สธ.ชี้เดลต้าแรงขึ้น 3 เท่า ตัวเลขโควิดไทยยังสูงต่อเนื่อง ทั่วโลกกลับมาเผชิญวิกฤตอีกครั้ง ขอทุกคนล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ
เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. พร้อมด้วย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงผลการใช้มาตรการล็อกดาวน์ (Lock Down) ในประเทศไทย และการวิเคราะห์สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า วันนี้จะเป็นการรายงานผลหลังจากที่มีการล็อกดาวน์ การเพิ่มมาตรการสังคมไปแล้ว 2 สัปดาห์ เพื่อการควบคุมโรคในระยะต่อไป เป้าหมายเพื่อลดอัตราการติดเชื้อ การเจ็บป่วยเสียชีวิต ส่วนประเด็นของวัคซีน คือระยะ 2 เดือนที่ผ่านมา มิ.ย.-ก.ค. มีการจัดสรรวัคซีนลงพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวนมาก ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญ เพื่อป้องกันการระบาดที่รุนแรง และขณะนี้มีจำนวนผู้ได้รับวัคซีนมากเพียงพอแล้ว ดังนั้น เดือน ส.ค.นี้ ก็จะส่งวัคซีนไปต่างจังหวัดมากขึ้น
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีการติดเชื้อโควิด-19 สะสมถึง 199 ล้านราย โดยเป็นช่วงขาขึ้นของการระบาดสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น จากเมื่อก่อนที่ทั่วโลกติดเชื้อชะลอขึ้น แต่ช่วง 1-2 สัปดาห์มานี้ ก็เริ่มมีความรุนแรง ติดเชื้อมากขึ้น เฉลี่ยติดเชื้อวันละ 4-6 แสนราย การเสียชีวิตสะสม 4.2 ล้านราย คิดเป็นอัตรา 2.13% ส่วนประเทศที่ยังพบการติดเชื้อมากคือ สหรัฐอเมริกา อินเดีย บราซิล รัสเซีย ส่วนประเทศที่อยากให้ดู คือ สหราชอาณาจักร เนื่องจากมีประชากรใกล้เคียงกับไทย ก็มีการติดเชื้อใหม่วันละ 2 หมื่นราย อินโดนีเซีย ติดเชื้ออยู่จำนวนมากเช่นกัน และอัตราเสียชีวิตค่อนข้างสูง
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า การเปรียบเทียบอัตราป่วยต่อประชากร 1 ล้านคน พบว่า สหรัฐป่วยถึง 1 แสนกว่าราย อังกฤษ 8 หมื่นกว่าราย มาเลเซีย 3 หมื่นรายกว่า อินเดีย 2 หมื่นกว่าราย อินโดนีเซีย 12,000 ราย ส่วนไทยอัตราป่วยต่อล้านคน อยู่ที่ 9,000 กว่ารายเท่านั้น ขณะที่อัตราตายต่อประชากร 1 ล้านคน พบว่า สหรัฐมีอัตราตายที่สูงมาก อยู่ที่ 1,900 รายต่อประชากร 1 ล้านคน ซึ่งอังกฤษก็ใกล้เคียงกัน ประมาณ 1,900 ราย ส่วนอินโดนีเซีย 346 ราย อินเดีย 300 ราย มาเลเซีย 280 ราย ส่วนไทยอัตราตายอยู่ที่ 74 รายต่อประชากร 1 ล้านคน ทั้งนี้ สถานการณ์ติดเชื้อในอาเซียน พบว่า อินเดีย อินโดนีเซียยังสูง ส่วนไทยถูกจัดลำดับไว้ที่ 42 ของโลก วันนี้พบการติดเชื้อเกือบ 1.8 หมื่นราย
ปลัด สธ. กล่าวว่า สถานการณ์ทั่วโลกในกราฟของผู้ติดเชื้อใหม่ ข้อมูลสะสมตั้งแต่ต้นปี 2564 พบว่า อัตราการติดเชื้อขึ้นสูงในระยะสัปดาห์ที่ 1-3 และเริ่มลดลงมาจนถึงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า ผู้ป่วยใหม่ต่อวันของทั่วโลกเริ่มทยานขึ้น เนื่องจากการมีกลายพันธุ์ของไวรัส ทำให้มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน สถานการณ์ในประเทศไทย วันนี้ (2 ส.ค.64) พบผู้ติดเชื้อใหม่ 17,970 ราย แต่มีผู้รักษาหายเพิ่ม 13,919 ราย ยังเหลือรักษาที่ 208,875 ราย แบ่งเป็นในโรงพยาบาล 75,705 ราย รพ.สนามและอื่นๆ อีก 133,170 ราย ส่วนผู้ที่แยกกักที่บ้าน (Home Isolation) และศูนย์พักคอยในชุมชน (Community Isolation) ประมาณ 5 หมื่นกว่าราย ขณะที่ผู้เสียชีวิต 178 ราย สะสม 5,074 ราย คิดเป็นอัตรา 0.84%
