เปิดหวูดรถไฟฟ้าสายสีแดง ปิดตำนานหัวลำโพงสู่โฉมใหม่ ปั้น ‘ฮับบางซื่อ’ ใหญ่สุดอาเซียน

ภาพของสถานีหัวลำโพงบนเนื้อที่ 121 ไร่ ในอนาคตจะถูกพลิกโฉมเป็นพิพิธภัณฑ์รถไฟและศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่

2 สิงหาคม 2564 เป็นอีกวันประวัติศาสตร์ของระบบรถไฟไทย ในการเปิดบริการรถไฟฟ้าสายที่ 6 ของประเทศ ‘รถไฟชานเมืองสายสีแดง’ ที่เรียกขานผ่านรหัสโค้ดตามแผนแม่บทว่า ‘สายสีแดงเข้ม’ ช่วงบางซื่อ-รังสิต และ ‘สายสีแดงอ่อน’ ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน

เป็นการสิ้นสุดการรอคอย หลังการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ใช้เวลาก่อสร้างมาราธอน 14 ปี และใช้เงินลงทุนมากกว่า 1 แสนล้านบาท

เป็นรถไฟฟ้าสายที่สองต่อจากรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์สายพญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ ที่ รฟท.ลงทุนและบริหารโครงการผ่านบริษัทลูก ‘บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด’

ปัจจุบัน ‘แอร์พอร์ตลิงก์’ กำลังนับถอยหลังส่งไม้ต่อให้ ‘บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด’ หรือกลุ่มซีพี ผู้รับสัมปทานรายใหม่ ภายในเดือนตุลาคมนี้ ขณะเดียวกันโยกพนักงานบางส่วนไปประจำการที่สายสีแดง

Advertisement

เปิดโผ 13 สถานี ผ่านที่ไหนบ้าง? จาก ‘รังสิต-บางซื่อ-ตลิ่งชัน’
เลาะเส้นทางรถไฟฟ้าสายใหม่ มีระยะทางรวม 41 กิโลเมตร วิ่งไปตามแนวรถไฟปัจจุบัน มีทั้งวิ่งบนทางยกระดับและระดับพื้นดิน เชื่อมการเดินทางจากจังหวัดปทุมธานีและย่านชานเมืองเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพฯ

ขบวนรถไฟฟ้าของสายสีแดง ภายในสถานีกลางบางซื่อ

มี ‘สถานีกลางบางซื่อ’ เป็นศูนย์กลางการเดินทาง ‘สถานีรังสิต’ เป็นเกตเวย์ทางด้านเหนือ และ ‘สถานีตลิ่งชัน’ เป็นเกตเวย์ทางด้านใต้และตะวันตก

เปิดบริการ 06.00-20.00 น. มีรถออกทุก 15-30 นาที โดยช่วงบางซื่อ-รังสิต มี 10 สถานี ใช้เวลาเดินทาง 25 นาที และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน มี 3 สถานี ใช้เวลาเดินทาง 15 นาที หากนั่งจากสถานีรังสิตไปลงสถานีตลิ่งชัน ต้องเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีกลางบางซื่อ

Advertisement

สำหรับการเชื่อมต่อพื้นที่ทั้ง 13 สถานี และสถานีที่สำคัญ

‘สถานีกลางบางซื่อ’ มีอุโมงค์ทางเดินใต้ดินเชื่อมสายสีน้ำเงินสถานีบางซื่อ สามารถนั่งไปต่อสายสีเขียวที่สถานีจตุจักร สายสีม่วงที่สถานีเตาปูน หรือจะนั่งเข้าเมืองก็ได้ ยังมีแท็กซี่ รถเมล์ เป็นทางเลือกเพิ่ม อยู่ใกล้กับสถานีขนส่งหมอชิต 2 บริษัทปูนซิเมนต์ไทย ตลาดนัดจตุจักร ตลาด อ.ต.ก. สวนจตุจักร

‘สถานีจตุจักร’ อยู่บนถนนกำแพงเพชร เชื่อมต่อถนนวิภาวดี ใกล้สำนักงานใหญ่ ปตท. กระทรวงพลังงาน เซ็นทรัลลาดพร้าว โรงเรียนหอวัง

