ปัญหา ประเทศ ปัญหา การเมือง-ศก. อยู่ที่ การบริหาร

ปัญหา ประเทศ ปัญหา การเมือง-ศก. อยู่ที่ การบริหาร

ตามดวงโหราเหมือนประหนึ่งว่ารัฐบาลกำลังเผชิญหน้ากับสภาพ “พระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก”

ย้อนกลับไปถึงการจัดการปัญหา Call Out ที่กระหึ่มโลกโซเชียล

รัฐบาลออกประกาศ ฉบับที่ 29 ตามความใน มาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

หวังจะปิดช่องทางการสื่อสารทางออนไลน์ และยังตีความรวมถึงสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ด้วย

Advertisement

คำสั่งดังกล่าวปลุกให้ผู้มีอาชีพสื่อสารมวลชนต้องออกมาร้องต่อศาลแพ่ง

กระทั่งวันที่ 6 สิงหาคม ศาลแพ่งมีคำสั่ง

“ข้อกำหนด ข้อ 1.ที่ห้ามเผยแพร่ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว มิได้จำกัดเฉพาะข้อความอันเป็นเท็จดังเหตุผลและความจำเป็นตามที่ระบุไว้ในการออกข้อกำหนดดังกล่าว ย่อมเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของโจทก์ทั้ง 12 และประชาชนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติคุ้มครองไว้…

Advertisement

และ

“ข้อกำหนด ข้อ 2. ที่ให้อำนาจระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ไอพี (IP address) ที่มีการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารในอินเตอร์เน็ตที่ฝ่าฝืนข้อกำหนด ไม่ปรากฏว่ามาตรา 9 ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดให้ดำเนินการระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ต จึงเป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย…

และ

ยังมีมาตรการทางกฎหมายหลายฉบับให้สามารถดำเนินการเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายผ่านช่องทางสื่อสารต่างๆ อีกทั้งรัฐสามารถใช้สื่อวิทยุและโทรทัศน์ในกำกับเป็นเครื่องมือในการให้ความรู้เพื่อการรู้เท่าทัน สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนแก่ประชาชนได้

ศาลแพ่งจึงมีคำสั่งห้ามการบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าว

และหลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ยกเลิกประกาศฉบับที่ 29

ถือเป็นการถอยร่นในเชิงการบริหารที่เห็นได้ชัดแจ้ง

ขณะเดียวกัน ปัญหาเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ระบาดอย่างหนักในประเทศไทยก็อยู่ในเกณฑ์ “คุมไม่อยู่”

กระทรวงสาธารณสุขเคยประเมินว่าจะมีผู้ป่วยใหม่เพิ่มถึง 4 หมื่นรายต่อวัน ถ้าไม่มีมาตรการควบคุมยับยั้ง

ล่าสุด นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ จากโรงพยาบาลวิชัยยุทธ ประเมินว่า ใน 100 วันต่อไปนี้ ถือเป็น 100 วันอันตราย โดยอาจจะมีผู้ติดเชื้อในประเทศไทยประมาณ 35 ล้านคน

หรือประมาณครึ่งประเทศ

ข้อเสนอของ นพ.มนูญ คือการเร่งนำวัคซีนเข้ามาฉีดให้กับคนไทยให้เร็วที่สุด และมากที่สุด

แต่วัคซีนส่วนใหญ่ที่ไทยสั่งซื้อจะเริ่มเข้ามาในไตรมาส 4 หรือระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคมนี้เป็นต้นไป

ขณะที่แผนการป้องกันด้วยการเร่งคัดกรองผู้ติดเชื้อด้วยชุดตรวจ แอนติเจน เทสต์ คิท หรือ เอทีเค เพื่อจะได้ให้ยารักษาผู้ป่วยแต่เนิ่นๆ

หากผู้ป่วยหายเร็ว ปัญหาเตียงตึงเตียงล้นก็จะน้อย และยังลดโอกาสเชื้อลงปอดซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิต

