เปิดเวที ซักฟอก จับตา 2 ขั้ว สู้ศึกนอก-ระงับศึกใน

เปิดเวที ซักฟอก จับตา 2 ขั้ว สู้ศึกนอก-ระงับศึกใน

การเคลื่อนไหวใหญ่ทางการเมืองในสมัยประชุมสภาในสัปดาห์นี้คือการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ

พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

ญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่พรรคฝ่ายค้านเสนอนั้นหนักหน่วงและรุนแรง เกี่ยวพันกับสถานการณ์ของประเทศโดยเฉพาะการบริหารจัดการโรคโควิด-19 ที่กำลังระบาดและมีผู้ป่วยตลอดจนผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

เช่นเดียวกับสถานการณ์การชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ นอกสภา ก็ยังยึดเอาประเด็นความเดือดร้อนจากโรคโควิด-19 ระบาดมาเป็นหัวข้อสำคัญในการดึงมวลชน

Advertisement

ล่าสุดสภาผู้แทนราษฎรได้กำหนดให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจวันที่ 31 สิงหาคม ถึงวันที่ 3 กันยายน

ลงมติวันที่ 4 กันยายน

จากประเด็นสำคัญในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เกี่ยวพันกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งนี้ทำให้การติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดมีความสำคัญู

Advertisement

เพราะการบริหารจัดการไม่ว่าจะเป็นวัคซีน ชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท การป้องกันการติดเชื้อ การนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษา การลดจำนวนผู้ป่วยโคม่า และลดจำนวนผู้เสียชีวิต นั้นมีความสำคัญมาก

นอกจากนี้ การบริหารจัดการให้ภาคเศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปได้ โดยต้องทำให้มีประชาชนได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 น้อยที่สุดก็มีความสำคัญไม่น้อย

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงการจัดการอย่างรีบเร่ง และเริ่มมียุทธศาสตร์การควบคุมโรคที่ดูเหมือนมีประสิทธิภาพมากขึ้น

จากปัญหาวัคซีนขาดแคลน รัฐบาลได้ระดมทุกวิถีทางเพื่อซื้อวัคซีนเข้ามา ทั้งซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า หรือแม้แต่ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา รัฐบาลเปิดรับบริจาคจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ

พร้อมกันนั้นรัฐบาลยังพยายามติดต่อกับบริษัทผู้ผลิตและขอคำมั่นสัญญาว่าจะส่งวัคซีนให้ไทยได้ตามกำหนด

ผลการดำเนินการทำให้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ศบค.สามารถประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่า เดือนกันยายนจะมีวัคซีนเข้ามา 15 ล้านโดส และหลังจากนั้นจะมีวัคซีนนำเข้า 17 ล้านโดส

และช่วงปลายปี วัคซีนที่นำเข้าจะไม่มียี่ห้อซิโนแวค

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังสามารถจัดระบบ Home Isolation Community Isolation เพื่อลดการใช้เตียงในโรงพยาบาล และทำให้ผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาได้เร็วขึ้น

มีการจัดซื้อแอนติเจน เทสต์ คิท มีการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ และอื่นๆ

ประกอบกับการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลต้ากำลังเข้าสู่ขาลง ทำให้ยอดผู้ป่วยเริ่มลด

จากเกิน 2 หมื่นคนต่อวัน เหลือ 1.8 หมื่นคนต่อวัน

ขณะเดียวกัน การประชุม ศบค.วันที่ 27 สิงหาคม ที่ประชุมยังอนุมัติให้คลายล็อกกิจการในพื้นที่ 29 จังหวัดสีแดงเข้ม เช่น อนุญาตให้ร้านอาหารเปิดให้นั่งกินในร้านได้ 50 เปอร์เซ็นต์ ร้านในห้างสามารถเปิดให้บริการได้ตามมาตรการสาธารณสุข การเดินทางข้ามจังหวัดทำได้ แต่ยังคงจำกัดปริมาณผู้โดยสารบนรถสาธารณะ การใช้สนามกีฬาที่โล่งแจ้งทำได้ การแข่งขันโดยไม่มีผู้ชม ก็ทำได้ เป็นต้น

กระทรวงสาธารณสุขเห็นด้วยกับการผ่อนคลาย โดยกำหนดมาตรการที่เรียกว่า COVID-Free Setting และ Universal Preention เข้ามาเสริม

ความเห็นที่สอดคล้องทำให้ภาคเอกชนเริ่มมีความหวังหลังจากที่ต้องหยุดกิจการไปพักใหญ่

การดำเนินการของรัฐบาลทั้งด้านสาธารณสุข และด้านเศรษฐกิจ มีกำหนดเริ่มดำเนินการทันทีในเดือนกันยายน

