สาธารณสุขจังหวัดนครปฐมเดินหน้าขับเคลื่อนจังหวัดปลอดบุหรี่

สาธารณสุขจังหวัดนครปฐมเดินหน้าขับเคลื่อนจังหวัดปลอดบุหรี่

 

 

 

การดำเนินงานเพื่อลดจำนวนผู้สูบบุหรี่นั้นจำเป็นต้องได้รับการวางแผนยุทธศาสตร์อย่างดี มีการวางระบบอย่างรอบด้าน ทั้งการรองรับผู้สูบบุหรี่เข้าสู่ระบบ การคัดกรองในสถานพยาบาล เพื่อให้ผู้สูบบุหรี่ได้มีช่องทางการเข้าถึงกระบวนการเลิกได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดนครปฐมที่ได้วางระบบไปจนถึงสถานประกอบการ และดูแลสภาพจิตใจของผู้เลิกบุหรี่ให้มีกำลังใจในการเลิกมากยิ่งขึ้น

Advertisement

นางจริยาพันธ์ รุจิรัชกุล นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม (สสจ.นครปฐม) กล่าวถึงการดำเนินยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานจังหวัดปลอดบุหรี่ว่า การดำเนินงานในขณะนี้ นอกจากจะมีคณะกรรมการในระดับจังหวัดแล้ว ยังมีคณะอนุกรรมการมาดูแลให้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ทุกข้อ ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผ่านกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แต่ในช่วงที่ผ่านมา มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้หน่วยบริการสาธารณสุขมีข้อจำกัดในการให้บริการเลิกบุหรี่อยู่พอสมควร เพราะเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ส่วนใหญ่ต่างมีภารกิจในการควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

 

Advertisement

 

ในปี 2563 ได้คัดกรองผู้ที่เข้ารับบริการจากหน่วยบริการสาธารณสุขพบว่า จากประชากรอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป ทั้งจังหวัด กว่า 35,000 คน มีผู้สูบบุหรี่อยู่ประมาณ 2,000 คน คิดเป็นร้อยละ 5 ซึ่งได้คัดกรองเพื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดเลิกสูบบุหรี่ จำนวน 800 คน คิดเป็นร้อยละ 39 โดยกองงานคณะกรรมการควบคุมยาสูบ กรมควบคุมโรค มีโครงการสนับสนุนยาช่วยเลิกบุหรี่ วาเรนิคลิน (Varenicline) ให้กับโรงพยาบาล 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลนครชัยศรี โรงพยาบาลบางเลน และโรงพยาบาลพุทธมณฑล ทำให้โรงพยาบาลทั้ง 3 แห่ง มีอัตราการบำบัดผู้ที่เลิกสูบบุหรี่ได้เป็นจำนวนมาก โดยพบว่าผู้เข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่ง มากกว่าที่อื่นถึง 4 เท่า สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการมียาช่วยเลิกบุหรี่ วาเรนิคลิน (Varenicline) ในโรงพยาบาล ซึ่งสามารถดึงผู้ที่ต้องการจะเลิกสูบเข้าสู่ระบบบริการเลิกบุหรี่ และช่วยให้เลิกสูบได้มากขึ้น

ขณะเดียวกัน ยังได้ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งในระดับเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งได้เลือก อปท. ขนาดใหญ่และขนาดกลาง เพื่อนำร่อง จำนวน 4 แห่ง ให้เข้ามาเรียนรู้วิธีการดำเนินงานควบคุมยาสูบควบคู่ไปกับการตรวจคัดกรองในเชิงรับ และเชิงรุกในชุมชนต่าง ๆ ไปจนถึงสถานประกอบการโรงงานในพื้นที่ โดยในปี 2563-2564 มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการเลิกบุหรี่เชิงรุก ทั้งหมด 11 แห่ง มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ ประมาณ 600 คน เลิกบุหรี่ได้ต่อเนื่องมากกว่า 6 เดือน ประมาณ 50 คน เลิกบุหรี่ประมาณ 3 เดือน 10 คน และเลิกบุหรี่ได้ 1 เดือน อีก 3 คน หรือคิดเป็นตัวเลขในภาพรวมประมาณ ร้อยละ 10

