สธ.เผยชะลอซื้อซิโนแวค จากนี้ระดมฉีดแอสตร้าฯ-ไฟเซอร์ ชี้ติดโควิดหายแล้ว เว้น 3 เดือนค่อยรับวัคซีน

สธ.เผยชะลอซื้อซิโนแวค จากนี้ระดมฉีดแอสตร้าฯ-ไฟเซอร์ ชี้ติดโควิดหายแล้ว เว้น 3 เดือนค่อยรับวัคซีน

เมื่อวันที่ 3 กันยายน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า ณ วันที่ 2 กันยายน ประเทศไทยฉีดวัคซีน 34,292,537 โดส เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 24,524,140 ราย คิดเป็น ร้อยละ 34 ของประชากร รับครบ 2 เข็ม อีก 9,152,799 ราย คิดเป็น ร้อยละ 12 ของประชากร โดยเมื่อวันที่ 2 กันยายน วันเดียวฉีด 865,074 โดส ระยะนี้ส่วนใหญ่เป็นเข็มที่ 2 เนื่องจากครบกำหนดรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 หลังจากฉีดมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน จะเห็นว่าการรับวัคซีนช่วงนี้มีอัตราฉีดเร็ว ประชาชนร่วมมืออย่างดี ทำให้สร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างรวดเร็ว

นพ.โสภณ กล่าวว่า การจัดหาวัคซีนในช่วง 4 เดือน ของปี 2564 คือ เดือนกันยายน-ธันวาคม ไทยมีเป้าหมายฉีดวัคซีน ร้อยละ 70 ของประชากร แต่การระบาดของสายพันธุ์เดลต้ามีการติดเชื้อได้มาก เฉลี่ย 1 ราย อาจแพร่ 7-8 ราย

“ดังนั้น ภูมิคุ้มกันหมู่ร้อยละ 70 อาจไม่พอ ถ้าเรามีคนยังไม่ได้รับวัคซีน หรือยังไม่เคยติดเชื้อเหลือเท่าไร พยายามฉีดให้หมด น่าจะขยับได้มากกว่าร้อยละ 70 สธ.ต้องเตรียมวัคซีนให้พอ จากนี้จะมีวัคซีนหลัก 3 ตัว คือ ซิโนแวค ระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม เดือนละ 6 ล้านโดส แอสตร้าฯ ส่งมอบมากขึ้น เดือนกันยายน 7.3 ล้านโดส และบริษัทแจ้งว่า อาจถึง 8 ล้านโดส ได้ ในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคมนี้ คือ 10 ล้านโดส, 13 ล้านโดส, 13 ล้านโดส ภายในสิ้นปีนี้ครบถ้วน 61 ล้านโดส ส่วนไฟเซอร์ เดือนตุลาคม-ธันวาคม เดือนละ 8-10 ล้านโดส ทำให้วัคซีนแอสตร้าฯ และไฟเซอร์ มีจำนวนมากสุด ในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้านี้” นพ.โสภณ กล่าว

ADVERTISMENT

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงวัคซีนสลับชนิดสูตรซิโนแวค-แอสตร้าฯ ว่า จากข้อมูลศูนย์วิจัยคลินิกศิริราช กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์เชี่ยวชาญไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ศึกษาความปลอดภัยและการตอบสนองภูมิคุ้มกันมีความสอดคล้องกันคือ ภูมิคุ้มกันสูงสู้สายพันธุ์เดลต้าได้ในระยะเวลารวดเร็ว

ADVERTISMENT

ผู้สื่อข่าวถามถึงการฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ให้ประชาชน จะมีเกณฑ์พิจารณาอย่างไร นพ.โสภณ กล่าวว่า อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ โดยคาดว่าจะเริ่มจากคนที่อาจติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรง ซึ่งถ้าเรียงตามระบบเดิม คนที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคเมื่อเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ก็เป็นกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้มีโรคประจำตัว อาจจะมีบ้างที่เป็นผู้สูงอายุ แต่ส่วนใหญ่ในช่วงนั้นผู้สูงอายุฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ

