ผบช.น.ยอมรับในพื้นที่ดินแดงมีบุคคลใช้กระสุนจริงแต่ไม่ใช่ฝ่ายตำรวจ

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.)​ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. แถลงสรุปสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ทางการเมือง พล.ต.ท.ภัคพงศ์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ผู้ชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้ารวมตัวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และเคลื่อนที่ไปยังทำเนียบรัฐบาล ก่อนจะกลับมาที่สามเหลี่ยมดินแดง และมีเหตุปะทะกัน รวมทั้งป้อมจราจรได้รับความเสียหาย 4 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ สน.นางเลิ้ง สน.พหลโยธิน สน.สุทธิสาร และ สน.ห้วยขวาง ตำรวจควบคุมตัวผู้ต้องหาได้ 13 คน เป็นเยาวชน 5 คน

พล.ต.ท.ภัคพงศ์กล่าวอีกว่า ในส่วนของเหตุความวุ่นวายที่เกิดขึ้น ส่วนกรณีมีภาพเป็นชายยืนอยู่บน สน.ดินแดง และใช้ปืนยิงควบคุมสถานการณ์ ยืนยันว่าเป็นตำรวจจริงแต่เป็นการใช้กระสุนยางยิงข่มขู่เพื่อป้องกันสถานที่ราชการ ไม่มีการใช้กระสุนจริง โดยจะมีการตรวจสอบกล้องวงจรปิดบริเวณสถานีตำรวจอีกครั้ง เบื้องต้นพบว่ากล้องบางตัว สามารถจับภาพทิศทางการเคลื่อนที่ของผู้บาดเจ็บได้อย่างชัดเจน กล้องบางตัวถูกผู้ชุมนุมนำวัสดุมาปิดกั้น และช่วงบ่าย ตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานจะลงพื้นที่เข้าไปจำลองเหตุการณ์ และตรวจวิถีกระสุนในระหว่างเกิดเหตุ ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่ากระสุนที่ผู้บาดเจ็บถูกยิงมาจากทิศทางใด แต่ยอมรับว่าในพื้นที่มีการใช้กระสุนจริง แต่ไม่ทราบว่าเป็นใคร แต่ไม่ใช่ของตำรวจ

ผบช.น.กล่าวว่า สำหรับยุทธวิธีการควบคุมฝูงชนนั้นเป็นการปฏิบัติตามแผน และเครื่องมือที่ได้รับการอนุมัติจากมติคณะรัฐมนตรีแล้วเป็นอาวุธที่ไม่สามารถทำให้อันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ผู้ชุมนุมมีอาวุธที่สร้างอันตรายกับตำรวจ และตำรวจจะเริ่มตอบโต้เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ความรุนแรง มีการเผาทำลายสถานที่ราชการ และจะปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์

พล.ต.ท.ภัคพงศ์กล่าวด้วยว่า มีประเด็นพิจารณา 3 ประเด็น 1.ทาง บช.น.ขอยืนยันว่า ตำรวจที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่เรื่องการควบคุมฝูงชน ใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ควบคุมฝูงชนได้รับการอนุญาตให้ใช้ตามมติ ครม. ยืนยันว่าไม่มีการใช้อาวุธปืนจริง 2.จากการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน และสอบปากคำบุคคลที่อยู่ในที่เกิดเหตุ พบว่าผู้บาดเจ็บคนหนึ่งวิ่งมาจากโรงแรมปริ้นซ์ตันมาล้มลงบริเวณโรงบำบัดน้ำเสีย อีกรายอยู่บริเวณโรงบำบัดน้ำเสียไกลจาก สน.ดินแดง พอสมควร รวมทั้งมีข้อจำกัดในการมอง ทัศนวิสัย และสิ่งบดบัง 3.บริเวณที่เกิดเหตุมีผู้ชุมนุมและมีประชาชนอาศัยอยู่จำนวนมาก จึงอยากขอความร่วมมือ ถ้ามีบุคคลใครก็ตามที่รู้เห็นเหตุการณ์ หรือสามารถบันทึกเหตุการณ์ได้ ขอให้นำมามอบให้ทางพนักงานสอบสวน ด้านคดีมอบหมายให้ พล.ต.ต.สุคุณ พรหมายน รอง ผบช.น.เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนดำเนินการเรื่องนี้

Advertisement

พล.ต.ท.ภัคพงศ์กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีการแชร์ข้อมูลที่บอกว่าผู้ชุมนุมถูกกระป๋องแก๊สน้ำตาเข้าที่ใบหน้าจนทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำหนังสือขอให้โรงพยาบาลเปิดเผยรายละเอียดการรักษา และบาดแผลว่าเกิดจากอะไร โดยทาง ผบช.น.นำกระป๋องแก๊สน้ำตามาแสดงต่อสื่อมวลชนว่าส่วนที่เป็นโลหะเป็นปลอกกระสุน หลังยิงไปแล้วจะค้างอยู่ในลำกล้อง ส่วนที่ยิงออกไปคือวัสดุคล้ายยางทรงกระบอกที่ภายในบรรจุแก๊สน้ำตา เมื่อกระทบกับร่างกายจะไม่เกิดอันตราย และหากพบว่าผู้ใดมีการแชร์ข้อมูลที่ผิดก็จะดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ด้าน พล.ต.ต.ปิยะกล่าวว่า สำหรับการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมในช่วงระหว่างเดือน ก.ค.ถึงปัจจุบัน มีแล้ว 40 คดี ผู้ต้องหาเข้าข่ายความผิด 309 คน จับแล้ว 152 คน และกำลังสอบสวนผู้ที่กระทำความผิดเพิ่มเติม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image