ทั้งนี้มีกำหนดการแจกเอทีเคให้ประชาชนตรวจจำนวน 8.5 ล้านชุด ภายในสิ้นเดือนนี้

แต่ก็เกิดปัญหาอีก เมื่อเอทีเคที่องค์การเภสัชกรรมตัดสินใจเลือก กลายเป็นเอทีเคที่แพทย์ผู้ปฏิบัติงานไม่ยอมรับ เนื่องจากสหรัฐอเมริการะบุว่าเสี่ยง

ขณะที่ชุดเอทีเคที่องค์การอนามัยโลกรับรอง กลับไม่ได้รับการคัดเลือก

กลายเป็นปัญหาเรื่องคุณภาพที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม ต้องสั่งชะลอซื้อ

นอกจากนี้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นยังผูกโยงไปถึงข้อเสนอจากกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการให้รัฐบาลคุ้มครองแพทย์และเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานในช่วงโรคโควิด-19 ระบาด

แต่ในข่าวที่หลุดรั่วออกมา ความคุ้มครองดังกล่าวได้ผนวกรวมไปถึงผู้ทำหน้าที่จัดหาวัคซีน

ก่อเกิดเป็นความหวาดระแวงว่า รัฐบาลจะออกกฎหมายมาคุ้มครองตัวเอง

คุ้มครอง ศบค.

คุ้มครอง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าใหญ่ของ ศบค.

แนวความคิดที่จะคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์จึงกลายเป็นคำถามว่าทำไมต้องออกเป็นกฎหมาย ทำไมต้องออกเป็นพระราชกำหนด

ทำไมจึงรีบร้อนเร่งด่วนเช่นนั้น

ด้านการเมือง นับวันกลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มมีจำนวนคนที่มากขึ้น

ส่วนหนึ่งคือกลุ่มผู้ชุมนุมเดิมที่ออกมาเรียกร้องข้ามปี แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมและผู้สนับสนุนการชุมนุมกลุ่มใหม่

กลุ่มนี้ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์โรคระบาดและสถานการณ์เศรษฐกิจ

ทั้งกลุ่มเดิมและกลุ่มใหม่ มองเห็นร่วมกันว่า ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น คาร์ม็อบที่ชุมนุมบีบแตรไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีผู้เข้าร่วมพอประมาณ ก็ขยับขยายกลายเป็นขบวนคาร์ม็อบที่ขับเคลื่อนเนืองแน่นถนน

การชุมนุมประท้วงเริ่มปลุกติดอีกครั้ง

ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยังใช้วิธีการสลายการชุมนุม อาศัยรถฉีดน้ำ ใช้แก๊สน้ำตา และยิงกระสุนยาง

ผลที่ตามมาคือความโกรธเกลียดที่แพร่กระจายไปทั่ว

ทำให้การชุมนุมเริ่มนัดเวลาถี่ขึ้น จากสัปดาห์ละครั้ง กลายเป็นสัปดาห์ละหลายครั้ง

รูปแบบการชุมนุมเริ่มมีความรุนแรง มีการขว้างปาเจ้าหน้าที่ มีการเผารถตำรวจ เผาป้อมจราจร

ณ วันนี้เป้าหมายของกลุ่มผู้ชุมนุมคือบ้านพักนายกรัฐมนตรี

ความโกรธเกลียดพุ่งตรงไปที่ พล.อ.ประยุทธ์

จากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งปัญหาโรคระบาด ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการเมือง ทุกอย่างได้เชี่ยมโยงกับประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ

ปัญหาการบริหารจัดการ จึงเป็นรากเหง้าของปัญหาที่ต้องมีการแก้ไข

เพราะถ้าแก้ปัญหาการบริหารงานไม่ได้ ปัญหาเก่าที่เรื้อรังมานานก็จะทวีความรุนแรงขึ้น ขณะที่ปัญหาใหม่จะเพิ่มพูนไม่หยุดหย่อน

แม้รัฐบาลมีเป้าหมายอยู่จนครบวาระ และมีความตั้งใจที่จะหวนกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง

แต่ถ้าต้นตอของปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข

ยิ่งอยู่นาน ปัญหายิ่งมาก

จากปัญหาการบริหารเริ่มกลายเป็นปัญหารัฐบาล

จากปัญหารัฐบาลกลายเป็นปัญหาประชาชน

และกลายเป็นปัญหาของประเทศที่แก้ไขได้แค่ปลายเหตุเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image