นพ.โสภณ กล่าวว่า ส่วนกรณีคนที่เคยติดเชื้อหรือหายป่วยจากโควิด-19 แล้วหลายแสนคน หลังจากที่หายป่วยแล้ว 1-3 เดือน ให้ฉีดวัคซีนกระตุ้น 1 เข็มให้เกิดภูมิสูงขึ้นป้องกันติดเชื้อซ้ำ แนะนำฉีดด้วยแอสตร้าฯ หรือไฟเซอร์ หากเกิน 3 เดือน ให้ฉีดโดยเร็ว ซึ่งรวมถึงกลุ่มที่ติดเชื้อแต่ยังไม่เคยรับวัคซีนหรือรับไม่ครบ 2 เข็ม หรือรับ 2 เข็ม แต่ไม่ถึง 2 สัปดาห์ ถือว่าภูมิยังไม่ขึ้น ก็ให้ฉีดกระตุ้นด้วย ส่วนคนที่ฉีด 2 เข็มเกิน 2 สัปดาห์แล้ว ติดเชื้ออาการน้อย ไม่ต้องฉีดกระตุ้น

เมื่อถามต่อว่า จากแผนการจัดหาวัคซีน พบว่าเรามีการสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่มอีกแค่ 2 เดือน เดือนละ 6 ล้านโดส แปลว่าการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ จากนี้หากหมดล็อตนั้น แล้วการฉีดไขว้ในประเทศไทยจากนี้จะมีเพียงแอสตร้าฯ เป็นเข็มแรก และตามด้วยไฟเซอร์ใช่หรือไม่ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ใช่ แต่การฉีดหลังจากนั้นจะมีอยู่ประมาณ 3 แบบ คือ 1.แอสตร้าฯ 2 เข็ม 2.ไฟเซอร์ 2 เข็ม และ 3.ฉีดไขว้ด้วย แอสตร้าฯ เข็ม 1 ตามด้วยไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2

“ทั้งนี้ การชะลอการสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวค ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่ยังไม่มีแผนที่จะซื้อเพิ่ม เว้นแต่ว่าจะมีข้อมูลการพัฒนาว่าสามารถฉีดในเด็กได้ เพราะการฉีดในเด็กต้องเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัยคือวัคซีนเชื้อตาย วัคซีน mRNA ก็ฉีดได้เพียงแต่ผลในระยะยาวเรายังไม่ทราบผล นอกจากนี้ การชะลอซื้อซิโนแวค เพราะต้องรอดูวัคซีนรุ่นใหม่ของเขาที่เจาะจงกับสายพันธุ์ปีนี้ ซึ่งวัคซีนที่ใช้ในปัจจุบันเป็นวัคซีนที่พัฒนามาจากเชื้ออู่ฮั่นทั้งสิ้น” นพ.โสภณ กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีมีการแชร์ข้อมูลทางโซเชียลมีเดียว่าการฉีดวัคซีนเข็ม 3 เสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง นพ.โสภณ กล่าวว่า เป็นของอิมมูล ซิสเต็ม ถ้ามีการกระตุ้นมากไปก็เสี่ยงที่จะทำให้เกิดความผิดปกติในการแบ่งเซลล์ผิดปกติได้ แต่ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูล เพียงแต่ว่าก็ค่อนข้างระวังว่าหากมีการฉีดกระตุ้นมากเกินไปจะทำให้เกิดความผิดปกติในการแบ่งตัวของเซลล์ ทั้งนี้เพราะระบบภูมิคุ้มกันจะมีต่อมน้ำเหลืองอาจจะทำให้เกิดปัญหาได้ในอนาคต เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป ที่สำคัญหากบางคนฉีดมากไป คนอื่นก็ไม่ได้ฉีด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ข่าวอื่นๆ :

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image