
ที่มา | หน้าประชาชื่น, มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม 2564, หน้า 13. |
---|---|
ผู้เขียน | พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร |
วันต่อวัน นาทีต่อนาที
ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พุ่งสูงไม่หยุดหย่อน
จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น ‘นิวไฮ’ ให้บันทึกสถิติที่น่าเศร้า
ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ล้ำสมัยก็พยายามคิดค้นยุทธวิธีใหม่ๆ ในสงครามที่มนุษยชาติร่วมกันสู้
วัคซีนหลากหลาย กระทั่งสมุนไพรไทยๆ ถูกนำมาพัฒนา เกิดความรู้ใหม่อย่างไม่เคยมีมาก่อน
ทุกเหตุการณ์ ทุกรายละเอียด ทุกวาทะ ทุกบรรยากาศ ทุกความเคลื่อนไหว ทุกเสียงร่ำไห้ ทุกรอยยิ้มแห่งน้ำใจและความช่วยเหลือในช่วงเวลาแห่งความท้าทาย
ทั้งหมดนี้ ถูกบันทึกไว้โดย ‘ศูนย์ข้อมูลมติชน’ หน่วยงานในเครือมติชนซึ่งจัดเก็บข่าวสารอย่างเป็นหมวดหมู่ตั้งแต่ พ.ศ.2521 ปีเดียวกับที่หนังสือพิมพ์มติชนออกวางจำหน่ายฉบับแรก จวบจนวันนี้
ครอบคลุมทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โรคระบาดแห่งศตวรรษ ทั้งด้านการแพทย์ สาธารณสุข การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ต่างประเทศ กระทั่งประเด็นทางประวัติศาสตร์ ผ่านตัวอักษรที่ร้อยเรียงในข่าวประจำวัน รวมถึงบทความในสื่อสิ่งพิมพ์ในเครือ ‘มติชน’ อันได้แก่ หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน, มติชนสุดสัปดาห์, ข่าวสด, ประชาชาติธุรกิจ, เส้นทางเศรษฐี เทคโนโลยีชาวบ้าน รวมถึง นิตยสารศิลปวัฒนธรรม และ หนังสือเล่ม ของ สำนักพิมพ์มติชน
จัดเก็บและรวบรวมโดยทีมบรรณารักษ์ผู้มีประสบการณ์ยาวนานนับสิบปี พร้อมให้บริการประชาชนทั่วไป นิสิตนักศึกษา นักค้นคว้า รวมถึงหน่วยงานต่างๆ อย่างครบถ้วน
ฐานข้อมูล ‘โควิด’ รอบด้าน ครบมิติ ไม่พลาดวินาทีสำคัญ
นับแต่ประเทศไทยพบผู้ป่วยรายแรก เป็นหญิงชาวจีน มาจากเมือง ‘อู่ฮั่น’ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563
31 มกราคม ปีเดียวกัน พบรายแรกติดเชื้อ ‘โควิด’ ในไทย
ในไทย ตั้งแต่ยังเรียก ‘โคโรนา’ สายพันธุ์ใหม่
1 มีนาคม คนไทยเสียชีวิตรายแรก
เป็นชายไทย อายุ 35 ปี ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ต่อมามีการติดเชื้อโควิดร่วมด้วย
กระทั่งเกิดการระบาดระลอกแล้วระลอกเล่า ล่วงเข้าถึงพุทธศักราช 2564 ที่ปัจจุบัน ตัวเลข 2 หมื่น คือยอดผู้ติดเชื้อรายวัน
ศูนย์ข้อมูลมติชนบันทึกทุกเรื่องราวอย่างไม่มีตกหล่นตั้งแต่วันแรก จนถึงวันนี้ และวันต่อๆ ไป


อพิสิทธ์ ธีระจารุวรรณ รองผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลมติชน เปิดเผยว่า ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 กำลังแพร่ระบาดไปทุกหย่อมหญ้า มีข่าวสารมากมายที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ซึ่งทางศูนย์ข้อมูลมติชน มีบริการกฤตภาคข่าว หรือ ‘คลิปปิ้ง’ (News Clipping) ในหมวดต่างๆ และแน่นอนว่า หมวดข่าวโควิด-19 ได้ถูกรวบรวมไว้อย่างครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ความรู้ สถานการณ์ของการระบาด วัคซีน และ Antigen test Kit รวมถึงมาตรการการเยียวยาต่างๆ เป็นต้น โดยบุคคลภายนอก สถาบันการศึกษาทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศสามารถเข้ามาสืบค้นข่าวได้
