สธ.เผยภาพรวมวัคซีนโควิด รับแอสตร้าฯ เข็มแรกแซงซิโนแวค ชี้สูงวัยติดเชื้อตาย 63.8% ไม่ได้ฉีด

สธ.เผยภาพรวมวัคซีนโควิด รับแอสตร้าฯ เข็มแรกแซงซิโนแวค ชี้สูงวัยติดเชื้อตาย 63.8% ไม่ได้ฉีด

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงอัพเดตสถานการณ์การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และประสิทธิภาพการฉีดวัคซีนแต่ละชนิดของประเทศไทย ว่า เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม เป็นอีกวันที่มีการฉีดวัคซีนสูงถึง 651,606 โดส โดยเป็นการฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 442,435 โดส เท่ากับว่ามีประชาชนหน้าใหม่ได้รับวัคซีนกว่า 4 แสนคน และเข็มที่ 2 อีก 201,318 โดส การฉีดบูสเตอร์ โดส 7,800 กว่าคน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวัคซีนไฟเซอร์ และมีบางส่วนเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ดังนั้น การบริการวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 จนถึงปัจจุบัน ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว 25,818,666 โดส แบ่งเป็น ซิโนแวค 12 ล้านโดส แอสตร้าฯ 10 ล้านโดส ซิโนฟาร์ม 2.3 ล้านโดส และไฟเซอร์ 4.8 แสนโดส ในจำนวนการฉีดวัคซีนโควิด-19 แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 19.5 ล้านโดส ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นแอสตร้าฯ มากที่สุดถึง 9.1 ล้านโดส เข็มที่ 2 ฉีดแล้ว 5.7 ล้านโดส เป็นซิโนแวคมากที่สุดประมาณ 3.4 ล้านโดส เนื่องจากระยะห่างระหว่างเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 สั้นกว่าแอสตร้าฯ ซึ่งมีการฉีดแอสตร้าฯ เป็นเข็มที่ 2 ประมาณ 1.5 ล้านโดส ส่วนเข็มที่ 3 มีการฉีดแอสตร้าฯ 2 แสนโดส และไฟเซอร์ 3.2 แสนโดส

“จะเห็นได้ว่า ร้อยละ 27.2 ของประชากรไทยได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม และมีอีกร้อยละ 8 ได้วัคซีนครบ 2 เข็ม ซึ่งการให้บริการวัคซีนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ฉีดไป 4 ล้านโดส เดือนมิถุนายน ฉีดไป 6 ล้านโดส เดือนกรกฎาคม ฉีด 8 ล้านโดส และเดือนสิงหาคม ฉีดไป 7.8 ล้านโดส” นพ.โสภณ กล่าว

ADVERTISMENT

นพ.โสภณ กล่าวว่า กลุ่มที่ต้องได้รับวัคซีนก่อน คือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ได้รับวัคซีนมากกว่าร้อยละ 50 ขณะที่ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ครอบคลุม ร้อยละ 34.6 และ ร้อยละ 37.8 ตามลำดับ ขณะที่หญิงตั้งครรภ์ ฉีดเข็มแรกไป ร้อยละ 3.9 ซึ่ง 3 กลุ่มนี้ต้องได้รับวัคซีนก่อน จะช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิจจากโควิด-19 ได้ ส่วนชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทยได้รับวัคซีนไปแล้ว 356,337 คน ซึ่งเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ประมาณ 27,028 คน โดยเมียนมามากที่สุด รองลงมา คือ จีน กัมพูชา ลาว ญี่ปุ่น อินเดีย ฟิลิปปินส์ ฯลฯ ซึ่งในจำนวนนี้มี 107,106 คน ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม

“สำหรับความเสี่ยงในการเสียชีวิต หากพิจารณาจากตัวเลขวันนี้ (20 สิงหาคม 2564) จำนวน 240 คน ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร และเป็นชายมากกว่าหญิงเล็กน้อย ซึ่งมีทั้งไทย เมียนมา และจีน จึงเป็นเหตุผลต้องฉีดในกลุ่มเสี่ยงไม่ว่าสัญชาติใด ขณะเดียวกัน ยังพบว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 60 ปี และมีโรคเรื้อรังรวมมากถึงร้อยละ 87 ขณะเดียวกัน วันนี้มีรายงานเด็กเสียชีวิต 2 ราย อย่างไรก็ตาม ในเรื่องปัจจัยเสี่ยง ยังมีโรคเบาหวาน โรคไต ภาวะอ้วน ปัจจัยเสี่ยงยังเป็นการติดเชื้อจากคนรู้จัก วันนี้ไม่พบว่ามีการเสียชีวิตที่บ้าน” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

