สธ.มั่นใจฉีด ‘ซิโนแวค-แอสตร้าฯ’ ป้องกันป่วยหนัก-เสียชีวิต-สู้เดลต้าได้

สธ.มั่นใจฉีด ‘ซิโนแวค-แอสตร้าฯ’ ป้องกันป่วยหนัก-เสียชีวิต-สู้เดลต้าได้

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 21 สิงหาคม 2564 กระทรวงสาธารณสุขแถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และการติดตามการฉีดวัคซีน

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ภาพรวมการติดเชื้อโควิด-19 ระดับโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ประเทศทั่วโลกประสบปัญหาเดียวกันคือมีโรคระบาดของเชื้อกลายพันธุ์สายเดลต้า เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่จะเป็นเชื้อสายพันธุ์เดลต้า

  • ทั่วโลกเสียชีวิตมีแนวโน้มคงที่ แม้ป่วยเพิ่ม

“มีข้อสังเกตว่าการเสียชีวิตมีแนวโน้มค่อนข้างคงที่ แม้ว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม แต่จำนวนการเสียชีวิตยังเพิ่มเล็กน้อย แตกต่างจากในอดีตที่จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นเร็ว เช่นช่วงต้นปีมีการระบาดในรอบที่แล้ว”

ADVERTISMENT

เมื่อดูรายละเอียดแต่ละประเทศ จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในรอบ 24 ชั่วโมง ประมาณ 6.5 แสนราย ติดเชื้อมากสุดเป็นอเมริกาแม้จะมีการฉีดวัคซีนจำนวนมากแต่ยังติดเชื้อได้ มีเสียชีวิต 1,022 ราย ประเทศอื่นๆ ที่มีติดเชื้อใหม่เกิน 20,000 ราย มีอินเดีย บราซิล รัสเซีย ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ซึ่งประเทศเหล่านี้มีการฉีดวัคซีนในเปอร์เซ็นต์ที่สูง ข้อดีคือจำนวนผู้เสียชีวิตจะไม่มากนัก เช่น อังกฤษฉีดมากกว่า 70% แล้วยังมีผู้เสียชีวิต 110 ราย ฝรั่งเศสเสียชีวิต 83 ราย ถือว่ามีผลในการป้องกันเสียชีวิตได้

ADVERTISMENT
  • ดับสุง 261 ราย เป็นยอดตกค้างในรอบสัปดาห์

สำหรับประเทศไทยมีผู้ป่วยรายใหม่ 20,581 ราย เสียชีวิต 261 ราย ส่วนหนึ่งเป็นผู้เสียชีวิตที่เพิ่งเกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา และจากที่ยังตกค้างอยู่มารวมด้วย

ทั้งนี้ สถานการณ์ในประเทศ จะเห็นได้ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อ 20,322 ราย มีแนวโน้มว่าจะไม่พุ่งทะยานต่อ ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นถึงการติดเชื้อในส่วนกรุงเทพฯและปริมณฑล 8,540 ราย คิดเป็น 42% ที่เหลือเป็น 71 จังหวัด 11,782 ราย คิดเป็น 58% จะเห็นว่าแนวโน้มค่อนข้างคงที่แบบนี้มาหลายวันแล้ว

“รายละเอียดผู้ติดเชื้อใหม่วันนี้ ที่น่าสนใจคือชายแดนใต้มีติดเชื้อ 927 ราย เรือนจำ 235 ราย เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งยังควบคุมได้ดี ไม่มีการระบาดออกมานอกเรือนจำ ส่วนกรุงเทพฯและปริมณฑล มีเสียชีวิต 141 ราย ทั้งนี้ เมื่อดูรายจังหวัดที่ติดเชื้อสูงสุดยังคงเป็นกรุงเทพฯ 4,342 ราย รองลงมาสมุทรปราการ 1,584 ราย สมุทรสาคร 1,449 ราย ชลบุรี 1,235 ราย ที่เหลือเป็นจังหวัดติดเชื้อไม่ถึง 1,000 ราย”

ส่วนข้อมูลเฝ้าระวังโดยการตรวจด้วย Antigen Test Kit (ATK) ผลเป็นบวกทั่วประเทศเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม อยู่ที่ 7,094 ราย