“ศูนย์ข้อมูลมติชน คือทรัพย์สินทางปัญญาความรู้ข่าวสารของเครือมติชนที่สามารถนำข้อมูลไปใช้เป็นฐานคิด ประกอบการศึกษาวิเคราะห์พิจารณาประกอบการตัดสินใจและการคาดการณ์ในการดำเนินงานต่างๆ ในอนาคต อีกทั้งเรื่องวันนี้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา ประวัติศาสตร์ ในวันพรุ่งนี้ ซึ่งเรามีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โควิดครอบคลุมทุกด้านจากข่าวสารในเครือมติชน” อพิสิทธ์กล่าว
ด้วยตรา ‘มติชน’ สื่อหลักที่ตั้งมั่น เคียงข้างสังคมไทยมานานกว่า 4 ทศวรรษ แน่นอนว่า นอกเหนือจากข่าวสารที่อัดแน่นด้วยเนื้อหาสาระ ยังมี ‘บทวิเคราะห์’ และ ‘บทความพิเศษ’ จากนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ท่ามกลางสถานการณ์โควิด นับเป็นจุดแข็งที่ยืนหนึ่ง ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีภาพถ่ายโดยช่างภาพข่าวมืออาชีพในเครือ ที่กดชัตเตอร์บันทึกวินาทีสำคัญกลางโรคระบาดแห่งศตวรรษ ทั้งบรรยากาศ ความเป็นไปในสังคม อีกทั้งเหตุการณ์ที่ไม่อาจถูกลบลืม
“เรามีทั้งรายงานข่าว บทวิเคราะห์ และบทความพิเศษจากนักวิชาการที่เชี่ยวชาญทางด้านสายนั้นๆ ที่ศูนย์ข้อมูลมติชนได้รวบรวมเอาไว้ รวมทั้งภาพถ่ายเหตุการณ์สำคัญ ภาพถ่ายบุคคล ที่มีจำนวนมาก เพียงแค่สมัครสมาชิกรับ clipping หรือสมัครสมาชิก e-library คุณจะได้รับ clipping ข่าวสารจากศูนย์ข้อมูลมติชน รวมถึงข้อมูลข่าวสารโควิด-19 ที่จะช่วยให้ได้รับฐานข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อไว้ประกอบการตัดสินใจและการคาดการณ์ต่างๆ ในการดำเนินงานในหน่วยงานของท่าน” รอง ผอ.ศูนย์ข้อมูลมติชนเผย
กักตัว ลดสัมผัส ‘รักษาระยะอ่าน’ ผ่านอีบุ๊ก-หนังสือเสียง
ไม่เพียงฐานข้อมูลหนักแน่นที่พร้อมให้บริการเท่านั้น ในสถานการณ์เช่นนี้ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) มองถึงความสำคัญของการให้กำลังใจผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส ‘โควิด-19’ ซึ่งจำเป็นต้องกักตัวอยู่ในโรงพยาบาลสนามและ Hospitel ทั่วประเทศเป็นระยะเวลาหลายวัน จึงจัดโครงการ “Touchless : Read More-รักษาระยะ อ่ า น” โดยมอบ E-Book และหนังสือเสียง (Audio book) ให้ผู้กักตัวอ่านฟรี 100 เล่ม ตลอดระยะเวลากักตัว 14 วัน

“ยิ่งเกิดวิกฤตแบบนี้ ยิ่งเป็นช่วงที่เราต้องมีสติสมาธิให้ดีที่สุด เพื่อฝ่าฟันกับปัญหาต่างๆ เข้ามา ดังนั้น หนึ่งในสิ่งที่จะช่วยได้ก็คือ การสร้างภูมิปัญญาไปพร้อมกับการเสริมภูมิคุ้มกันทางร่างกาย ซึ่งจะว่าไปแล้ว นี่เป็นสิ่งที่เครือมติชนทำกันมาเป็นปกติ นั่นคือการให้ข่าวสารพร้อมข้อมูลความรู้อย่างมีคุณภาพแก่สังคมไทย เพื่อคุณภาพของประเทศ ผ่านสาระความรู้จากหนังสือต่างๆ ของสำนักพิมพ์มติชน
“โครงการนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก บริษัท อุ๊คบี จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำด้านการอ่านออนไลน์ในรูปแบบ E-book และ Audio Book ของประเทศไทยโดยมีศูนย์ข้อมูลมติชนเป็นผู้ดำเนินงานร่วมกับสำนักพิมพ์มติชนซึ่งเป็นสำนักพิมพ์คุณภาพที่ครองใจนักอ่านทั่วประเทศมาเป็นผู้คัดสรรหนังสือดีหลากหลายรสชาติเข้าร่วมโครงการ” อพิสิทธิ์เล่า

