โกลบอลโฟกัส : ความล้มเหลวที่ “อัฟกานิสถาน”

ภาพ รอยเตอร์

ความล้มเหลวที่ “อัฟกานิสถาน”

การรุกแบบสายฟ้าแลบโดยกองกำลังติดอาวุธของขบวนการทาลิบัน ไม่เพียงสร้างความตื่นตะลึงให้เกิดขึ้นเท่านั้น ยังสร้างความฉงนฉงายขึ้นพร้อมกันไปด้วยว่า เกิดอะไรขึ้นกับ กองทัพ กองทัพอากาศ หน่วยรบพิเศษคอมมานโด และ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่ง กองกำลังพันธมิตรนาโต นำโดยสหรัฐอเมริกา พัฒนา ฝึก และ ติดอาวุธให้
ด้วยงบประมาณที่ทุ่มเทลงไปมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ กับระยะเวลา 20 ปีนับตั้งแต่ปี 2001 เรื่อยมา ล้มเหลวโดยสิ้นเชิงเลยหรือ?
ทาลิบัน ใช้เวลา 1 สัปดาห์ ยึดเมืองเอกของจังหวัดสำคัญๆ ทางตอนเหนือของประเทศได้ถึง 10 เมือง อีก 3-4 วัดถัดมา จำนวนเมืองใหญ่ที่ตกอยู่ในการยึดครองของทาลิบันก็เพิ่มเป็น 17 เมือง รวมทั้งเมืองใหญ่อันดับ 2 และ 3 ของประเทศอย่าง กันดาฮาร์, เฮรัต และ กัซนี ซึ่งอยู่ห่างจากคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถานไปเพียง 150 กิโลเมตร
ถึงวันที่ 13 สิงหาคม ระยะประชิดของกองกำลังทาลิบันก็ประชิดเข้ามาอีก อยู่ห่างจาก กรุงคาบูล เพียง 50 กิโลเมตร เมื่อสามารถยึด ปุล-อี-อลัม เมืองเอกของจังหวัดโลการ์ ได้สำเร็จ
เป็นการรุกเร็วที่รวดเร็วเกินคาด แม้กระทั่งเมื่อเทียบกับการประเมินล่าสุดของหน่วยข่าวกรองของสหรัฐอเมริกา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ทาลิบัน อาจสามารถ “ปิดล้อม” คาบูลได้ภายใน 30 วันและอาจยึดเมืองหลวงของอัฟกานิสถานได้ภายใน 90 วัน ก็เร็วกว่าด้วยซ้ำ
ภายใต้ระดับความเร็วในการรุกคืบเช่นนี้ ภายใน 2-3 สัปดาห์ คาบูล ก็อาจตกเป็นเป้าโจมตีของทาลิบันแล้ว
ปัญหาที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ ผู้เชี่ยวชาญที่เกาะติดสถานการณ์ในอัฟกานิสถานมาตลอด เปิดเผยว่า ได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวทั้งในส่วนงานความมั่นคงในเมืองหลวง และแหล่งข่าวท้องถิ่นในระดับภูมิภาค ยืนยันตรงกันว่า ในบรรดา 10 เมืองเอกของ 10 จังหวัดแรกที่ถูกทาลิบันยึดครองได้ในเวลาเพียง 7 วันนั้น
มีอย่างน้อย 4 เมือง ที่เรียกได้ว่า ถูก “ส่งมอบ” ให้กับกองกำลังกบฏทาลิบัน โดยไม่ยอมจับอาวุธขึ้นสู้ด้วยซ้ำไป
ยิ่งถ้าคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า การปฏิบัติการรบในอัฟกานิสถานของกองทัพพันธมิตรนาโตและสหรัฐอเมริกา ยุติลงไปตั้งแต่สิ้นปี 2014 ที่ผ่านมา ส่งมอบภารกิจสู้รบทั้งมวลให้อยู่ในมือของผู้นำทางการเมืองและการทหารที่พวกเขาหนุนหลังอยู่ทั้งหมด
ผู้นำเหล่านั้น ควรมีเวลาเหลือเฟือที่จะกำหนดยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี วางกำลังพล ในอันที่จะป้องกันไม่ให้ทั้งประเทศ ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์เช่นที่เห็นกันอยู่ในเวลานี้
ทหาร ผู้นำกองทัพอัฟกันหายไปไหนกันหมด? เกิดอะไรขึ้นในอัฟกานิสถานกันแน่?