  • เผยกทม.ตายน้อยลงเหลือ 1 ใน 3

สำหรับยอดเสียชีวิตวันนี้ 261 ราย เป็นชาย 139 ราย หญิง 122 ราย คนไทย 250 ราย เมียนมา 6 ราย กัมพูชา 2 ราย ลาว จีน เบลเยียมอย่างละ 1 ราย ดูจากอายุ 2 ใน 3 เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 175 ราย โรคเรื้อรัง 55 ราย รวม 2 กลุ่มนี้คิดเป็น 87% อีก 12% ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง หรือ 30 ราย หญิงตั้งครรภ์ 1 ราย ผู้ช่วยเหลือ 1 ราย

ปัจจัยเสี่ยงมีโรคความดันโลหิตสูง 118 ราย เบาหวาน 101 ราย ไขมันในเลือด 69 ราย ภาวะอ้วน 11 ราย โรคไตเรื้อรัง 46 ราย ติดเตียง 4 ราย เสียชีวิตในบ้านและระหว่างนำส่ง 4 ราย และแหล่งการติดเชื้อในพื้นที่ 235 ราย คนรู้จัก 97 ราย ครอบครัวลดลงเหลือ 24 ราย อาศัยในพื้นที่เสี่ยง 114 ราย

“จำนวนผู้เสียชีวิตวันนี้ กทม.เหลือ 1 ใน 3 ประมาณ 88 ราย ปริมณฑล 53 ราย ที่เหลือพบภาคใต้ 24 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 33 ราย ที่เหลือภาคเหนือและภาคกลาง”

  • “ซิโนแวค-แอสตร้า”ป้องกันป่วยโคม่าและตายได้

นพ.โสภณกล่าวว่า การศึกษาประสิทธิผลวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ขณะนี้มีการประเมินทุกเดือน จะเห็นว่าในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา วัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิผลในการป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตเฉลี่ยอยู่ประมาณ 72% โดยภาพรวมคนที่ได้รับวัคซีนยังได้ประโยชน์สูงอยู่

ส่วนการได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม ข้อมูลในต่างประเทศสามารถป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต ได้ประมาณ 70-80% ส่วนข้อมูลของไทยมาจากข้อมูลการศึกษากลุ่มที่ได้รับวัคซีนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ดูจากผลลัพธ์การป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตประมาณ 80-90% ทำให้การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ายังได้ประโยชน์สูงอยู่ แต่ต้องฉีดให้ครบ 2 เข็ม ขณะนี้ถึงกำหนดนัดฉีดเข็มที่ 2 สำหรับประชาชนที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

ทั้งนี้ มีข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราช การศึกษาระดับภูมิคุมกัน จะเห็นว่าภูมิคุ้มกันที่สำคัญของการฉีดซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้าอยู่ในระดับที่สูง เมื่อเทียบกับการฉีดใน 2 เข็ม ไม่ว่าจะเป็นซิโนแวค 2 เข็ม, แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม หรือซิโนแวคกับแอสตร้าเซนเนก้าก็ล้วนแต่สร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับที่สูงอยู่

  • สธ.แนะฉีดไขว้ ”ซิโนแวค-แอสตร้าฯ” ภูมิคุ้มกันขึ้นเร็ว

“ถ้าเทียบกับประสิทธิผลจากการป้องกันและป่วยหนักเสียชีวิต จะเห็นว่าคนที่ป่วยหนักเสียชีวิตหลังได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วในขณะนี้มีอยู่แค่ 26 ราย คิดออกมาเป็นอัตราการเสียชีวิตต่อคนฉีดวัคซีน 1 ล้านคนอยู่ที่ประมาณ 4.4 ต่อล้านคน ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิต ซึ่งเป็นคนที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ในการระบาดในขณะนี้ที่ยังไม่ได้ฉีด ยังไม่ครบ ภูมิยังไม่ขึ้น ในกลุ่มนั้นเองจะมีอัตราการเสียชีวิตมากถึง 140 ต่อล้านคน ต่างกันประมาณ 30 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ฉีดวัคซีน 2 ครบ จึงต้องเร่งการฉีดวัคซีนโดยเร็วไม่ว่าจะเป็นสูตรใดก็ตาม ทั้งนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขแนะนำใช้สูตรซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้าห่างกัน 3 สัปดาห์ ซึ่งภูมิคุ้มกันจะขึ้นได้เร็วและสูงด้วย ”