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า กราฟแสดงสถานการณ์ของไทยในปัจจุบัน สัปดาห์ที่ 30 พบว่า ผู้ป่วยใหม่ยังเพิ่มขึ้น ผู้หายป่วยก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน แต่ผู้ป่วยใหม่มากกว่าผู้หายป่วย ทั้งนี้ กราฟแสดงการคาดการณ์ พบว่า ตัวเลขสถานการณ์จริงทั้งการติดเชื้อและเสียชีวิตใกล้เคียงตัวเลขคาดการณ์ประสิทธิภาพการล็อกดาวน์ 20% อย่างไรก็ตาม หากเพิ่มประสิทธิภาพการล็อกดาวน์ เป็น 25% ร่วมกับการฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ จะทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตลดลงค่อนข้างมาก ดังนั้น การเพิ่มประสิทธิภาพแค่ 5% ก็จะมีผลอย่างมาก “ขณะนี้ เราจึงต้องร่วมกันควบคุมการติดเชื้อ ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนช่วยกันล็อกดาวน์ให้ถึง 25% ทั้งเรื่องของงดการเดินทาง การไปพบปะ การดูแลตนเองที่ต้องทำเข้มขึ้น จะทำให้ยอดผู้ป่วยติดเชื้อและเสียชีวิตลดลงรวดเร็วเช่นกัน
ศูนย์ควบคุมป้องกันโรค สหรัฐ เปิดเผยว่า การติดเชื้อในสหรัฐก็เป็นสายพันธุ์เดลต้า โดยเก็บข้อมูลในผู้ป่วย 469 ราย พบว่า 74% เป็นผู้ติดเชื้อที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว โดยพบว่า 90% เป็นสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งสามารถผลิตไวรัสเมื่อเข้าไปในร่างกายคนได้ใกล้เคียงกัน ทั้งคนที่ฉีดและไม่ฉีดวัคซีน ดังนั้น การป้องกันตนเอง รักษาระยะห่าง สวมหน้ากาก และล้างมือบ่อย เป็นวิธีการที่ดีที่สุด” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า ส่วนสถานกาณ์เตียงขณะนี้เต็มเกือบทั้งหมดแล้ว ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และจะขยายเตียงก็ยังเต็ม โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล ผู้ป่วยเรียกว่า “ล้นเตียง” ทั้งนี้ ทั่วประเทศขยายเตียงดูแลโควิด-19 ได้ถึง 185,417 เตียง เป็นต่างจังหวัด 143,758 เตียง และ กรุงเทพฯ 41,659 เตียง มีการครองเตียงแล้ว 70-80% โดยกรุงเทพฯ สูงเกือบ 90% เตียงทุกระดับมีการนอนแทบเกิน 80% ขึ้นไปทั้งสิ้น “อย่างไรก็ตาม ส่วนเกินกว่านี้ เราต้องอาศัยการดูแลที่บ้านและชุมชน เพื่อเชื่อมต่อระบบบริการไปดูแลที่บ้านได้ในคนอาการน้อย ถ้าอาการมากขึ้นก็เข้าระบบ รพ. สำหรับการฉีดวัคซีนขณะนี้สะสม 17,866,526 โดส ถือว่าฉีดได้ค่อนข้างดี พยายามฉีดเพื่อลดอัตราป่วยหนักและตาย เราพบคนเสียชีวิตจากรายงาน 75-80% เป็นสูงอายุมีโรคเรื้อรัง จึงฉีดในกลุ่มนี้เพื่อลดอัตราป่วยหนักและเสียชีวิตต่อไป ทุกมาตรการที่รัฐบาลออกไปเป็นการขอความร่วมมือ ยังไม่ได้ใช้มาตรการทางกฎหมาย คนไทยต้องแสดงให้เห็นว่าภาวะวิกฤต ความร่วมมือมีค่ามากที่สุดในการลดการติดเชื้อ ขอให้กลับไปนึกถึงตอน เม.