รอลุ้น!ศาลรับคุ้มครองหรือ-ไม่ ภาคีนัก กม.สื่อมวลชน ยื่นฟ้อง ‘บิ๊กตู่’ ออกข้อกำหนดให้อำนาจ กสทช.ฟันเฟคนิวส์

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก กลุ่มทนายความภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และตัวแทนสื่อออนไลน์ ประกอบด้วย นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, น.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ต่างๆ จำนวน 12 คน รวมตัวยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และในฐานะ ผอ.ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เพื่อให้ศาลแพ่งมีคำสั่งเพิกถอน ข้อกำหนดฉบับที่ 29 ที่ให้อำนาจ กสทช.ตัดเน็ตผู้โพสต์ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ซึ่งออกคำสั่งโดยไม่มีอำนาจ ไม่มีความจำเป็น ไม่ได้สัดส่วน และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 นอกจากนี้ ยังยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองชั่วคราวด้วย ซึ่งการยื่นคำฟ้องใช้เวลาประมาณ 20 นาที จึงเสร็จสิ้น จากนั้นออกให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน

โดยนายนรเศรษฐ์กล่าวว่า วันนี้ตัวแทนสื่อและภาคประชาชน 12 คน เป็นโจทก์ ยื่นให้ศาลเพิกถอนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ข้อที่ 29 ซึ่งออกโดยนายกรัฐมนตรี ในลักษณะที่ห้ามไม่ให้นำเข้าข้อความที่อาจจะทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ซึ่งข้อกำหนดนี้ อาจทำให้ตีความได้ว่าแม้การนำเข้าความจริงหรือนำเสนอข่าวตามความจริง ก็อาจจะเป็นความผิดตามข้อกำหนดฉบับนี้ได้ จึงเห็นว่าขัดต่อหลักความชัดเจน หลักไม่มีความผิด ไม่มีกฎหมาย ไม่มีโทษตามกฎหมายอาญา และขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ประเด็นต่อมาสื่อมวลชนต้องมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร เป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 34, 35, 26 การจำกัดในลักษณะนี้เท่ากับเป็นการจำกัดเสรีภาพ ในการเสนอข่าว ด้วยความจริงอย่างตรงไปตรงมา และข้อกำหนดฉบับนี้ให้อำนาจคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สั่งให้ผู้ให้บริการทำการตรวจสอบข้อมูลว่าผู้ใดกระทำผิดและให้มีอำนาจระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ต การกำหนดลักษณะนี้มีความไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ คือใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 ไม่ได้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีสั่งระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ตได้ การออกข้อกำหนดนี้จึงเกินกว่าที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

“การตัดอินเตอร์เน็ตเป็นการกระทำที่เกินไปกว่าแนวของศาลอาญาหรือเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เพื่อคุ้มครองเสรีภาพของสื่อและเสรีภาพทางการแสดงออก หากจะปิดกั้นหรือลบข้อความ ก็ควรลบเป็นรายข้อความที่เป็นความผิดต่อกฎหมายเท่านั้น แต่การระงับให้บริการอินเตอร์เน็ต จะทำให้ผู้ที่ถูกระงับไม่สามารถใช้งานได้ในทุกแพลตฟอร์ม และยังถือว่าเป็นการปิดกั้นการสื่อสารในอนาคต ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 30” นายนรเศรษฐ์ระบุ

Advertisement

นายนรเศรษฐ์กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นที่สังคมอาจจะมีคำถามว่า ถ้าไม่มีข้อกำหนดฉบับนี้ รัฐจะจัดการต่อข่าวปลอม หรือข่าวที่บิดเบือนอย่างไร ขอเรียนว่าเรื่องนี้รัฐบาลไม่มีความจำเป็นที่ต้องออกพระราชกำหนดเพราะว่ารัฐสามารถใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในการดำเนินคดีกับคนที่เผยแพร่ข่าวปลอม หรือข่าวบิดเบือนได้อยู่แล้ว ส่วนหากจำเป็นที่ต้องลบข้อความก็สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 20 ในการยื่นคำร้องต่อศาลอาญาให้ศาลสั่งลบข้อความได้ การออกข้อกำหนดลักษณะนี้จึงไม่มีความจำเป็น ที่สำคัญข้อกำหนดนี้ให้ กสทช.มีอำนาจเด็ดขาด โดยไม่ต้องผ่านศาลตรวจสอบ และไม่ให้คู่ความอีกฝ่ายคัดค้าน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันในวันนี้ก็ได้ขอให้ศาลแพ่งคุ้มครองชั่วคราวด้วย ดังนั้น ถ้าศาลแพ่งรับฟ้อง พร้อมมีคำสั่งให้ไต่สวนฉุกเฉินและหากศาลมีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราวนั่น ก็หมายความว่าข้อกำหนดดังกล่าวอาจจะยังไม่สามารถใช้บังคับได้