‘สถานีวัดเสมียนนารี’ เชื่อมกับถนนวิภาวดี ใกล้วัดเสมียนนารี ตลาดบองมาร์เช่ ย่านประชานิเวศน์ 1 ถนนประชาชื่น

‘สถานีบางเขน’ เชื่อมกับถนนวิภาวดี อนาคตมีสกายวอล์กเชื่อมสายสีน้ำตาล (แคราย-ลำสาลี) ใกล้อาคารเบญจจินดา (พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โรงพยาบาลวิภาวดี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สำนักงานใหญ่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

‘สถานีทุ่งสองห้อง’ เชื่อมกับถนนวิภาวดี ใกล้โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ชุมชนทุ่งสองห้อง

‘สถานีหลักสี่’ เชื่อมต่อถนนวิภาวดี มีสกายวอล์กเชื่อมสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ศูนย์การค้าไอทีสแควร์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ใกล้ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ โรงเรียนไผทอุดมศึกษา

‘สถานีการเคหะ’ เชื่อมต่อถนนวิภาวดี ใกล้ร้านเจ้เล้ง ชุมชนแฟลตเคหะ

‘สถานีดอนเมือง’ เชื่อมต่อถนนวิภาวดี ถนนสรงประภา มีสกายวอล์กเชื่อมสนามบินดอนเมือง ใกล้โรงแรมดอนเมืองแอร์พอร์ต วัดดอนเมือง ตลาดดอนเมือง สำนักงานเขต บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.)

‘สถานีหลักหก’ ใกล้โรงเรียนวัดรังสิต วัดรังสิต ชุมชนหมู่บ้านหลักหก มหาวิทยาลัยรังสิต

‘สถานีรังสิต’ เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางกับรถไฟทางไกล รถเมล์ ไปยังหมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี ตลาดรังสิต ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิต

‘สถานีบางซ่อน’ มีสกายวอล์กเชื่อมสายสีม่วง ชุมชนโดยรอบ ย่านเตาปูน ถนนวงศ์สว่าง ถนนประชาชื่น ถนนกรุงเทพฯ-นนทบุรี

‘สถานีบางบำหรุ’ เชื่อมต่อทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตก ชุมชนโดยรอบ ห้างตั้งฮั่วเส็งธนบุรี ถนนสิรินธร ถนนจรัญสนิทวงศ์ ถนนเทอดพระเกียรติ ถนนบางกรวย-ไทรน้อย

และ ‘สถานีตลิ่งชัน’ เป็นจุดเชื่อมต่อสายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีนบุรี) และสายสีเขียว (บางหวัา-ตลิ่งชัน) ในอนาคต ยังใกล้สถานีขนส่งสายใต้ใหม่ ถนนบรมราชชนนี ถนนราชพฤกษ์ ถนนสวนผัก ถนนฉิมพลี ถนนทุ่งมังกร พุทธมณฑลสาย 1

สถานีกลางบางซื่อ สร้างบนเนื้อที่กว่า 400 ไร่ เป็นศูนย์กลางระบบรางใหญ่สุดของประเทศและอาเซียน

เพิ่ม ‘รถเมล์’ ฟีดเดอร์ป้อนคนเข้าสถานี
แต่ด้วยกายภาพของสถานี อาจทำให้การเข้า-ออกลำบาก กระทรวงคมนาคมทะลวงจุดบอด ปรับเส้นทางรถโดยสารประจำทางเป็นฟีดเดอร์วิ่งเชื่อม

โดยองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ปรับการเดินรถ 4 เส้นทางมาเชื่อม วิ่งบริการตั้งแต่ 05.00-19.30 น. โดยเก็บค่าโดยสารตามปกติ

สาย 49 สถานีหมอชิต 2-หัวลำโพง ปรับวิ่งวงกลมสถานีกลางบางซื่อ-หัวลำโพง

สาย 67 วัดเสมียนนารี-เซ็นทรัลพระราม 3 เพิ่มช่วงสถานีกลางบางซื่อ-เซ็นทรัลพระราม 3

สาย 79 อู่บางแค (วัดม่วง)-ราชประสงค์ เพิ่มช่วงอู่บรมราชชนนี-สถานีบางบำหรุ-สถานีขนส่งสายใต้ใหม่

สาย 522 รังสิต-งามวงศ์วาน-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพิ่มช่วงสถานีรังสิต-สถานีแยก คปอ.