ย.ปีที่แล้ว อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อทุกคนไม่ติดโรค ไม่แพร่กระจายโรคต่อ จึงขออีก 2 สัปดาห์ หลังล็อกดาวน์จาก 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด ถ้าสามารถกดลงมาได้ประสิทธิภาพของเพิ่มอีก 5% ลักษณะการติดเชื้อ การป่วยหนัก และเสียชีวิต จะลงมาในระดับควบคุมได้ต่อไป ขอให้อยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อเพื่อเราทุกคน” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
ด้าน นพ.โสภณ กล่าวว่า การปรับมาตรการให้เข้มข้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโควิด-19 นั้น ศบค.ประกาศเริ่มตั้งแต่เวลา 00.01 น. วันที่ 3 ส.ค.64 โดยเพิ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จาก 13 จังหวัดเป็น 29 จังหวัด, พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) 37 จังหวัดหรือประมาณครึ่งประเทศ และพื้นที่ควบคุม (สีเหลือง) 11 จังหวัด โดยแต่ละพื้นที่มีการยกระดับมาตรการ คือ พื้นที่สีแดงเข้มขอให้เลี่ยงหรืองดเว้นการเดินทางออกนอกเคหสถานนอกที่พักโดยไม่จำเป็น และห้ามออกจากเคหสถานเวลา 21.00 – 04.00 น. วันรุ่งขึ้น หากทำได้พร้อมเพรียงกัน ก็ลดโอกาสแพร่เชื้อในพื้นที่สาธารณะที่มีการพบกันของผู้คน, งดการให้บริการขนส่งข้ามเขตจังหวัด และตั้งด่านสกัดระหว่างจังหวัด เพื่อลดโอกาสแพร่เชื้อข้ามพื้นที่ โดยต้องอาศัยความร่วมมือประชาชนด้วย, ห้ามจัดกิจกรรมรวมกันมากกว่า 5 คน เพราะโอกาสแพร่เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าเร็วขึ้น ติดง่ายขึ้น
“ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐ สายพันธุ์เดลต้า 1 คน ติดได้ 8 คน จากเดิมติดได้แค่ 3 คน ถือว่าเชื้อไวรัสเก่งขึ้น 3 เท่า ต้องเข้มงวดลดโอกาสแพร่เชื้อ คือ ต้องไม่รวมตัวกัน ลดเสี่ยงด้วยการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ ทำอย่างเข้มข้นในช่วงนี้ ส่วนร้านอาหารห้ามบริโภคที่ร้าน ซื้อกลับบ้านไม่เกิน 20.00 น. และงดจำหน่ายสุราในร้าน ห้างสรรพสินค้าเพิ่มความเข้มข้นโดยร้านอาหารในห้างงดการจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไป แต่ให้สั่งผ่านดิลิเวอรีได้ จะได้ลดจำนวนคนไปรอหน้าร้าน ส่วนร้านยา เวชภัณฑ์ ซูเปอร์มาร์เก็ต เปิดได้ไม่เกิน 20.00 น. ร้านเสริมสวย ร้านนวด สถานเสริมความงาม โรงเรียน การเล่นกีฬา ปิดทั้งหมด” นพ.โสภณ กล่าว
นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับข้อมูลโมบิลิตี้ ติดตามการเคลื่อนย้ายรถและการเดินเท้า หลังประกาศลดการเดินทางตั้งแต่ 2 สัปดาห์ที่แล้วพบว่ามีแนวโน้มลดลง แต่ยังน้อยกว่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อย่าง กรุงเทพฯ และ จ.ชลบุรี ปีที่แล้ว สามารถลดลงได้ 80% กว่า ส่วนปีนี้ทำได้เพียง 70% กว่า ต้องขอความร่วมมือเพื่อให้ความเสี่ยงลดลง เชื้อโรคจะไม่มีที่ไปต่อ ถ้าลดการเดินทาง เชื้อโรคก็ลดโอกาสแพร่เชื้อ