ADVERTISMENT

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า จากข้อมูลผู้เสียชีวิต และประวัติได้รับวัคซีนแยกตามกลุ่มอายุระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม- วันที่ 19 สิงหาคม 2564 จะเห็นว่า อายุมากยิ่งเสี่ยงเสียชีวิตมาก โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือฉีดวัคซีนไม่ครบ ถือว่าภูมิคุ้มกันยังไม่ดีพอ โดยในกลุ่มฉีดวัคซีน 1 เข็ม (แอสตร้าฯ) แบ่งเป็น กลุ่มฉีด 1 เข็ม ก่อนวันเริ่มป่วยมากกว่า 2 สัปดาห์มี 316 รายคิดเป็นร้อยละ 7 และฉีด 1 เข็มก่อนวันเริ่มป่วยมากกว่า 4 สัปดาห์ 118 ราย หรือร้อยละ 2.6 ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนมีจำนวน 2,969 ราย คิดเป็น ร้อยละ 63.8 ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม มี 26 ราย คิดเป็น ร้อยละ 0.6 ซึ่งกรณีนี้น้อยมาก ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวเดิม หรือผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวร่วมด้วย นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่ไม่มีข้อมูลได้รับวัคซีนใน “หมอพร้อม” หรือข้อมูลไม่ตรงกัน 874 ราย คิดเป็น ร้อยละ 19.2

อย่างไรก็ตาม รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หากจะช่วยให้ตัวเลขเสียชีวิลดลง ต้องขยายการดำเนินการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น ซึ่งข้อมูลการครอบคลุมการได้รับวัคซีนโควิด-19 ในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป (วันที่ 28 กุมภาพันธ์-วันที่ 19 สิงหาคม 2564) พบว่า กรุงเทพฯ มีการฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุมากที่สุด โดยในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด พบว่า กรุงเทพฯ ฉีดเข็มแรกในผู้สูงอายุแล้ว ร้อยละ 94.3 จ.ปทุมธานี ฉีดแล้ว ร้อยละ 62.7 จ.สมุทรสาคร ฉีดเข็มแรกครอบคลุมแล้ว ร้อยละ 55.5 จ.ฉะเชิงเทรา ร้อยละ 51.3 จ.สมุทรปราการ ฉีด ร้อยละ 53.2 นอกนั้นฉีดแล้วประมาณ ร้อยละ 30-40

“สธ.ตั้งเป้าหมายว่า หากจะให้ผู้สูงอายุได้รับวัคซีนร้อยละ 70 ภายในช่วงเวลาที่เหลือในเดือนนี้ ก็ต้องเร่งฉีด ยกตัวอย่าง ตั้งเป้าให้ผู้สูงอายุ จ.นนทบุรี อีกประมาณ 6.8 หมื่นคน ได้รับวัคซีน หรือ จ.พระนครศรีอยุธยา กว่า 5 หมื่นคน ได้รับวัคซีน ก็จะทำให้ผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนสะสมถึงร้อยละ 70 ในเดือนสิงหาคมนี้ ตัวเลขทั้งหมดหากรวม 13 จังหวัด จะใช้วัคซีนอีกประมาณ 4.2 แสนกว่าโดส ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ ดังนั้น ขอให้พี่น้องประชาชนพาผู้สูงอายุไปฉีดวัคซีนภายใน 10 วันที่เหลือในเดือนนี้ ก็จะเห็นผู้สูงอายุส่วนใหญ่ใน 13 จังหวัด มีภูมิคุ้มกันต่อโควิด-19 ขณะที่จังหวัดอื่นๆ ต้องฉีดให้ได้มากที่สุดอย่างน้อยร้อยละ 70 ในเดือนหน้า” นพ.โสภณ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image