กรมชลประทานประสาน กฟผ. เพิ่มระบายน้ำเขื่อนสิริกิติ์ ช่วยพื้นที่ท้ายเขื่อนหลังฝนลดลง

กรมชลประทาน ประสานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศทไทย (กฟผ.) ปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ หลังมีฝนตกน้อยลง เพื่อให้มีปริมาณน้ำไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง และสามารถจัดสรรน้ำได้อย่างเหมาะสม ช่วยพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอและทั่วถึง ตามข้อสั่งการของรัฐบาล และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (1 ส.ค.64) สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกัน 36,731 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 48% ของความจุอ่างฯรวมกัน สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 39,300 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ) มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกัน 7,971 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 32% ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 1,275 ล้าน ลบ.ม. การเพาะปลูกข้าวนาปีปี 2564 ทั่วประเทศทำการเพาะปลูกไปแล้ว 12.72 ล้านไร่ คิดเป็น 76% ของแผนฯ ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาเพาะปลูกไปแล้ว 5.99 ล้านไร่ คิดเป็น 75% ของแผนฯ

ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าบริเวณด้านท้ายเขื่อนสิริกิติ์ (ลุ่มน้ำน่าน) มีปริมาณฝนตกน้อยลง ประกอบกับปริมาณน้ำท่าตามแหล่งน้ำต่างๆมีน้อย และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงได้ประสานไปยัง กฟผ.ให้ปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ ในช่วงวันที่ 1-5 ส.ค.64 จากวันละ 7 ล้าน ลบ.ม. เป็นวันละ 9 ล้าน ลบ.ม. เพื่อให้มีปริมาณน้ำไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่างอย่างเหมาะสม สามารถจัดสรรน้ำเป็นไปตามแผนฯที่วางไว้อย่างเพียงพอและทั่วถึง

อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าประเทศไทยยังคงได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทย และยังคงมีกำลังค่อนข้างแรง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากได้ นั้น ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทุกแห่งติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิด เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และสามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือติดต่อผ่านเพจเฟซบุ๊กกรมชลประทาน หรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image