สิ่งที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน สะท้อนภาพความล้มเหลวทางการเมืองที่ส่งผลร้ายแรงต่อการต่อสู้ในสมรภูมิอย่างชัดแจ้ง ทหารอัฟกัน ไม่ได้ขาดการฝึกอบรม หรือขาดยุทโธปกรณ์ใดๆ
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนระบุตรงกันว่า ทหารอัฟกัน ที่ผ่านการฝึกจากกองกำลังพันธมิตรนาโตมานั้น เป็นนักรบที่ดีไม่น้อย หน่วยรบพิเศษของอัฟกานิสถาน ยอดเยี่ยมไม่แพ้หน่วยรบพิเศษของประเทศไหนๆ
ความล้มเหลวที่เกิดขึ้น เกิดจากรัฐบาลของ ประธานาธิบดี อัชราฟ กานี ในกรุงคาบูลมากกว่าอื่นใด องคาพยพของรัฐบาล เต็มไปด้วยผู้คนประเภท “ไม่เอาไหน” ที่ไม่เพียงขาด “ภาวะผู้นำ” เท่านั้น ยังมุ่งทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวอีกด้วย
หน่วยงานหลักอย่าง กระทรวงกลาโหม และ กระทรวงมหาดไทย คอร์รัปชันกันจนขึ้นชื่อลือชา
รูปธรรมที่สะท้อนสิ่งเหล่านี้มีให้เห็นอยู่ทั่วไป รวมทั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติของอัฟกานิสถาน ซึ่งถูกฝึกมาให้ปฏิบัติการกึ่งทหาร เพื่อทำหน้าที่รับมือกับข้าศึกในแนวรบส่วนหน้าจากทุกเมืองทั่วประเทศ
แต่คงไม่มีตำรวจที่ไหนเต็มใจปฏิบัติหน้าที่ หากไม่ได้รับเงินต่อเนื่องนานหลายๆ เดือนเหมือนกับที่ตำรวจอัฟกันเผชิญอยู่
ทหารของกองทัพในสังกัดกระทรวงกลาโหมเป็นจำนวนมากก็ประสบปัญหาอย่างเดียวกัน แม้มีความพยายามปรับระบบการจ่ายเงินเดือนเป็นระบบอิเลคทรอนิกส์ เพื่อป้องกันการมิบเม้มจากหน่วยเหนือแล้วก็ตามที
ในหลายๆ พื้นที่ ทหารและตำรวจ ไม่มีอาหาร น้ำ และกระสุนเพียงพอ เพราะเกิดการรั่วไหลตลอดเส้นทางลำเลียง อาวุธ กระสุน และยุทธภัณฑ์เป็นจำนวนมากที่หดหาย ไปโผล่อีกทีในตลาดมืด แล้วส่วนใหญ่ก็ไปลงเอยอยู่ในกำมือของกบฏทาลิบัน
การส่งกำลังทหารและตำรวจไปประจำการ ก็ไม่ได้คำนึงถึงถิ่นที่อยู่อาศัย ผลก็คือเจ้าหน้าที่เหล่านี้มักไปลงเอยในที่แปลกถิ่น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีจำนวนไม่น้อยตัดสินใจหนีทัพ เพื่อกลับมาปกป้องคุ้มครองครอบครัวและทรัพย์สินของตนเองในทันทีที่กระสากลิ่นสงคราม
อดีตเจ้าหน้าที่จาก “กองอำนวยการความมั่นคงแห่งชาติ” หน่วยข่าวกรองอัฟกันเปิดเผยว่า จำนวนทหาร ตำรวจ หนีทัพในแต่ละเดือนมีมากถึงราว 5,000 นาย ในขณะที่มีการเกณฑ์เข้ามาใหม่ในระดับเพียง 300-500 นายเท่านั้น
ไม่มีวันที่จะทำให้หน่วยทหารหรือตำรวจจะคงสภาพอยู่อย่างต่อเนื่องได้แน่นอน

