มีนักบินคามิกาเซที่หลบหนีได้สำเร็จ ทั้งๆ ที่ไม่มีร่มชูชีพ และไม่มีเกียร์ลงจอด

เครื่องบินคามิกาเซลำที่ลงจอดที่สนามบินในเขตยึดครองของอเมริกัน

คามิกาเซ เป็นภาษาญี่ปุ่นมาจากคำสองคำต่อกัน คือ “คามิ” คือ เทพเจ้า และ “กาเซ” คือ ลมพายุ รวมกันมีความหมายว่า ลมของเทพเจ้า หมายถึง ชื่อพายุไต้ฝุ่นที่เกิดขึ้นถึง 2 ครั้ง ใน พ.ศ.1817 และ พ.ศ.1824 พายุไต้ฝุ่นทั้ง 2 ลูกนี้ทำลายกองทัพเรือของจักรพรรดิกุบไลข่านแห่งราชวงศ์หยวนของจีน จำนวน 4,500 ลำ ที่จะเข้าโจมตียึดญี่ปุ่นล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ชาวญี่ปุ่นจึงตั้งชื่อพายุไต้ฝุ่น 2 ลูกนี้ว่า “คามิกาเซ” แปลว่าพายุเทพเจ้า และเป็นที่มาของชื่อกองบินพลีชีพ “คามิกาเซ” ของกองทัพญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2

เมื่อกลางปี พ.ศ.2487 ญี่ปุ่นมีแนวโน้มสูงว่าเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะกำลังขาดแคลนนักบินซึ่งมีประสบการณ์ และเวลาเพียงแค่ 25 วัน ที่จะฝึกนักบินฝึกหัดก่อนออกจากสนามรบ นั้นทำให้ญี่ปุ่นคิดยุทธวิธีรบใหม่โดยใช้กองบินพลีชีพโดยใช้เครื่องบินติดระเบิดพุ่งเข้าชนเรือรบของศัตรูโดยนักบินจะต้องสละชีวิตเพื่อหวังผลที่แน่นอนที่สุดที่รู้จักกันทั่วไปว่า “คามิกาเซ”

ถอดส่วนหัวออกให้เห็นระเบิด

หลักฐานเกี่ยวกับการโจมตีครั้งแรกของคามิกาเซ คือ การโจมตีเรือลาดตระเวนหนักของออสเตรเลีย ชื่อ เอชเอ็มเอเอส ออสเตรเลีย ในวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2487 ถูกเครื่องบินญี่ปุ่นบรรทุกระเบิดหนัก 200 กิโลกรัม พุ่งเข้าชนกลางทะเล นอกเกาะเลเต ประเทศฟิลิปปินส์ เครื่องบินลำนี้ชนเข้ากับส่วนโครงสร้างเหนือดาดฟ้าใหญ่ของเรือเหนือสะพานเดินเรือ เกิดการระเบิด น้ำมันลุกไหม้และซากปรักหักพังกระจัดกระจายเป็นวงกว้างมีคนเสียชีวิตบนเรืออย่างน้อย 30 นาย แต่ระเบิดหนัก 200 กิโลกรัม ที่ติดมากับเครื่องบินไม่ระเบิด เรือจึงไม่จม

ในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2487 ฝูงบินคามิกาเซ ซึ่งประกอบด้วย เครื่องบินจำนวน 5 ลำ ได้เข้าโจมตีเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐอเมริกา ชื่อยูเอสเอส เซ็นต์โล แม้ว่าจะมีเครื่องบินญี่ปุ่นเพียงลำเดียวที่พุ่งเข้าชนเรือยูเอสเอส เซ็นต์โลได้สำเร็จ แต่ก็ส่งผลคุ้มค่าเพราะระเบิดที่บรรทุกมากับเครื่องบินได้ระเบิดไฟลุกไหม้ ลุกลามต่อไปยังคลังระเบิดของเรือยูเอสเอส เซ็นต์โล เกิดการระเบิดอย่างรุนแรงจนเรือจม นอกจากนี้ เครื่องบินคามิกาเซลำอื่นๆ ได้สร้างความเสียหายให้เรือรบฝ่ายสัมพันธมิตรอีกมากมายนับไม่ถ้วน เนื่องจากเรือรบของสหรัฐอเมริกาส่วนมากใช้ไม้ทำดาดฟ้าเรือจึงเป็นเชื้อเพลิงของไฟจากระเบิดได้เป็นอย่างดี