นพ.โสภณกล่าวว่าขณะนี้มีคนฉีดวัคซีนไขว้ในซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้าแล้วกว่า 1 ล้านคน จากการติดตามดูปรากฏว่ามี 1 ราย เสียชีวิต จากการตรวจสอบพบว่าได้รับวัคซีนซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้ามีช่วงเดือนกรกฎาคมและเกิดขึ้นรายเดียวจาก 1 ล้านรายที่ได้ฉีดในสูตรนี้ ดูแล้วคือประมาณ 1 ในล้าน ยังน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ฉีดวัคซีนหรือฉีดวัคซีนในกลุ่มอื่น อย่างที่ทราบว่าไม่ว่าจะฉีดวัคซีนสูตรใดก็ล้วนมีการเสียชีวิตได้

  • พบเสียชีวิต 26 รายฉีด 2 เข็ม

สำหรับ 26 รายที่เสียชีวิตจากการฉีดครบ 2 โดส ส่วนใหญ่เป็นสูตรซิโนแวคกับซิโนแวค 24 ราย แอสตร้าเซนเนก้ากับแอสตร้าเซนเนก้า 1 ราย และซิโนแวคกับแอสตร้าเซนเนก้า 1 ราย

ถ้าหากฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มจะเสียชีวิตประมาณ 4 ใน 1 ล้านคน ถือว่ายังต่ำกว่ากลุ่มที่ยังไม่ได้ฉีด ซึ่งกลุ่มที่ยังไม่ได้ฉีดอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้นประมาณ 70-140 ต่อล้านคน

“ยังมีความมั่นใจสูงว่าการฉีดซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้าจะป้องกันการป่วยหนักและรุนแรงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงมีการระบาดสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งการตรวจแอนติบอดีของกลุ่มที่ได้รับวัคซีนสูตรนี้มีภูมิคุ้มกันที่สูงและสู้กับสายพันธ์ุเดลต้าได้ “

สำหรับคนฉีดซิโนแวค 2 เข้มส่วนใหญ่จะฉีดช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน หลักๆ เป็นบุคลากรด่านหน้า ซึ่งได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เป็นการกระตุ้นแล้วมากกว่า 5 แสนราย ส่วนใหญ่ได้รับไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 3 และแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่ 2

อีกกลุ่มเป็นประชาชนทั่วไปหรือกลุ่มเสี่ยงมีโรคประจำตัวเรื้อรัง แต่อายุน้อยกว่า 60 ปี ในเดือนมีนาคม-เมษายนฉีดวีคซีนแอสตร้าเซนเนกาให้กลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นหลักเพราะวัคซีนยังน้อย ทั้งนี้ทุกวัคซีนฉีดไปแล้วระยะหนึ่งจะมีภูมิคุ้มกันที่ลดลง ซึ่งกลุ่มนี้ฉีดไปประมาณ 5 เดือน

  • คาดปลายปีนี้เริ่มฉีดเข็มกระตุ้น

ทั้งนี้ ดูแล้วจะมีคนฉีดสูตรซิโนแวค 2 เข็ม ประมาณ 3-4 ล้านคน ภายในสัปดาห์หน้าจะประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนจะหารือในประเด็นนี้ด้วย คาดว่าโอกาสผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มแล้ว จะได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นน่าจะไม่เกินปลายปีนี้

เพราะจะมีวัคซีนเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นแอสตร้าเซนเนก้าและไฟเซอร์ แต่คงเป็นไปตามลำดับใครที่เสี่ยงสูงภูมิคุ้มกันลดลง จะเร่งฉีดให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น เช่น โรคเรื้อรัง ภาระหน้าที่มีความเสี่ยง แต่ทุกคนที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มในปีหน้าจะได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image