ด้าน น.ส.ฐปณีย์ ตัวแทนสื่อออนไลน์ กล่าวว่า ในนามองค์กรสื่อและประชาชน เราร่วมกับภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับข้อกำหนด ฉบับที่ 29 ซึ่งในทางกฎหมายอาจขัดรัฐธรรมนูญ ในแง่ของสื่อมวลชนหรือประชาชนที่ใช้อินเตอร์เน็ต ก็ได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดนี้ ทำให้สร้างความหวาดกลัวต่อสื่อมวลชนและประชาชน เป็นข้อกำหนดที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

น.ส.ฐปณีย์กล่าวอีกว่า การนำเสนอข่าวเรื่องผู้ป่วยเสียชีวิตในบ้าน หรือข้างถนน ข่าวเหล่านี้สลดหดหู่ เศร้า และเป็นข่าวที่น่ากลัว แต่น่ากลัวโดยสถานการณ์และข้อเท็จจริง ในฐานะสื่อมวลชน มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนรายงานข่าว และมีหน้าที่นำเสนอข่าวเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้เขาได้เข้าถึงสิทธิการรักษา มองว่ารัฐไม่ควรใช้กฎหมายเหล่านี้เข้ามาปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และปิดกั้นการรายงานของสื่อมวลชนเพื่อช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์ ส่วนมองว่าจะมีการใช้กฎหมายกลั่นแกล้งสื่อมวลชนหรือไม่นั้น มองว่าข้อกฎหมายนี้ไม่ชัดเจนกำกวม ซ้ำเติมสถานการณ์ ตระหนักเรื่องจรรยาบรรณในวิชาชีพอยู่แล้ว ซึ่งแตกต่างจากประเด็นที่รัฐจะจัดการกับเฟคนิวส์ โดยเฟคนิวส์หรือข่าวปลอมนั้น มีกฎหมายที่จะดำเนินการอยู่แล้ว

“ในสถานการณ์นี้รัฐควรเอื้อให้ประชาชนได้มีพื้นที่ร้องขอความช่วยเหลือและรักษาตัวเอง อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หวาดกลัวข้อกำหนดนี้ ออกมาเพื่อปกป้องสิทธิของทุกคนมากกว่า ความจริงแล้วการที่ประชาชนนำเสนอข่าวในการเรียกร้องว่ามีคนตาย ต้องการความช่วยเหลือ ควรรีบเข้าไปตรวจสอบข้อมูล และช่วยเหลือเขามากกว่า แทนที่จะไปปิดกั้น” น.ส.ฐปณีย์ระบุ

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากวันนี้ศาลแพ่งมีคำสั่งให้เพิกถอนข้อกำหนดดังกล่าว แล้วมีคำสั่งฉบับใหม่ออกมาชัดเจนขึ้น เช่น ยกเว้นสื่อมวลชน จะพอใจหรือไม่

น.ส.ฐปณีย์กล่าวว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้จำกัดเฉพาะสื่อมวลชนเท่านั้น ตนคิดว่าประชาชนเองในบางครั้งก็มีการนำเสนอข่าวได้ค่อนข้างดี ก็ควรมีพื้นที่ดังกล่าวด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โดยภายหลังยื่นฟ้อง ศาลรับคำฟ้องไว้ในสารบบเป็นคดีหมายเลขดำ พ.3618/2564 เพื่อนัดชี้สองสถานต่อ ส่วนคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวขณะนี้ยังไม่มีการเเจ้งคำสั่งลงมา

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image