ประธานาธิบดี อัชราฟ กานี ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่าไม่ใช่ “นักปกครอง” เป็นได้แค่เพียง “ผู้จัดการ” บริหารจัดการเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น บ่อยครั้งที่ กานี แสดงออกให้เห็นว่าปกครองประเทศด้วยความหวาดระแวงมากกว่าเหตุและผล
การตัดสินใจของผู้นำอัฟกันจึงยืนอยู่บนพื้นฐานของการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางให้มากที่สุด ค้ำจุนอำนาจของตัวเองให้มากที่สุด
ผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ รวมทั้งระดับรัฐมนตรีอย่าง รัฐมนตรีกลาโหมและรัฐมนตรีมหาดไทย เรื่อยไปจนถึงระดับผู้ว่าการภูมิภาคและเจ้าหน้าที่ระดับผู้บังคับบัญชาในสำนักงานตำรวจฯ ถูกปรับถูกเปลี่ยนตัวในระดับน่าตกใจ แล้วก็น้อยคนที่จะได้ดำรงตำแหน่งในพื้นที่ของตนเอง
ผลก็คือ ผู้ดำรงตำแหน่งปกครอง ไม่มีความรู้หรือมีรากฐานอยู่ในพื้นที่ที่ปกครอง ก่อให้เกิดการยักยอก คอร์รัปชัน และฟอกเงินกันครึกครื้น ส่งผลเสียต่อ ระบบการบริการประชาชน ระบบสาธารณสุข การศึกษา และความมั่นคงขึ้นมหาศาล
การแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งต่างๆ น้อยครั้งที่จะได้รับเสียงชื่นชมยินดีจากสังคมทั่วไป ตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดีกานี รั้งรออยู่จนเมื่อสถานการณ์จวนตัว ถึงได้ตัดสินใจแต่งตั้ง พลเอก ซามี ซาดัต ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการกองพลปฏิบัติการรบพิเศษของกองทัพบก เมื่อ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา
ทั้งๆ ที่ทุกฝ่ายเห็นว่าพลเอกซาดัตควรดำรงตำแหน่งนี้มานานแล้ว
การตัดสินใจทุกอย่างของ อัชราฟ กานี วนเวียนอยู่ในแวดวงของคนสนิทเพียงไม่กี่คน จนถูกขนานนามว่าเป็น “ทรี แมน รีพับลิค” ประเทศของคน 3 คนเท่านั้น คือ ตัวประธานาธิบดีกานีกับ “ฮัมดัลเลาห์ โมฮิบ” ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ และ “ฟาซาล มาห์มู้ด ฟาซลี” หัวหน้าส่วนงานบริหารประจำสำนักงานประธานาธิบดี
คนทั้ง 3 ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในต่างแดน แล้วก็เป็นเหมือนกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลส่วนใหญ่ ที่มีพาสปอร์ตของต่างประเทศ เป็นพาสปอร์ตเล่มที่ 2 พร้อมสรรพอยู่ตลอดเวลา
บางคนที่เป็น “คนวงใน” ของประธานาธิบดี ถึงกับพูดภาษาราชการของอัฟกานิสถาน 2 ภาษา คือ ดารี กับ พัชตู (ภาษาปาทาน) ไม่คล่องด้วยซ้ำไป

นักวิชาการอย่าง เอนายัต นาจาฟิซาดา ผู้ก่อตั้งสถาบันศึกษาสันติภาพและสงคราม องค์กรวิชาการในกรุงคาบูล ยืนยันว่า ไม่ใช่ว่า ทหาร-ตำรวจอัฟกัน จะไม่เป็นนักรบที่ดี หรือ ไม่มีขีดความสามารถในการสู้รบปรบมือกับทาลิบัน
หากแต่พวกเขาไม่มี “ขวัญกำลังใจที่จะต่อสู้” ต่างหาก
ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ระดับจังหวัด หรือเจ้าหน้าที่ในชนบท พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาจะไม่ต่อสู้เพื่อรัฐบาลกานี ที่ไม่เพียงไม่ชอบธรรมในการกลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้งหลังการเลือกตั้งอื้อฉาว แล้วเหมือนไม่ได้ทำอะไรให้กับประเทศเลยในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา
พวกที่ต่อสู้ บอกว่า พวกเขาทำเพื่อป้องกันครอบครัวและทรัพย์สินของตนเอง เพื่อแสวงหาอนาคตที่ดีกว่าให้กับลูกหลานของตนเอง
เพราะไม่เชื่อถือ และไม่ไว้วางใจให้ รัฐบาลประธานาธิบดี อัชราฟ กานี ทำหน้าที่นั้น!

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image