กล่าวถึงการนำผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้าสู่กระบวนการบำบัดเพื่อเลิกบุหรี่ว่า จากการระบาดในระลอกแรกเมื่อปีที่แล้ว ได้เก็บข้อมูลและพบว่าจังหวัดนครปฐมยังมีผู้ป่วยติดเชื้อจำนวนไม่มากนัก มีทั้งหมด 23 คน พบผู้สูบบุหรี่เพียง 1 คน แต่ก็สามารถเลิกได้อย่างเด็ดขาดเป็นเวลามากกว่า 1 ปีแล้ว แต่เมื่อเข้าสู่ระลอก 2 ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงปัจจุบัน พบว่า จากผู้ป่วยประมาณ 150-160 คน จะมีคนสูบบุหรี่ประมาณ 5-6 คน แต่กระบวนการบำบัดเพื่อเลิกบุหรี่ในช่วงเวลานี้ค่อนข้างยากลำบาก แต่ก็มีระบบส่งต่อโดยให้โรงพยาบาลสนามส่งข้อมูลมายังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) จากนั้น เจ้าหน้าที่ สสจ. จะประสานกับโรงพยาบาลชุมชนเพื่อสนับสนุนยาช่วยเลิกบุหรี่ต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้บูรณาการการทำงานกับทีมสหวิชาชีพที่ให้การช่วยเหลือทางด้านจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต หรือ MCATT ด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่จะมีทักษะในการพูดคุยให้ประชาชนเลิกสูบบุหรี่หรือดื่มสุราอยู่แล้ว จึงมีส่วนในการช่วยให้ผู้ป่วยเลิกสูบบุหรี่ได้อีกทางหนึ่ง โดย สสจ.นครปฐม ได้สนับสนุนให้ผู้ป่วยโควิดที่ติดบุหรี่ สามารถสื่อสารกับทีม MCATT ได้ โดยสแกน QR Code เพื่อกรอกประวัติ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะทำการประเมิน ว่าผู้ป่วยติดบุหรี่มากน้อยเพียงใด หากพบว่าติดบุหรี่มากก็จะสนับสนุนเวชภัณฑ์เพื่อช่วยเลิกบุหรี่ทั้งสเปรย์หญ้าดอกขาว หมากฝรั่งเลิกบุหรี่ พร้อมกับการดูแลติดตามผู้ป่วยที่สูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องไปจนถึงที่บ้านเมื่อหายป่วยจากโควิด พร้อมกับการให้กำลังใจเพื่อไม่ให้กลับไปสูบบุหรี่ซ้ำ รวมถึงการส่งต่อผู้เข้ารับการบำบัดไปยังระบบสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 อีกด้วย แสดงถึงการทำงานในรูปแบบเครือข่ายได้อย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ การจะลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ให้ได้มากที่สุด จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในจังหวัด ซึ่งหนึ่งในภาคส่วนที่มีจำนวนผู้สูบบุหรี่สูงที่สุด คือ สถานประกอบการ จึงได้ร่วมกับเครือข่ายสถานประกอบการ ในการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ โดยมีบุคลากรสาธารณสุขทำหน้าที่ในการเป็นพี่เลี้ยงส่งเสริมสุขภาพ คอยดูแล ให้คำปรึกษาแก่คณะทำงานในสถานประกอบการเพื่อส่งเสริมให้พนักงาน ลด ละ เลิกบุหรี่

 

 

นายมนัส ธีระรังสิกุล เจ้าพนักงานสาธารณสุข โรงพยาบาลบางเลน จังหวัดนครปฐม ในฐานะพี่เลี้ยงส่งเสริมสุขภาพ กล่าวว่า พี่เลี้ยงส่งเสริมสุขภาพ มีบทบาทสำคัญในการช่วยส่งเสริมให้สถานประกอบการ หันมาดูแลสุขภาพของพนักงานมากยิ่งขึ้น เพราะหากสุขภาพของพนักงานดี การทำงานในสถานประกอบการนั้น ๆ ก็จะดีขึ้นไปด้วย และจังหวัดนครปฐม ถือเป็นจังหวัดต้นแบบในการนำร่อง เรื่องการพัฒนาสถานประกอบการปลอดบุหรี่ และยังเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่น ได้เข้ามาศึกษาดูงาน

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image