หลังจบลงอย่างงดงามเมื่อ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางการตอบรับเป็นอย่างดี ยังมีผลสะท้อนในการกระตุ้นให้สังคมเห็นความสำคัญของการลดการสัมผัสหรือ Touchless society ที่จะกลายเป็นความปกติใหม่ หรือนิวนอร์มอล ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายผ่านโทรศัพท์มือถือรวมถึงการซื้อหาและอ่านหนังสือเล่มผ่านช่องทางออนไลน์ โดยไม่ต้องไปร้านหนังสือ การโหลด E-Book และ Audio Book เก็บไว้อ่านได้ทุกที่ ทุกเวลาผ่านสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และไอแพด
นอกจากนี้ ระหว่างมหกรรมสุขภาพซึ่งเครือมติชนจัดขึ้นเป็นประจำอย่าง ‘Healthcare’ ในปีนี้ ระหว่าง 18-22 สิงหาคม ก็มีการแจกอีบุ๊ก 2 เล่มสำคัญให้อ่านฟรีในเนื้อหาที่เข้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้แก่ ‘Covid-19 โรคระบาดแห่งศตวรรษ’ โดย ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ และ ‘จากปีศาจ สู่เชื้อโรค ประวัติศาสตร์การแพทย์ กับโรคระบาดในสังคมไทย’ โดย ชาติชาย มุกสง
นับเป็นโครงการที่ไม่เพียงสอดคล้องกับสถานการณ์ในวันนี้ หากแต่ยังมองไกลถึงนิวนอร์มอลในวันพรุ่งนี้ ตราบใดที่ไวรัสร้ายยังคงล่องลอยในอากาศ
ยูทูบ-เพจ-ไอจี เข้มข้น ร่วมสมัย เข้าใจง่าย อีกช่องทางสื่อสารของ MiC

นอกเหนือจากคลิปปิ้งข่าวในฐานข้อมูลที่แน่นเอี้ยด และกิจกรรมดีๆ ที่พร้อมจัดเต็มให้เหล่านักอ่าน ศูนย์ข้อมูลมติชน ยังมีช่องทางสื่อสารผ่านอินสตาแกรมและเฟซบุ๊กแฟนเพจ Matichon Information Center หรือ MiC จากจุดเริ่มต้นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ปัจจุบันมีผู้ติดตามนับหมื่นแอ๊กเคาต์ เผยแพร่หลากหลายเรื่องราวน่าสนใจ อีกทั้งนำเหตุการณ์สำคัญในวันนั้นๆ โดยคัดสรรจากบันทึกของศูนย์ข้อมูลมติชน มานำเสนออย่างเข้าใจง่าย หยิบประวัติศาสตร์ร่วมสมัยมาปัดฝุ่นให้ย้อนรำลึก ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และอีกมากมาย ในธีม ‘On This Day’

ไหนจะภาพถ่ายที่บรรจุข้อมูลไว้มากมายเฉกเช่นคำกล่าวที่ว่า 1 ภาพแทนถ้อยคำนับล้าน #รูปเดียวอยู่ คือแฮชแท็กจากเซ็กชั่น In one picture ที่แฟนเพจและไอจี MiC นำภาพเหตุการณ์ที่ต้องจดจำมานำเสนอ โดยมีที่ปรึกษาอย่าง จักรพันธุ์ ขวัญมงคล อดีตบรรณาธิการนิตยสารวัยรุ่นชื่อดัง เจ้าของผลงานหนังสือหลายต่อหลายเล่มที่มาช่วยย่อยข้อมูล ตกแต่งจาน ให้มีสีสันชวนรับประทานเป็นอาหารสมองรสเลิศ ขณะเดียวกัน ก็ต้องคงไว้ซึ่งความหนักแน่นในสาระให้สมเป็นศูนย์ข้อมูลจาก ‘สื่อหลัก’ แถวหน้าของประเทศ
อพิสิทธิ์ ย้ำว่า นับจากนี้ไป ไอจีและเฟซบุ๊กศูนย์ข้อมูลมติชนจะยิ่งมุ่งเน้นเนื้อหาให้มีความเข้มข้นขึ้นกว่าเดิม เพื่อสะท้อนเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้ง แบบรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือนบนความเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับความเป็นไปในสังคม ดังจะเห็นได้ว่ามีการเผยแพร่ภาพ ‘หน้า 1’ ของหนังสือพิมพ์ในเครือ ไม่ว่าจะเป็นมติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ ‘หน้าปก’ ของนิตยสาร อย่างมติชนสุดสัปดาห์ ศิลปวัฒนธรรม และอีกหลายเล่มในเครือ
นอกจากนี้ ยังมีช่อง ‘ยูทูบ’ ซึ่งกำลังเดินหน้าด้วยการเบิกโรงผ่านคลิปวิดีโอ ‘What Happenned in this week? สัปดาห์นี้-หลายปีก่อน’ ต่อเนื่องมาแล้วถึง 15 EP. ย้อนเหตุการณ์สำคัญจากคลิปปิ้งข่าวของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับในเครือมติชน เปิดบันทึกสังคมเศรษฐกิจการเมืองไทยเมื่อวานนี้ที่ส่งผลถึงปัจจุบันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