ยังปรับปรุงเส้นทางรถโดยสารหมวด 4 จังหวัดนนทบุรี เชื่อมสถานีบางบำหรุ 5 เส้นทาง ได้แก่ สาย 1003 บางกรวย-ไทรน้อย-ถนน 346, สาย 1010 บางกรวย-วัดปากน้ำ-สะพานพระราม 5, สาย 1026 บางกรวย-บางใหญ่ซิตี้, สาย 6043 บางกรวย-วัดต้นเชือก และสาย 6261 วัดชลอ-ท่าน้ำนนทบุรี

และปรับเส้นทางรถโดยสารประจำทางหมวด 4 จังหวัดปทุมธานี ให้เดินรถเข้าสถานีหลักหกอีกด้วย

เปิดค่าตั๋วเริ่มต้น 12 บาท สูงสุด 42 บาท
ไม่เพียงเท่านั้น ‘กระทรวงคมนาคม’ ยังจัดโปรแรงให้นั่งสายสีแดงฟรีถึงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ ก่อนเปิดเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบเก็บค่าโดยสาร

โดยคิดค่าแรกเข้าครั้งเดียวเริ่มต้น 12 บาท ที่การันตีถูกที่สุดของการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้า และเก็บสูงสุดตลอดสายไม่เกิน 42 บาท

หากนั่งจากสถานีกลางบางซื่อไปยังสถานีรังสิต คิดอยู่ที่ 12-38 บาท และจากสถานีกลางบางซื่อไปยังสถานีตลิ่งชันอยู่ที่ 12-27 บาท

พร้อมออกบัตรโดยสารประเภทต่างๆ เป็นทางเลือกเพิ่ม ทั้งแบบรายเดือน 20 เที่ยว ราคา 700 บาท เฉลี่ย 35 บาท/เที่ยว แบบ 40 เที่ยว ราคา 900 บาท เฉลี่ย 30 บาท/เที่ยว และแบบ 50 เที่ยว ราคา 1,250 บาท เฉลี่ย 25 บาท/เที่ยว

บัตรนักเรียน เด็กสูงน้อยกว่า 90 เซนติเมตร โดยสารฟรี อายุไม่ต่ำกว่า 14 ปี ส่วนสูงอยู่ระหว่าง 90-120 เซนติเมตร ลดราคา 50% และเด็กอายุ 14-23 ปี ลดราคา 10% และบัตรผู้สูงอายุ ลดราคา 50%

บูม ‘สถานีกลางบางซื่อ’ ฮับระบบรางใหญ่สุดในอาเซียน
ไฮไลต์ ‘สายสีแดง’ ปลายปีนี้ นอกจากคิกออฟการเดินรถเต็มรูปแบบ ยังเป็นก้าวย่างสำคัญของ ‘สถานีกลางบางซื่อ’ ที่ รฟท.ลงทุนกว่า 34,000 ล้านบาท ได้ใช้ประโยชน์อย่างสมบูรณ์แบบเช่นกัน จากปัจจุบันเป็นทั้งสถานีรถไฟฟ้าและศูนย์ฉีดวีคซีนโควิด-19

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการะทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม รถไฟทางไกลสายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือจะวิ่งบนโครงสร้างยกระดับและสิ้นสุดที่สถานีกลางบางซื่อ เพื่อลดขบวนรถเข้าสถานีลำโพง จะช่วยแก้ปัญหาการจราจร ลดจุดตัดพื้นที่ในเมือง

“เพื่อใช้ประโยชน์สถานีกลางบางซื่อให้คุ้มกับที่ลงทุนไป และนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางระบบรางอย่างแท้จริง เป็นสถานีรถไฟหลักแห่งใหม่ของประเทศไทยที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เป็นจุดเชื่อมทั้งรถไฟฟ้า รถไฟทางไกล รถไฟชานเมือง รถไฟความเร็วสูง”