Advertisement

ปรากฏว่าเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐอเมริกาในช่วงนั้นตกเป็นเป้าการโจมตีของคามิกาเซได้ง่ายกว่าเรือบรรทุกเครื่องบินของอังกฤษที่มีดาดฟ้าทำด้วยเหล็ก และเข้าประจำการในกองเรือแปซิฟิกของอังกฤษ ในช่วงปี พ.ศ.2488 เรือเอชเอ็มเอเอส ออสเตรเลีย กลับมาร่วมรบได้อีกครั้งในเดือนมกราคมได้ถูกฝูงบินคามิกาเซโจมตีถึงหกครั้ง มีทหารประจำเรือเสียชีวิตถึง 86 นาย แต่เรือก็รอดจากการถูกจมได้ สำหรับเรือรบของสหรัฐอเมริกาลำอื่นๆ ที่รอดจากการระเบิดและจมลงทะเล แม้จะถูกฝูงบินคามิกาเซโจมตีซ้ำหลายครั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่น เรือบรรทุกเครื่องบินขนาดใหญ่ สหรัฐอเมริกา จำนวน 2 ลำ คือ เรือยูเอสเอส อินเทรปิด และเรือยูเอสเอส แฟรงคลิน

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง จากการรายงานของประเทศญี่ปุ่นนักบินทหารเรือของราชนาวีญี่ปุ่นเสียชีวิตไปในภารกิจพลีชีพนี้ถึง 2,525 นาย และนักบินพลีชีพคามิกาเซในส่วนของกองทัพบกญี่ปุ่นเสียชีวิต 1,387 นาย ตามสถิติที่ทางฝ่ายญี่ปุ่นได้บันทึกไว้ เหล่านักบินนี้จมเรือรบของฝ่ายสัมพันธมิตรไป 81 ลำ และทำความเสียหายให้เรือรบอีก 195 ลำ คามิกาเซได้สร้างความสูญเสียให้แก่กองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ในการรบทางทะเลฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกถึง 80% จากสาเหตุความสูญเสียทั้งหมด

แต่จากข้อมูลของฝ่ายสัมพันธมิตร มีเรือรบฝ่ายสัมพันธมิตรจมลงจากการโจมตีของคามิกาเซเพียง 34 ลำ และอีก 288 ลำ ได้รับความเสียหายแต่ไม่ได้ถูกจมลงใต้ทะเล

Advertisement

เคอิจิ คุวาฮารา อายุ 91 ปี อดีตนักบินคามิกาเซที่รอดชีวิต เผยถึงความรู้สึกที่มีต่อภารกิจสละชีพเพื่อชาติด้วยการขับเครื่องบินพุ่งชนเป้าหมายของศัตรู ว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่เหล่านักบินกามิกาเซต้องตายในนามของประเทศชาติ เคอิจิ คุวาฮารา เล่าถึงความรู้สึกขณะขับเครื่องบินออกไปเพื่อปฏิบัติภารกิจว่า

“ผมคิดขณะขับเครื่องบินว่า วันนี้คงจะเป็นวันสุดท้ายของชีวิต แล้วผมก็ได้ยินเสียงแปลกๆ จากเครื่องยนต์ และเริ่มมีควันดำออกมา นี่คือสิ่งที่ผมอยากให้เกิดขึ้น” เขาจึงนำเครื่องบินกลับมาที่ฐานทัพ เขาดีใจที่รอดชีวิตกลับมาได้แม้จะกลัวว่าคนอื่นจะคิดว่าเขาเป็นคนขี้ขลาดแต่ก็ไม่มีใครเปิดปากตำหนิเขาเลย

แต่มีนักบินคามิกาเซอย่างน้อย 1 ราย ที่ได้หลบหนีจากการที่ต้องขับเครื่องบินพุ่งเข้าชนเรือรบของฝ่ายสัมพันธมิตรโดยบินมาที่เขตยึดครองของอเมริกันที่โอกินาวาและลงจอดได้โดยปลอดภัยทั้งๆ ที่ในเครื่องบินบรรทุกระเบิดหนัก 200 กิโลกรัม โดยไม่มีร่มชูชีพและปราศจากเกียร์ลงจอด

ครับ! ผมเชื่อว่าคนปกติสามัญทั่วไปคงไม่ต้องการไปฆ่าตัวตายเพื่อชาติเพื่อจักรพรรดิ นอกจากจะถูกโฆษณาชวนเชื่อและถูกบีบคั้นจากแรงกดดันของคนรอบข้างอย่างสุดขีด

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image