ฮุก 31 โคราช จับมือสถาบันแสงซินโครตรอน สร้างรถตู้โดยสารความดันลบเพิ่มประสิทธิภาพขนย้ายผู้ป่วยโควิด-19

ฮุก 31 โคราช จับมือสถาบันแสงซินโครตรอน สร้างรถตู้โดยสารความดันลบเพิ่มประสิทธิภาพขนย้ายผู้ป่วยโควิด-19

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 31 ก.ค. ที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ( มทส.) นครราชสีมา นายพิสิษฐ์ พงษ์ศิริศุภกุล เลขาธิการมูลนิธิพุทธธรรม 31 นครราชสีมา พร้อมนายเกริกฤทธิ์ สิทธิศาสตร์ วิศวกรเครื่องกลสถาบันแสงซินโครตรอน และทีมวิศวกรเครื่องกลร่วมปรับปรุงดัดแปลง และติดตั้งระบบเครื่องกรองอากาศในรถตู้โดยสารขนาด 9 ที่นั่ง เพื่อเป็น “รถตู้โดยสารความดันลบ” ภารกิจขนย้ายผู้ติดเชื้อโควิด -19 ที่มีอาการเล็กน้อยยังไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจให้มีความปลอดภัยตลอดเส้นทางและไม่เกิดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส

 

Advertisement

นายเกริกฤทธิ์ วิศวกรเครื่องกลสถาบันแสงซินโครตรอน เปิดเผยว่า ได้นำระบบและหลักการเทคโนโลยีของสถาบันวิจัย ฯจากการพัฒนาและสร้างห้องความดันลบสำหรับเตียงผู้ป่วยตามโรงพยาบาลมาประยุกต์ใช้ดัดแปลงกับรถตู้โดยสารออกแบบให้ห้องคนขับมีการปิดกั้นแยกกันกับห้องผู้โดยสารไม่ให้เกิดการปนเปื้อนของเชื้อไวรัส ส่วนห้องผู้โดยสารมีความดันต่ำกว่าความดันบรรยากาศและมีระบบกรองอากาศ HEPA filter ติดตั้งไว้ที่ใต้เบาะผู้โดยสารด้านหลังรถป้องกันเชื้อไวรัสกระจายสู่ภายนอกโดยใช้งบจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ประมาณ 3 หมื่นบาท

นายพิสิษฐ์  เปิดเผยว่า นายกอบชัย บุณอรณะ ผวจ.นครราชสีมา ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา มีนโยบายให้เพิ่มประสิทธิภาพการเคลื่อนย้ายขนส่งผู้ป่วยกลับมารักษาที่ภูมิลำเนา ที่ผ่านมาประสบปัญหาการขาดแคลนยานพาหนะที่เหมาะสมปลอดภัย นายประวิทย์ อัศวินชัย ประธานมูลนิธิพุทธธรรม 31นครราชสีมา ได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการจัดหาและสร้างยานพาหนะที่มีความปลอดภัยตามหลักวิชาการ

“รถตู้โดยสารความดันลบ” ถือเป็นต้นแบบที่นำเทคโนโลยีห้องความดันลบในโรงพยาบาลมาประยุกต์ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด -19 สามารถเดินทางกลับมารักษา มีความสะดวกสบายและปลอดภัยมากขึ้น อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์ระบาดของโควิด -19 ยังไม่คลี่คลายลง ทางมูลนิธิฯ ได้วางแผนเตรียมพร้อมรถตู้โดยสารความดันลบรองรับไว้จำนวน 4 คัน ให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างทันท่วงที” เลขามูลนิธิ กล่าว

ทั้งนี้มูลนิธิพุทธธรรม 31 นครราชสีมา ซึ่งมีหน่วยกู้ภัยฮุก.31 นครราชสีมา เป็นหน่วยงานหลักได้ปฏิบัติภารกิจบรรเทาการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยจัดรถพยาบาลพร้อมอาสาสมัครบริการรับผู้ป่วยจากพื้นที่เสี่ยงกลับมารักษาที่ภูมิลำเนาเดิม ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคตามพื้นที่จุดเสี่ยง จัดตั้งจุดแจกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือและนำร่างผู้เสียชีวิตไปฌาปนกิจโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายรวมทั้งผลิตข้าวกล่องแจกข้าวสาร น้ำดื่มและของใช้ที่จำเป็นให้กลุ่มเปราะบาง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image