ล้านชิ้น ใน 1 วันของเดือนเมษายนปีที่แล้ว เป็นสถิติสูงสุด ทำให้ปริมาณสินค้าเกินกว่ากำลังของคน ในช่วงเวลานั้นการเติบโตแบบนี้ไม่สามารถเติมคนได้ เพราะไม่มีใครประเมินปริมาณสินค้าที่ขึ้นมาอย่างรวดเร็วในเวลาชั่วพริบตา

เราเรียนรู้จากคราวที่แล้วมาแล้ว ตอนนี้หลังจากระลอก 2 ระลอก 3 มา สิ่งที่เห็นคือเรารู้วิธีป้องกันตัวเองแล้ว จะมีคนบางกลุ่มที่อาจจะรู้วิธีการเดินออกไปซื้อของตามห้าง จะไม่เกิดการกักตุน ของขาด ปริมาณการส่งพัสดุจะไม่เหมือนกัน

ตอนนี้ยอดจัดส่งพัสดุเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 1.2-1.3 ล้านชิ้น

เพิ่มขึ้นวันละ 20-30% เมื่อเทียบกับช่วงปกติ ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาสูงขึ้นทุกวัน บางวันสูงถึง 1.9 ล้านชิ้นต่อวัน โดยเฉพาะในจังหวัดที่ล็อกดาวน์อาจจะขึ้นไปมากกว่านั้น บางจังหวัดสูงขึ้น 2-3 เท่า แต่เคอรี่ยังจัดส่งได้ทุกปลายทาง แต่อาจมีบางพื้นที่ต้องใช้เวลาจัดส่งมากกว่าปกติ ยังรับมือได้ เพราะด้วยคาปาซิตี้เรารับได้ถึง 2 ล้านชิ้นต่อวัน

เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้กับปีที่แล้วเติบโตประมาณ 13% หลังไตรมาสแรกถึงกลางปีนี้จะยังโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ 13 จังหวัดล็อกดาวน์ เป็นเพราะพฤติกรรมคนเปลี่ยน อย่างเราอยู่กรุงเทพฯพื้นที่สีแดง ตามต่างจังหวัดจะมีวัตถุดิบ ผลไม้ คน

จะต้องสั่งเข้ามาใช้ประกอบอาหารในชีวิตประจำวันที่อยู่ในบ้าน

ผมเชื่อว่าการอยู่บ้านจะช้อปปิ้งออนไลน์กันมาก จะกดสั่งหาวัตถุดิบใหม่ กลุ่มใหม่ๆ เช่น กลุ่มต้นไม้ แต่เดิมมีส่งในอัตราที่ไม่มาก ขณะนี้มากขึ้นเพราะว่าการอยู่บ้านจะหากิจกรรมทำ ซึ่งต้นไม้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับฮอตเทรนด์ในเวลานี้ เราจะช่วยเรื่องของการจัดส่ง เช่น ทำกล่องต้นไม้ ควบคู่สอนการแพคต้นไม้ การส่งของ ส่งพัสดุ หวังว่าประชาชนรู้วิธีการแพคที่ดี จะทำให้เกิดความเสียหายน้อยลง ปัจจุบันที่กลุ่มสินค้าที่คนส่งมากที่สุด คือ กลุ่มของใช้อุปโภคบริโภค จะมีทุเรียนอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย กลุ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์รวมหน้ากากอนามัย และกลุ่มต้นไม้

• จุดให้บริการในปัจจุบัน?
ปัจจุบันมีจุดให้บริการกว่า 15,000 แห่ง ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ มีจุดบริการที่รถไฟฟ้า 4 สถานีที่ทองหล่อ พร้อมพงษ์ สยาม ศาลาแดง มีศูนย์คัดแยกพัสดุหลักขนาดใหญ่ 9 แห่ง ศูนย์กระจายพัสดุกว่า 1,000 แห่ง และรถจัดส่งพัสดุภายใต้การบริหารของบริษัทกว่า 20,000 คัน

• ปัจจุบันตลาดแข่งขันสูง จุดแข็งเคอรี่อยู่ตรงไหน?
ตลาดธุรกิจขนส่งพัสดุใน 5 ปี จะมีอัตราการเติบโต 20-30% เคอรี่เป็นเบอร์หนึ่งของภาคเอกชนประกอบธุรกิจนี้มา 15 ปี ยังมุ่งมั่นการเป็นผู้นำในตลาด การจัดการด้านบริการที่ดี ราคาที่ถูก เพราะทุกๆ ปีจะบริหารจัดการราคามาตลอด ให้ลดลงมาเรื่อยๆ ให้สอดคล้องกับตลาดอยู่แล้ว ลูกค้าที่ใช้บริการเราตลอดจะรู้อยู่แล้วว่าราคาของเราถูก เพราะการที่ไปเทียบกับการส่งของ 100 ชิ้น กับคู่แข่งเหมือนกัน ความสำเร็จในการจัดส่งของเราสูงกว่ามาก เพราะถ้าส่งสำเร็จน้อยกว่า หรือของเสียหายจะกลายเป็นต้นทุนของการจัดส่งที่สูงกว่า การคงไว้ซึ่งคุณภาพ จัดส่งที่ดี ส่งสำเร็จ ในราคาที่ถูก มีมาตรฐานในการทำงานที่ดี เชื่อว่าเคอรี่จะยังคงเป็นผู้นำในตลาดอย่าง
ต่อเนื่อง