‘สถานีกลางบางซื่อ’ ตั้งอยู่ในย่านพหลโยธินบนที่ดินของการรถไฟ มีอาณาบริเวณกว่า 2,300 ไร่ เฉพาะ ‘สถานีกลางบางซื่อ’ มีเนื้อที่กว่า 400 ไร่ พื้นที่ใช้สอยรวม 298,200 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 300,000 คนต่อวัน

สร้างเป็นอาคาร 3 ชั้น ชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่ขายตั๋วร้านค้า ศูนย์อาหาร สำนักงาน พื้นที่พักคอย และจุดเชื่อมต่อสายสีน้ำเงิน

ชั้นที่ 2 เป็นชั้นชานชาลารถไฟทางไกล 8 ชานชาลา และสายสีแดง 4 ชานชาลา และชั้นที่ 3 เป็นชานชาลารถไฟความเร็วสูง 12 ชานชาลา

ยังมีชั้นลอย เป็นพื้นที่ร้านค้า ห้องควบคุม และชั้นใต้ดินเป็นพื้นที่จอดรถได้ 1,700 คัน

ภายนอกสถานีจะมีลานพระบรมราชานุสาวรีย์ บึงน้ำเป็นลานน้ำพุประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย

อีกหนึ่งไฮไลต์ ‘นาฬิกาประจำสถานี’ ที่ได้รับการออกแบบเป็นพิเศษ ให้บนหน้าปัดมีเลข ‘๙’ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของสถานีกลางบางซื่อ และแสดงถึงการเดินทางที่เที่ยงตรง

ส่วนพื้นที่โดยรอบสถานีอีกกว่า 1,000 ไร่ เช่น ย่าน กม.11 รฟท.เตรียมเปิดประมูลให้เอกชนลงทุนพัฒนาเชิงพาณิชย์ในรูปแบบมิกซ์ยูส เป็นศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ สร้างรายได้ และต่อยอดสถานีกลางบางซื่อให้เป็นเมืองมีชีวิตชีวา โดยมี ‘สถานีรถไฟโตเกียว’ เป็นโมเดลต้นแบบ

นับถอยหลังปิด ‘สถานีหัวลำโพง’ เนรมิต 121 ไร่ พิพิธภัณฑ์-พาณิชยกรรม
ขณะที่ สถานีรถไฟกรุงเทพ หรือ สถานีหัวลำโพง เปิดใช้งานมาอย่างยาวนาน 105 ปี นับจากวันที่ 25 มิถุนายน 2459 กำลังจะกลายเป็นตำนาน หลัง รฟท.ย้ายการเดินรถทั้งหมดไปที่สถานีกลางบางซื่อ

แต่ด้วยสถาปัตยกรรมที่สุดคลาสสิกของ ‘สถานีหัวลำโพง’ สร้างเป็นโดมสไตล์อิตาเลียนผสมกับศิลปะเรอเนซองส์ คล้ายสถานีรถไฟฟรังก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี ยังคงมีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ของการเดินทางของประเทศที่ให้อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้จุดกำเนิดของการขนส่งระบบรางต่อไปในอนาคตได้

ล่าสุด รฟท. จะปรับบทบาทสถานีหัวลำโพง จาก ‘สถานีรถไฟหลัก’ สู่การใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่น

สถานีหัวลำโพงออกแบบด้วยสไตล์อิตาเลียนผสมกับศิลปะแบบเรอเนสซองส์ และมีอายุ 105 ปี

นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วันที่ 2 สิงหาคม เปิดบริการสายสีแดงวันแรก เพื่อให้ผู้โดยสารได้ปรับพฤติกรรมการเดินทาง เริ่มปรับตารางเดินรถเข้าสถานีหัวลำโพง จำนวน 8 ขบวนของสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้ แบ่งเป็นช่วงเช้า 4 ขบวน และช่วงเย็น 4 ขบวน และปลายปีนี้จะปรับแผนการเดินรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพงเหลือ 22 ขบวนต่อวัน จากมีรถเข้าออกร่วม 200 ขบวนต่อวัน