เป็นการดำเนินการในขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้านกำลังจะอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ดังนั้น สถานการณ์ที่ดีขึ้นในความรู้สึกผู้คนหลังจากที่มีความหวังจากวัคซีน และความหวังจากการคลายล็อก ย่อมเป็นตัวช่วยบรรเทาอารมณ์ของสังคมที่มีต่อผู้ถูกอภิปราย

อย่างน้อยที่สุด นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่ถูกซักฟอกก็มีเรื่องราวชี้แจง

โดยเฉพาะข้อมูลที่เป็นความหวังว่าไทยจะผ่านวิกฤตโควิดครั้งนี้ไป

อย่างไรก็ตาม การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ยังมีประเด็นภายในพรรคการเมืองเองที่น่าสนใจ

ทั้งประเด็นข่าวเกี่ยวกับความสามัคคีของพรรคพลังประชารัฐ ที่มีรัฐมนตรี 2 คน คือ นายสุชาติ กับ นายชัยวุฒิ ขึ้นเขียงรอฝ่ายค้านสับ

โดยมีกระแสข่าวอยู่เนืองๆ ว่า หากรัฐมนตรีว่าการเพลี่ยงพล้ำ อาจกลายเป็นเงื่อนไขในการเสนอให้นายกฯปรับ ครม. เพราะภายในพรรคพลังประชารัฐ ยังมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค เป็นแค่รัฐมนตรีช่วยว่าการ

ถ้าความเพลี่ยงพล้ำไปสู่การปรับเก้าอี้ งานนี้ ร.อ.ธรรมนัส ก็มีสิทธิได้นั่งตำแหน่งว่าการ

ขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทยกับพรรคพลังประชารัฐก็มีข้อติดขัดกันมาตั้งแต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่แล้ว เมื่อกลุ่มดาวฤกษ์ของพลังประชารัฐไม่โหวตไว้วางใจ นายศักดิ์สยาม จากพรรคภูมิใจไทย

และผลจากการไม่โหวตคราวนั้น ทำให้บรรดาสมาชิกพรรคภูมิใจไทยมีท่าทีต่อรัฐบาลที่เปลี่ยนไป

การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ จึงอาจจะทำให้รอยแยกระหว่างพรรคร่วมเกิดขึ้นอีกก็เป็นได้

นอกจากนี้ ผลพวงจากการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เพิ่งผ่านวาระ 2 ของรัฐสภาไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้พรรคเล็กซึ่งอยู่ร่วมกับรัฐบาลรู้ชะตาตัวเองว่า หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ผ่านพ้น การเลือกตั้งครั้งหน้าโอกาสที่พรรคเล็กจะได้กลับมาคงยาก

ดังนั้น พรรคเล็กจึงเริ่มมีความเคลื่อนไหว โดย นายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.จากพรรคพลังท้องถิ่นไท มองว่าพรรคเล็กอาจยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา

ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนว่า พรรคเล็กเองก็พร้อมรวมตัวกันเพื่อโชว์พลังโหวตเท่าที่มีเสียงอยู่

ขณะที่ทางพรรคร่วมฝ่ายค้านก็ใช่ว่าจะไร้ปัญหา

ผลจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 2 ทำให้พรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยถูกมองด้วยความเคลือบแคลง เพราะการเปลี่ยนสูตรการคำนวณการเลือกตั้งให้กลับไปเป็นแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 นั้น

มีการมองกันว่า พรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย ที่จะได้ประโยชน์ เพราะเป็นพรรคใหญ่

เกิดเป็นความเห็นต่างภายในพรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลที่นำเสนอรูปแบบการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ไม่ใช่แบบเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2540

ที่ผ่านมาการดำเนินการในสภาของพรรคฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลมักมีความเห็นไม่สอดคล้องกันบ่อยขึ้น

ดังนั้น การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ที่กำลังจะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า จึงมีประเด็นที่ต้องเฝ้าติดตามหลากหลาย

แม้ผลการลงมติจะรู้กันดีว่าพรรคร่วมรัฐบาลต้องโหวตให้นายกฯและรัฐมนตรี

แต่สำหรับรายละเอียดของข้อมูล และเสียงโหวตของ ส.ส.ในสภา ล้วนมีนัยยะต่อการเปลี่ยนแปลง

เปลี่ยนแปลงทั้งในฝ่ายรัฐบาล และในฟากของฝ่ายค้าน

ดังนั้น การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ จึงเป็นอีกวาระที่จะได้เห็นท่าทีของทั้ง 2 ขั้ว

ท่าทีที่ต้องสู้ศึกภายนอก และต้องระงับศึกภายใน

เป็นท่าทีที่แสดงออกต่อหน้ากรรมการกลางนั่นคือประชาชนผู้ติดตามการอภิปราย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image