• การปรับราคาลงทุกปี ตอนนี้ราคาส่งของเคอรี่อยู่ที่เท่าไหร่?
สมัยก่อนเข้าตลาดใหม่ๆ ไม่มีคนรู้จักการขนส่งพัสดุสักเท่าไหร่ ค่าส่งของจากกรุงเทพฯไปเชียงใหม่ตกกล่องละ 500 บาท แต่ว่าในกล่องขนาดเท่ากันเดี๋ยวนี้เคอรี่เคยปรับลงมา 50-60 บาทมาแล้วตั้งแต่ทำตลาดนี้ ตอนนี้เหลืออยู่ 20-30 บาท

การจัดการบริหารราคาของเรา ในทุกๆ ปีมีผลประกอบการทางธุรกิจอยู่แล้ว จะนำผลกำไรมาพิจารณาว่าจะทำให้พ่อค้าแม่ค้ามาส่งมากขึ้น ได้วอลุ่มมากขึ้น จะได้กี่คน สิ่งที่ต้องบาลานซ์กัน คือ 1.กำไรต้องดี 2.เรื่องของราคาที่ปรับลงได้ และ 3.วอลุ่มต้องเติบโต นี่คือเกมของอีโคโนมีออฟสเกลที่บริษัทจะทำต่อเนื่องทุกๆ ปี และใช้เป็นแนวทางการทำธุรกิจ เพื่อขยายเข้าสู่ตลาดขนส่งพัสดุราคาประหยัด อย่างที่บอกว่าตลาดนี้ในอีก 5 ปี เติบโตแน่ 20-30%

• ในตลาดมีการตัดราคากันมากหรือไม่?
การแข่งขันตัดราคายอมรับว่ามี เพราะต้นทุนของทุกอย่างมีเสมอ การที่คู่แข่งจะเข้ามาในตลาดได้โดยไม่สนใจคุณภาพ การบริการก็ได้ การทำกำไรก็ได้ เป็นไปได้ที่จะใช้วิธีการขายตัดราคา ต่ำกว่าทุน แน่นอนถ้ายิ่งขายขาดทุนต่อไป ยิ่งขาดทุนไปเรื่อยๆ คิดว่าธุรกิจนี้ดูน่าเป็นห่วง เพราะการทำธุรกิจจริงๆ การแสวงหากำไรเป็นเรื่องปกติ ถึงจะอยู่ได้

ถ้าขายต่ำกว่าทุนสิ่งที่อาจจะกระทบตามมาคือคุณภาพของการบริการ เพราะทุกๆ กล่องไม่ใช่ค่าส่งอย่างเดียว ไม่ใช่คนขับรถกับค่าน้ำมันรถ เป็นเรื่องของการบริการทั้งต้นน้ำไปปลายน้ำ ทั้งเชนจ์ของการรับส่งพัสดุ ตั้งแต่จังหวัดหนึ่งไปจังหวัดหนึ่ง ยังไม่รวมการบริหารจัดการหลังการส่ง เช่น การบริการลูกค้าเช็กพัสดุ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับพัสดุ 1 กล่อง มีต้นทุนแน่นอน ความตั้งใจของเคอรี่ตั้งแต่เข้าตลาดหลักทรัพย์มา ตั้งใจเป็นธุรกิจที่ทำกำไร และเป็นธุรกิจที่สามารถใช้นโยบายราคาลดค่าขนส่งพัสดุต่อหน่วยได้ โดยที่สามารถเพิ่มการเติบโตและวอลุ่มได้ทุกๆ ช่วง

ช่วงโควิดนี้มีโปรโมชั่นเข้าถึงผู้ส่งที่เป็นกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าขายของออนไลน์ที่ต้องการค่าส่งในระดับที่ถูกแต่ว่าอาจจะสนใจความเร็วด้วย ทางเคอรี่เองขึ้นชื่อว่าให้บริการส่งเร็ว ที่สำคัญถ้ามาส่งกับเรายิ่งส่งมากยิ่งได้ราคาถูก สามารถติดต่อขอราคาพิเศษได้และยังลดราคาให้กลุ่มเกษตร 10% อีกด้วย