“สถานีหัวลำโพงยังคงเปิดบริการอยู่ จะเหลือแค่รถขบวนเชิงสังคม แต่จะเริ่มเฟดดาวน์ออกไปเรื่อยๆ ยังตอบไม่ได้จะยุติเดินรถทั้งหมดปีไหน แต่จะให้เร็วที่สุด”

นิรุฒ บอกอีกว่า สำหรับสถานีหัวลำโพง มีพื้นที่ 121 ไร่ จะพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่ง รฟท.เคยศึกษาไว้ จะพัฒนาผสมผสานพื้นที่พาณิชยกรรม พื้นที่ด้านสังคมและพื้นที่ประวัติศาสตร์ จะอนุรักษ์อาคารเดิม เช่น อนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง สถานีรถไฟ ที่ทำการฝ่ายโดยสารหรือโรงแรมราชธานีเดิม ตึกบัญชาการรถไฟ ตึกพัสดุ หรือตึกแดง

‘ต้องนำผลศึกษามาพิจารณาใหม่ คงไม่อนุรักษ์เป็นพิพิธภัณฑ์อย่างเดียว ต้องพัฒนาเชิงพาณิชย์ให้มีรายได้ และเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของประเทศ’

นิรุฒ กล่าวว่า คณะกรรมการที่คมนาคมแต่งตั้งให้แนวทางการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ในด้านพัฒนาเชิงพาณิชย์ ปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ตามศักยภาพของพื้นที่ เพื่อตอบสนองกับความต้องการและการใช้งานที่แท้จริงในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต โดยยึดหลักการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวพักผ่อนในระดับเมือง สร้างพื้นที่เมืองผสานกับการสืบต่อความรู้ คุณค่าของสถานีรถไฟกรุงเทพฯ ตามแผนการพัฒนาย่านสถานี

ย้าย ‘หัวลำโพง’ ไป ‘บางซื่อ’ เปลี่ยนฮวงจุ้ยกรุงเทพมหานคร
อีกภาพสะท้อนของสถานีหัวลำโพงที่น่าสนใจ จาก ไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เคยกล่าวไว้เมื่อปี 2561

รถไฟรถจักรดีเซล ตั้งแต่ปลายปีนี้เริ่มย้ายไปอยู่ที่สถานีกลางบางซื่อ ส่วนที่สถานีหัวลำโพง จะลดเหลือ 22 ขบวนต่อวัน

“เมื่อการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อแล้วเสร็จ จะเป็นการปรับเปลี่ยนฮวงจุ้ยใหม่ของกรุงเทพฯ ในรอบ 200 ปี จากการพัฒนาทางด้านใต้ย่านเกาะรัตนโกสินทร์ บริเวณสถานีหัวลำโพง ย้ายมาอยู่ทางด้านเหนือย่านบางซื่อ ต่อไปจะเป็นศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ หรือดาวน์ทาวน์ ส่วนหัวลำโพงจะเป็นโอลด์ทาวน์”

ขณะที่ โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส มองว่า เมื่อสถานีหัวลำโพงย้ายการเดินรถออกไป ที่ดินบริเวณนี้แทนที่จะนำไปทำเป็นพิพิธภัณฑ์ ควรนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์เป็นศูนย์ธุรกิจ นำความเจริญเข้าสู่เมือง เพราะบริเวณนี้มีรถไฟฟ้าวิ่งผ่าน มีสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินและความเจริญเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“ต้องพัฒนาหัวลำโพงเป็นเมืองใหม่ เป็น city in the city เป็นศูนย์ธุรกิจในธุรกิจอีกที เพราะมีการขยายการพัฒนามาจากถนนพระราม 4 ขณะที่บางซื่อเป็นเมืองใหม่อยู่แล้ว จากการที่รถไฟพัฒนาที่ดินโดยรอบ”

เป็นภาพอนาคตของ ‘หัวลำโพง’ ในวันที่จะไม่ใช่ ‘สถานีรถไฟ’ อีกต่อไป ส่วนจะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่ยังต้องติดตาม

ประเสริฐ จารึก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image