นับเป็นอีกก้าวของศูนย์ข้อมูลมติชนที่ไม่ใช่เพียงเก็บข้อมูลเป็นบันทึกประจำวัน หากแต่ก้าวไปข้างหน้าพร้อมสังคมไทยในทุกมติ ทุกช่วงเวลา ไม่ว่าดี-ร้าย บนไทม์ไลน์สถานการณ์ร่วมสมัยที่จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ให้ร่วมเรียนรู้ในวันพรุ่งนี้
44 ปี MiC จาก ‘ห้องสมุด’ นักข่าว
สู่ ‘ศูนย์ข้อมูล’ ประชาชน

ศูนย์ข้อมูลมติชน (Matichon Information Center) หรือ MiC ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2521 ปีเดียวกับที่หนังสือพิมพ์มติชนออกวางจำหน่ายฉบับแรก เมื่อวันที่ 9 มกราคม เดิมเรียก ‘ห้องสมุดมติชน’ จัดเก็บหนังสือพิมพ์ทุกฉบับที่ตีพิมพ์ยุคนั้นไว้ให้นักข่าวใช้อ้างอิงในการทำงานในยุคที่ยังไม่มีอินเตอร์เน็ตให้ค้นคว้าง่ายดายด้วยปลายนิ้ว โดยมีการจัดระบบแฟ้มข่าวโดยรวบรวมทั้งข้อมูลและ ‘ภาพข่าว’ จากโต๊ะข่าวต่างๆ มาบรรจุแฟ้มให้เป็นหมวดหมู่ นอกจากนี้ ยังมีหนังสือสำหรับกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ใช้ในการค้นคว้า โดยในช่วงเวลานั้น ยังให้บริการเพียงบุคลากรภายใน
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นใน พ.ศ.2535 ห้องสมุดมติชน พัฒนาขึ้นเป็น ‘ศูนย์ข้อมูลมติชน’ เริ่มเปิดให้บริการแก่บุคคลภายนอก กระทั่งมีระบบ ‘ดิจิทัล’ เข้ามา นักวิชาการ ผู้ค้นคว้าทั่วไป จนถึงสถาบันการศึกษาทั้งภายในประเทศและระดับนานาชาติสามารถสืบค้นข่าวตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน ผ่านห้องสมุดข่าว Matichon E-Library โดยมีค่าใช้จ่ายในการสมัครสมาชิกเป็นรายปี
ส่วนข่าวสารและภาพถ่ายตั้งแต่ปี 2521-2540 ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากกระดาษสู่ดิจิทัล มีบริการให้ค้นเป็นแฟ้มข่าว
ข้อมูลครอบคลุมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น การเมือง เศรษฐกิจ ข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับหน่วยราชการ-รัฐวิสาหกิจ กีฬา ต่างประเทศ อุตสาหกรรม การก่อสร้างและพัฒนาที่ดิน คมนาคม การสื่อสารโทรคมนาคม เกษตรกรรม ทรัพยากรเหมืองแร่พลังงาน บันเทิง วิทยาศาสตร์ การแพทย์ กีฬาและประวัติศาสตร์ เป็นต้น
รวมถึงชุดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีบรรณารักษ์ชำนาญการ และนักสารสนเทศร่วมกันจัดเก็บอย่างครบถ้วน
ปัจจุบัน ชวกิจ หันประดิษฐ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลมติชน โดยมี อพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ อดีตผู้จัดการสำนักพิมพ์มติชน นั่งเก้าอี้รองผู้อำนวยการคนล่าสุด เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
“ผมใช้วิธีคิดจากการทำหนังสือมาใช้ในการทำงานที่ศูนย์ข้อมูลมติชนนั่นคือ ข้อมูลต้องถูกต้องที่สุด หรือผิดพลาดให้น้อยที่สุด และใช้ศักยภาพที่ตัวเองถนัดที่สุดมาช่วยพัฒนาศูนย์ข้อมูลมติชนก่อนคือการพัฒนาทีมทำคอนเทนต์ส่งเสริมการขายอีบุ๊กจากสำนักพิมพ์มติชน รวมถึง E-Magazine ศิลปวัฒนธรรม และมติชนสุดสัปดาห์” รอง ผอ.ศูนย์ข้อมูลกล่าว
สนใจข่าวสารจากศูนย์ข้อมูลมติชน ติดตามได้ที่
Facebook : Matichon Information Center
Instagram : inonepicture.mic
Website : www.matichonelibrary.com
Youtube : Matichon Information Center
สอบถามเพิ่มเติม โทร 0-2580-0021 ต่อ 1110