• ทิศทางรายได้ของบริษัทในปีนี้?
ผลประกอบการเมื่อปีที่แล้วมีรายได้ 18,917 ล้านบาท และกำไร 1,405 ล้านบาท ซึ่งรายได้ลดลงจากปี 2562 แต่กำไรเพิ่มขึ้น เพราะปริมาณจัดส่งพัสดุเพิ่มขึ้น แนวโน้มปีนี้มีปริมาณการจัดส่งพัสดุเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วแน่นอน เนื่องจากปริมาณส่งพัสดุในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 เพิ่มขึ้น 13%

ส่วนรายได้จากการขายและบริการอยู่ที่ 4,188 ล้านบาท กำไรสุทธิ 303 ล้านบาท โดยรายได้ลดลงประมาณ 13% จากการปรับราคาต่อพัสดุเชิงรุกและการเจาะเข้าสู่กลุ่มตลาดการจัดส่งราคาประหยัด สถานการณ์โควิด-19 ที่ยืดเยื้อกระทบต่อความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้มีความต้องการสั่งซื้อพัสดุที่มีมูลค่า ขนาดเล็กลงและมีการซื้อบริการเสริมน้อยลงด้วย

• แผนรับมือกับโควิดที่ยังยืดเยื้อ?
ต้องยอมรับเป็นเรื่องที่ประเมินยาก เพราะแม้ว่าทุกคนจะได้รับวัคซีนแล้ว สิ่งที่ต้องทำอยู่คือ ทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัย อย่างน้อยปีหน้าอาจจะต้องใส่ทั้งปี เราก็ต้องเตรียมแผนรองรับไว้ ซื้อหน้ากากอนามัย

สต๊อกไว้เกิน 3 เดือน หรือเป็นล้านๆ ชิ้นแจกพนักงาน 20,000 คน ที่ต้องใช้ทุกวัน วันละ 20,000 ชิ้น รวมถึงซื้อเจลแอลกอฮอล์จะซื้อเป็นสต๊อกไว้เกินกว่า 3 เดือนเช่นกัน เพื่อไม่ให้ชอร์ต ไม่ให้กระทบต่อการส่งของรวมถึงเตรียมพร้อมเรื่องกล่องลูกฟูก ที่ใช้ในการแพคของ หากเกิดกรณีซัพพลายเออร์มีปัญหา เช่น สมมุติว่าโรงงานผลิตติดโควิด ไม่สามารถซัพพลายของให้ได้ จะติดขัด เราจะซื้อสต๊อก 2-3 เดือนเช่นกัน

• จากสถานการณ์โควิด ในครึ่งปีหลังต้องปรับแผนธุรกิจหรือการลงทุนหรือไม่?
เราประเมินวันต่อวัน พยายามมอนิเตอร์เรื่องความปลอดภัยทุกวันอยู่แล้ว ถ้ามองระยะกลางกับระยะยาวเราเตรียมพร้อมเพิ่มเรื่องคาปาซิตี้เพื่อมั่นใจว่าจะรับมือกับปริมาณสินค้าที่เข้ามาในแต่ละวันได้ ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงเพิ่มการจัดส่งในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ไตรมาส 4 ที่จะยิ่งสูงขึ้นอีกมาก จากสถิติของทุกๆ ปี ยิ่งช่วงนี้ล็อกดาวน์คนทำงานที่บ้านยอดส่งมากขึ้น เพราะคนจะซื้อของออนไลน์มากขึ้น เรามอนิเตอร์รายวันเห็นชัดอย่างกรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี แต่ละจังหวัดจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะจังหวัดปริมณฑลจะเพิ่มขึ้นมากกว่ากรุงเทพฯ เพราะคนทำงานในกรุงเทพฯส่วนใหญ่อาศัยอยู่ชานเมือง

เราไม่ได้ชะล่าใจว่าธุรกิจโตอย่างเดียว ธุรกิจโตก็ต้องหมายถึงการบริการที่ดีทุกวัน ต้องเฝ้าดูรายวันให้มั่นใจว่าการบริการจะไปส่งเมื่อไหร่ จะต้องเพิ่มจุดบริการ มีเพิ่มศูนย์กระจายพอสมควร ส่วนจุดบริการมีการขยายพาร์ตเนอร์เพิ่มที่เป็นรายใหม่มากขึ้น เช่น ลอว์สัน หรือท็อปส์มีการขยายสาขาใหม่เพิ่ม ส่วนการลงทุนขยายศูนย์กระจายสินค้าอาจจะมีลงทุนเพิ่มในปี 2565

ประเสริฐ จารึก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image